‘มธ.’บูรณาการวิจัยรับยุทธศาสตร์ชาติ

‘มธ.’บูรณาการวิจัยรับยุทธศาสตร์ชาติ

โครงการแปรรูปกล้วยหอมทองปทุมฯ ,โมเดลสมาร์ทฟาร์มเมอร์เกษตรอินทรีย์ ,ระบบวิเคราะห์อัจฉริยะเพื่อป้องกันน้ำท่วม น้ำแล้ง , เซรั่มบำรุงผิวหน้าสารสกัดจากมะรุม ผลงานวิจัยจากวิทยาศาสตร์ มธ. สานต่ออุตสาหกรรมเป้าหมาย

โครงการแปรรูปกล้วยหอมทองปทุมฯ ,โมเดลสมาร์ทฟาร์มเมอร์เกษตรอินทรีย์ ,ระบบวิเคราะห์อัจฉริยะเพื่อป้องกันน้ำท่วม น้ำแล้ง , เซรั่มบำรุงผิวหน้าสารสกัดจากมะรุม ผลงานวิจัยจากวิทยาศาสตร์ มธ. นำมาสานต่อเมกะโปรเจคปี61 ครอบคลุมอุตสาหกรรมเกษตร - บิ๊กดาต้า - โอทอป/เอสเอ็มอีตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0


รศ. สมชาย ชคตระการ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า งานวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ.ปีนี้ ประกอบด้วย1. วิทย์เพื่อการเกษตร กับโครงการ “กล้วยหอมทองปทุมฯ” และ “เกษตรอินทรีย์ 4.0” 2. วิทย์เพื่อการจัดการข้อมูล กับโครงการ “ระบบวิเคราะห์อัจฉริยะ”และ3. วิทย์เพื่อพัฒนาสินค้า กับโครงการ “โอทอป-เอสเอ็มอี 4.0” เพื่อการพัฒนาผู้ประกอบการโอทอปและเอสเอ็มอี ด้วยการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์จากงานวิจัย

พลิกโฉมเศรษฐกิจด้วย วทน.


โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. จะให้บริการงานวิจัยและให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการ ด้วยการนำวิทยาศาสตร์มาพัฒนาศักยภาพด้านการเกษตรของประเทศไทยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ง่าย ต้นทุนต่ำ โดยจะเป็นการพัฒนาแบบครบวงจร ตั้งแต่พัฒนาการเพาะปลูก พัฒนาคุณภาพผลผลิต ยกระดับแพคเกจจิ้ง รวมไปถึงการต่อยอดแปรรูปผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตภัณฑ์
ในปีนี้ จะเป็นการนำร่องด้วย 2 โครงการหลัก คือ โครงการกล้วยหอมทองปทุมธานี พืชเศรษฐกิจประจำท้องถิ่นตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ รวมไปถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสม และ โมเดลสมาร์ทฟาร์มเมอร์ วิถีเกษตรอินทรีย์ 4.0เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อการทำเกษตรอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานและใช้ต้นทุนต่ำลงถึง 2 เท่า


ถัดมาจะเป็นวิทยาศาสตร์เพื่อการจัดการข้อมูล การพัฒนางานวิจัย เพื่อให้ประเทศไทยเท่าทันกระแสเมกะเทรนด์เทคโนโลยีของโลกในเรื่อง บิ๊กดาต้า และคลาวด์ มาสร้างสรรค์ประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และสังคม เน้นการจัดการข้อมูลบิ๊กดาต้าหรือเซ็ตข้อมูลขนาดใหญ่ วิเคราะห์ และประมวลผลออกมาเป็นข้อมูล เพื่อใช้พัฒนาเป็นประโยชน์ ตลอดจนเพื่อใช้แก้ปัญหาต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นหรือคาดการณ์สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การพัฒนาระบบวัดระดับแม่น้ำไทย ทำหน้าที่วิเคราะห์ ความสูงของแม่น้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมเฉียบพลันและวิกฤติน้ำแล้ง เป็นต้น

 ยกระดับรายได้ให้กับชุมชน


นอกจากนี้ยังนำ วิทยาศาสตร์มาใช้พัฒนาผู้ประกอบการโอทอปและเอสเอ็มอี ซึ่งประกอบด้วย 2 โครงการหลัก คือ 1.ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมความอร่อย บริการวิจัยและพัฒนารสชาติ คุณลักษณะของผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยผู้เชี่ยวชาญทางการทดสอบ และประเมินคุณภาพอาหารด้วยวิธีทางประสาทสัมผัสที่ถูกต้อง รวมทั้งการถ่ายทอดองค์ความรู้การประเมินคุณภาพอาหารฯ แก่ผู้ประกอบการชุมชน โอทอปและผู้ที่สนใจ 2.ศูนย์พัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อยกระดับและพัฒนาสินค้าให้ได้คุณภาพและตอบโจทย์ ความต้องการของผู้บริโภคอย่างครบวงจร ด้วยการสร้างความเข้าใจ ในการพัฒนาสินค้า เทคโนโลยีการเพิ่มคุณภาพผลิตภัณฑ์ การเลือกวัสดุ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้โดนใจผู้บริโภค จากผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ


ยกตัวอย่างงานวิจัยวัสดุนาโนอัจฉริยะกักเก็บสารสำคัญในเครื่องสำอาง ด้วยการนำสารชีวภาพมาทำเป็นอนุภาคขนาดเล็กระดับนาโนผสมผสานเทคโนโลยีการกักเก็บแบบใหม่ที่สามารถให้สาร 2 ชนิดที่แตกต่างกันอยู่ด้วยกัน เพื่อให้เกิดการซึมผ่านผิวหนังได้ในระดับลึก และปลดปล่อยสารออกฤทธิ์ที่สกัดได้จากพืชสมุนไพรในระยะเวลาที่นานขึ้น อนุภาคนี้มีความเสถียรมากขึ้นกว่าวิธีปกติทั่วไป เช่น เซรั่มหน้าใสที่มีสารสกัดจากมะรุมช่วยให้หน้ากระจ่างใสพร้อมกับชุ่มชื้นด้วยวิตามินอี เป็นต้น