สธ.-สช.ฟังความเห็นร่างประกาศกระทรวง10ฉบับ พรบ.นมผงคุมการตลาด

สธ.-สช.ฟังความเห็นร่างประกาศกระทรวง10ฉบับ พรบ.นมผงคุมการตลาด

2หน่วยงาน "สธ.-สช." เร่งรับฟังความเห็นร่างประกาศกระทรวง10ฉบับ ขับเคลื่อนพรบ.นมผง-คุมการตลาดนมผง

การจัดเวทีรับฟังความเห็นต่อ (ร่าง) ประกาศกระทรวงสาธารณสุขออกตาม พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 หรือ พ.ร.บ.นมผง โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ณ โรงแรมเอเชีย แอร์พอร์ต โดยมีบุคลากรด้านสาธารณสุข ภาคประชาชน นักวิชาการ ผู้ผลิต ผู้ประกอบการนมผงและอาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเล็ก เข้าร่วมกว่า 300 คน

นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 8 ก.ย. 2560 และกำหนดให้ สธ. ต้องออกประกาศกระทรวงรองรับภายใน 180 วัน หรือภายในเดือน มี.ค. 2560 เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายมีอำนาจดำเนินการกรณีที่พบเห็นผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายอาหารและอาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเล็กกระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย สามารถดำเนินคดีและลงโทษทั้งปรับเงินและจำคุก

“กรมอนามัยเปิดช่องทางแสดงความเห็นต่อร่างประกาศฯ ผ่านเว็บไซต์ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคมและการรับฟังความเห็นในวันนี้อีกครั้ง เพื่อนำไปปรับร่างประกาศกระทรวงให้เกิดการมีส่วนร่วม ได้รับการยอมรับและปฏิบัติได้จริง โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับข้อปฏิบัติของการรับบริจาคอาหารสำหรับทารกหรืออาหารสำหรับเด็กเล็ก และข้อกำหนดในการจัดทำฉลากแสดงสรรพคุณของผลิตภัณฑ์นมและอาหารเสริม”

นพ.อรรถพล กล่าวอีกว่า หลังจากนี้จะสรุปความคิดเห็นเสนอต่อคณะอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายและฝ่ายวิชาการ ภายใต้ คณะกรรมการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก (คสตท.) เพื่อพิจารณาปรับร่างฯ และเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามประกาศกระทรวงเพื่อบังคับใช้ต่อไป

ทั้งนี้ พ.ร.บ.นมผง เป็นการดำเนินการตาม มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 3 พ.ศ. 2553 ที่ทุกภาคส่วนร่วมกันขับเคลื่อน “การควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก” นำไปสู่การให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับนมและอาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเล็ก หลังจากที่ผ่านมาพบว่าผู้ประกอบการมีการโฆษณาและประชาสัมพันธ์คุณสมบัติเกินกว่าความเป็นจริงในกลุ่มหญิงมีครรภ์หรือมีบุตร

“กฎหมายฉบับนี้ปกป้องคุ้มครองเด็กซึ่งไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ ขณะที่มารดาก็ไม่รู้ว่าข้อมูลเกี่ยวกับการให้นมและอาหารเสริมแบบใดถูกหรือผิด เพราะมีการโฆษณาโดยผู้ประกอบการจำนวนมาก”

ด้าน นพ.เอกชัย เพียรศรีวัชรา ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวว่า จะมีการออกประกาศกระทรวงรวม 10 ฉบับ โดยที่ผ่านมาดำเนินการไปแล้ว 3 ฉบับ และอยู่ในขั้นตอนรับฟังความเห็นอีก 6 ฉบับ อาทิ หลักเกณฑ์เงื่อนไขเกี่ยวกับการบริจาคอาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเล็ก และการสนับสนุนการจัดประชุม อบรมหรือสัมมนา เป็นต้น ส่วนอีก 1 ฉบับอยู่ระหว่างการยกร่าง หลังจากนี้จะเปิดเว็บไซต์รับฟังความเห็นเพิ่มเติมอีกระหว่างวันที่ 1-7 ก.พ. 2561 ในกลุ่มมารดาและครอบครัว ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่คุ้นเคยกับโลกโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว

สำหรับบรรยากาศในเวทีวันนี้ มีข้อเสนอแนะให้กำหนดรายละเอียดที่ชัดเจนในประกาศกระทรวงเกี่ยวกับเงื่อนไขการรับบริจาคของหน่วยงานหรือบุคลากรด้านสาธารณสุข เพื่อให้สามารถช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาสในสถานพยาบาลและองค์กรการกุศลได้อย่างครอบคลุม รวมถึงช่วยเหลือกลุ่มเด็กที่เป็นโรคพิเศษ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับอาหารเสริมเช่นกัน พร้อมเสนอปรับเงื่อนไขการให้ข้อมูลอาหารสำหรับทารกให้หญิงตั้งครรภ์หรือหญิงที่มีบุตรเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น

นพ.สังคม จงพิพัฒน์วณิชย์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เห็นว่า รายละเอียดและเงื่อนไขที่กำหนดในประกาศกระทรวง จะต้องเขียนให้ผู้ปฏิบัติสามารถทำงานได้ ไม่สร้างอุปสรรค และรับฟังเสียงเล็กเสียงน้อยให้มากที่สุด