ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 22-26 มค.61

ไทยออยล์คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมัน 22-26 มค.61

ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง ท่ามกลางภาวะตลาดที่ตึงตัวขึ้นจากแรงหนุนของสต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ที่ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง

ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 61-66 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 66-71 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

แนวโน้มสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบ (22 – 26 ม.ค. 61)

ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มทรงตัวในระดับสูง จากแรงหนุนของปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ที่คาดว่าจะปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังโรงกลั่นน้ำมันสหรัฐ มีแนวโน้มที่จะคงกำลังการกลั่นในระดับสูงเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว รวมถึงแรงหนุนจากความพยายามของกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคที่ร่วมกันปรับลดกำลังการผลิตรวมกันราว 1.8  ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อผลักดันตลาดให้เข้าสู่จุดสมดุล นอกจากนี้ ตลาดน้ำมันดิบอาจตึงตัวมากขึ้น หลังกลุ่มติดอาวุธในไนจีเรียส่งสัญญาณที่จะโจมตีแหล่งขุดเจาะและผลิตน้ำมันดิบไนจีเรียอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม ราคาอาจไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากตลาดยังคงได้รับแรงกดดันจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ ที่คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวทะยานเหนือระดับ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับจุดคุ้มทุนเฉลี่ยในการลงทุนผลิตน้ำมันของผู้ผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale oil) ในสหรัฐ

ปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้:

  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ มีแนวโน้มปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐ คงอัตราการกลั่นในระดับสูง เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำความร้อนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ม.ค. 61 ปรับลดลง 9 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 412.7 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลง 3.5 ล้านบาร์เรล ขณะที่ ปริมาณน้ำมันดิบคงคลัง ณ จุดส่งมอบคุชชิ่ง ปรับลดลงมาอยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีที่ 42.4 ล้านบาร์เรล
  • จับตาการประชุมระหว่างกลุ่มผู้ผลิตทั้งในและนอกโอเปคในวันที่ 21 ม.ค. นี้ หลังกลุ่มผู้ผลิตอาจหารือและพิจารณาเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการการปรับลดกำลังการผลิตที่กำหนดจะสิ้นสุดลงในปลายปีนี้ โดยหนึ่งในบริษัทพลังงานของรัสเซียเสนอให้มีการปรับเพิ่มกำลังการผลิตขึ้นหากราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้กลุ่มผู้ผลิตเห็นพ้องกันในการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 8 ล้านบาร์เรลต่อวันจนถึงสิ้นปีนี้ แต่จะให้มีการทบทวนข้อตกลงดังกล่าวอย่างเป็นทางการในการประชุมโอเปคครั้งต่อไปในเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อประเมินผลกระทบของข้อตกลงดังกล่าวต่อราคาน้ำมัน
  • จับตาการส่งสัญญาณในการโจมตีการขุดเจาะน้ามันดิบครั้งใหม่ในประเทศไนจีเรีย หลังกลุ่มติดอาวุธในไนจีเรียพร้อมที่จะโจมตีการขุดเจาะน้ำมันดิบนอกชายฝั่งทะเล หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้โจมตีท่อขนส่งน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่องในไนจีเรียในช่วงปี 2558 ที่ผ่านมา
  • ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้นเหนือระดับ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับจุดคุ้มทุนเฉลี่ยในการลงทุนผลิตน้ำมันของผู้ผลิตน้ำมันดิบจากชั้นหินดินดาน (Shale oil) ในสหรัฐ โดยแนวโน้มการปรับเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ สามารถสะท้อนได้จากจำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบที่ถึงแม้จะปรับลดลง 5 แท่น มาอยู่ที่ 747 แท่นในสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 19 มค. 61 แต่จำนวนดังกล่าวก็ยังสูงกว่าจำนวนแท่นขุดเจาะของปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 551 แท่น นอกจากนั้น EIA ยังรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ ที่ปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 3 แสนบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 75 ล้านบาร์เรลต่อวัน ณ วันที่ 12 มค. 61
  • ตัวเลขเศรษฐกิจที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่ ดัชนีราคาบ้าน จีดีพีไตรมาส 4/60 ยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน และดัชนีภาคการผลิต (Markit PMI) ของสหรัฐ ความเชื่อมั่นผู้บริโภค และดัชนีภาคการผลิต (Markit PMI) ของยูโรโซน  

 

สรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา (15 – 19 ม.ค. 61)

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลง 0.73 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 63.57 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวลดลง 1.26 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 68.61 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล  ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 66 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เนื่องจากตลาดน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันจากแรงเทขายทำกำไรของนักลงทุน หลังจากราคาน้ำมันดิบปรับพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี ประกอบกับความกังวลเกี่ยวกับอุปทานส่วนเกินจากการคาดการณ์ที่ว่าปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐ อาจปรับเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบไม่ได้ปรับลดลงไปมากนัก เนื่องจากยังคงได้รับแรงหนุนจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังที่ปรับลดลงมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ รวมถึงแรงสนับสนุนจากการปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่องของทั้งกลุ่มผู้ผลิตโอเปคและนอกกลุ่มโอเปคที่ต้องการผลักดันตลาดให้เข้าสู่จุดสมดุล

---------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)         

 โทร.02-797-2999