TU - ซื้อ

TU - ซื้อ

ชื่นชอบมากที่สุดในกลุ่มอาหารในปี 2561

ราคาปลาทูน่าที่ลดลงอีกในเดือนม.ค. และราคาปลาแซลมอนที่ยังอยู่ในระดับต่ำตั้งแต่เดือนธ.ค.จนถึงเดือนม.ค. ถือว่าเป็นปัจจัยบวกต่อมาร์จิ้นธุรกิจทูน่าแบรนด์ตั้งแต่ไตรมาส 2/61 เป็นต้นไป และมาร์จิ้นธุรกิจแซลมอนแช่แข็งตั้งแต่ไตรมาส 4/60 เป็นต้นไป เรามองข้ามกำไรหลักไตรมาส 4/60 จนถึงไตรมาส 1/61 ซึ่งมีแนวโน้มอ่อนตัวลง (เนื่องจากถูกกดดันจากต้นทุนสต็อกปลาทูน่าที่อยู่ในระดับสูง) ไปยังไตรมาส 2/61 แทน (ซึ่งมาร์จิ้นของธุรกิจทูน่าแบรนด์มีแนวโน้มฟื้นตัวจากต้นทุนราคาปลาทูน่าที่ปรับลดลง) เราชอบ TU มากที่สุดในกลุ่มอาหารสำหรับการลงทุนในปี 2561

ราคาปลาทูน่าลดลงอีกในเดือนม.ค.—ส่งผลบวกต่อมาร์จิ้นทูน่าแบรนด์

ราคาปลาทูน่าสคิปแจ็คเฉลี่ยฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกในเดือนม.ค.2561 คาดว่าจะลดลงอีก 14% MoMเหลือ 1,550 เหรียญ/ตัน (เทียบกับเฉลี่ย 1,800 เหรียญ/ตันในเดือนธ.ค. และจุดสูงสุดที่ 2,300 เหรียญ/ตันในเดือนต.ค.) เนื่องจากอุปทานปลาที่เพิ่มมากขึ้น (บนสมมติฐานของการคาดการณ์โอกาสการเกิดปรากฏการณ์ลานีญ่าระหว่างเดือนม.ค.-ก.พ. 2561 ที่เพิ่มสูงขึ้น จึงส่งผลให้มีการเทขายสต๊อกปลาออกมาจำนวนมาก) เราคาดกรอบของราคาปลาทูน่าในปี 2561 ณ ปัจจุบันที่ 1,500-1,700 เหรียญ/ตัน (เทียบกับก่อนหน้าซึ่งเราคาดที่ 1,700-1,800 เหรียญ/ตัน) และเนื่องจากสต๊อกสินค้าทูน่าแบรนด์ของ TU เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4-6 เดือน เราจึงคาดว่ามาร์จิ้นทูน่าแบรนด์ของ TU จะยังคงมีแนวโน้มหดตัวลงในช่วงไตรมาส 4/60 จนถึงไตรมาส 1/61 ก่อนที่จะพลิกกลับมาฟื้นตัวในไตรมาส 2/61 แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม มาร์จิ้นของธุรกิจทูน่ารับจ้างผลิต(โออีเอ็ม) ของ TU คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ดีต่อเนื่องในช่วงไตรมาส 4/60 และไตรมาส 1/61 เนื่องจากช่วงห่างของระยะเวลาระหว่างการปรับต้นทุนและราคาขายยังคงอยู่ในกรอบระยะเวลาที่สั้นกว่าเพียงแค่ 1-3 เดือน

ราคาปลาแซลมอนยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง—ส่งผลบวกต่อมาร์จิ้นแซลมอนแช่แข็ง

เราเชื่อว่าการปรับเพิ่มขึ้นของราคาปลาแซลมอนในเดือนธ.ค. (จากจุดต่ำสุดในรอบสองปีที่ 44.93 โครน/กก. เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 55 โครน/กก. เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. จนถึงกลางเดือนม.ค. 2561) เป็นเพียงแค่ระยะสั้นเนื่องจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในช่วงวันหยุด แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม อุปทานปลาแซลมอนที่ยังคงล้นตลาดจะยังคงเป็นปัจจัยกดดันการ
ปรับเพิ่มขึ้นของราคาปลาแซลมอน นอกเหนือจากอุปทานแซลมอนที่ล้นตลาดแล้ว อุปสงค์ที่ลดลงก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันราคาปลาแซลมอนเช่นกัน และเนื่องจากผลิตภัณฑ์แซลมอนแช่แข็งมีสต๊อกที่น้อยมากรวมถึงสัญญาขายที่มีกับลูกค้าคิดเป็นประมาณ 3-6 เดือน และสัดส่วนของการทำสัญญาป้องกันความเสี่ยงของวัตถุดิบปลาแซลมอนที่อยู่เพียง
แค่ 35% เราจึงประเมินว่าราคาปลาแซลมอนที่ยังคงอยู่ในระดับช่วงตั้งแต่เดือนส.ค. 2560 จนถึงเดือนม.ค. 2561 จะเป็นปัจจัยหนุนมาร์จิ้นของธุรกิจแซลมอนแช่แข็งให้เพิ่มขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4/60 เป็นต้นไป

คาดกำไรหลักไตรมาส 4/60 ลดลง

เราคาดกำไรสุทธิไตรมาส 4/60 ที่ 1.35 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 50% YoY แต่ลดลง 22% QoQ หากไม่รวมกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนและรายการพิเศษอื่นๆ ในไตรมาส 4/60 เราคาดกำไรหลักในไตรมาสนี้ที่ 930 ล้านบาท ลดลง 16% YoY และ 29% QoQ กำไรหลักที่มีแนวโน้มลดลง YoY เนื่องจากอัตรากำไรขั้นต้นที่ลดลงจากต้นทุนปลาทูน่าที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงตั้งแต่เดือนเม.ย.-ต.ค. 2560 และภาระดอกเบี้ยจ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งมีแนวโน้มกลบผลกระทบทางบวกจากยอดขายที่ยังคงเติบโตแข็งแกร่ง และรายได้อื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด (จากเงินปันผลจากการถือหุ้นบุริมสิทธิของเรดล็อบสเตอร์) และการพลิกกลับมาเป็นส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วม (ซึ่งได้อานิสงค์บวกจากส่วนแบ่งกำไรจากอวานติฟีดที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด) ยอดขายไตรมาส 4/60 คาดว่าจะยังคงเติบโตแข็งแกร่งถึงแม้ว่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลล่าร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นก็ตาม เราคาดอัตรากำไรขั้นต้นในไตรมาส 4/60 ที่ 12% (ลดลงจาก13.7% ในไตรมาส 4/59 และ 13.2% ในไตรมาส 3/60) เนื่องจากต้นทุนปลาทูน่าที่เพิ่มขึ้น