ซูเปอร์โพล ชี้คนส่วนใหญ่ไม่มีพรรคที่ชอบในใจ

ซูเปอร์โพล ชี้คนส่วนใหญ่ไม่มีพรรคที่ชอบในใจ

"ซูเปอร์โพล" ชี้คนส่วนใหญ่ยังไม่มีพรรคที่ชอบในใจ เหตุไม่มีอะไรใหม่จากพรรคการเมือง มีแต่คนหน้าเดิม หวั่นเกิดขัดแย้งวันเลือกตั้ง

เมื่อวันที่ 21 ม.ค.61 นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ชมรมขับเคลื่อนวิชาการเพื่อวิจัยความสุขชุมชน เปิดเผย ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน จำนวน 1,167คน ระหว่างวันที่ 1-19 ม.ค.61 ที่ผ่านมา เรื่อง “พรรคการเมืองที่ชอบของประชาชน” โดยผลสำรวจ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 86.7 ระบุว่า ยังไม่มีพรรคการเมืองที่ชอบเพราะยังไม่มีอะไรดีให้เห็น ไม่มีอะไรใหม่จากพรรคการเมือง ความขัดแย้งวุ่นวายเหมือนเดิม คนเดิมๆ ภาพเดิมๆ พฤติกรรมยังไม่เปลี่ยน และรอจะตัดสินใจใกล้วันเลือกตั้ง ขณะที่ ร้อยละ 7.1 ระบุว่าชอบพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 4.9 ชอบพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 1.3 ชอบพรรคอื่นๆ เมื่อจำแนกออกตามเพศ พบว่าเพศชายนั้น ร้อยละ 82.4 ระบุว่ายังไม่มีพรรคการเมืองที่ชอบ ร้อยละ 10.4 ระบุว่าชอบพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 5.6 ชอบพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 1.6 ชอบพรรคอื่นๆ ส่วนเพศหญิง ร้อยละ 89.3 ระบุว่ายังไม่มีพรรคการเมืองที่ชอบ ร้อยละ 5.2 ชอบพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 4.5 ชอบพรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 1.0 ชอบพรรคอื่นๆ
 
นายนพดล ระบุอีกว่า  เมื่อจำแนกตามระดับรายได้ พบว่าประชาชนผู้มีรายได้น้อยหรือไม่เกิน 9,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 13.4 ผู้ที่มีรายได้ปานกลางร้อยละ 6.9 และผู้ที่มีรายได้มากกว่า 50,000 บาทต่อเดือน ระบุว่าชอบพรรคเพื่อไทย  ขณะที่ กลุ่มที่ชอบพรรคประชาธิปัตย์ส่วนมากเป็นผู้มีรายได้ปานกลาง ระหว่าง 9,001-50,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 6.3 ผู้มีรายได้น้อยร้อยละ 4.5 และผู้มีรายได้มากกว่า 50,000 บาทต่อเดือนมีอยู่ร้อยละ 4.1 ที่ชอบพรรคประชาธิปัตย์ อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 91.5 ของผู้มีรายได้มากกว่า 50,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 85.5 ของผู้มีรายได้ปานกลาง และร้อยละ 81.0 ของผู้มีรายได้น้อยคือไม่เกิน 9,000 บาทต่อเดือน ระบุยังไม่มีพรรคที่ชอบ
 
สำหรับคำถามที่ว่าถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พรรคการเมืองที่ตั้งใจจะเลือกคือพรรคใด พบว่าประชาชนร้อยละ 77.7 ระบุว่ายังไม่เลือกพรรคการเมืองใด ขณะที่ ร้อยละ 13.2 บอกว่าจะเลือกพรรคเพื่อไทย ร้อยละ7.8 ระบุพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนร้อยละ 1.3 ระบุพรรคอื่นๆ 

สำหรับความกังวลต่อความขัดแย้งของคนในชาติ ถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้ง พบว่าประชาชน ร้อยละ 58.9 ระบุว่ากังวล แต่ร้อยละ 38.1 ไม่กังวล และร้อยละ 3.0 ไม่มีความเห็น