“มาสด้า”ปั้นไทยยกระดับอุตฯรถยนต์อาเซียน

“มาสด้า”ปั้นไทยยกระดับอุตฯรถยนต์อาเซียน

บริษัท มาสด้า พาวเวอร์เทรน แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เอ็มพีเอ็มที เปิดสายการผลิตโรงงานใหม่ที่ชลบุรีอย่างเป็นทางการ

โดยโรงงานแห่งนี้ บริษัท มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ประเทศญี่ปุ่น บริษัทแม่ เป็นผู้ถือหุ้น 100% ใช้เงินลงทุนเพิ่มครั้งนี้ 7,200 ล้านบาท มีกำลังการผลิตเครื่องยนต์ สกาย แอคทีฟ 1 แสนเครื่องต่อปี รองรับการส่งมอบให้กับ โรงงาน บริษัท ออโต้ อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ เอเอที ซึ่งเป็นโรงงานผลิตรถยนต์ร่วมระหว่าง มาสด้า ญีปุ่น กับ ฟอร์ด มอเตอร์ คอร์ป สหรัฐ และอีกส่วนหนึ่งจะส่งออกไปยังต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วน 20% ของการผลิต 

นอกจากนี้ยังเพิ่มการผลิตเครื่องยนต์รุ่นใหม่ สกายแอคทีฟ 2.0 ลิตร เพื่อจะส่งไปมาเลเซีย เวียดนาม จากเดิมการผลิตหลักคือ เครื่องยนต์เบนซิน สกายแอคทีฟ จี 1.3 ลิตร และเครื่องยนต์ ดีเซล สกายแอคทีฟ ดี 1.5 ลิตร

มาซามิชิ โคไก ประธานคณะกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน กล่าวว่า ปัจจุบันไทยเป็นฐานผลิตนอกญี่ปุ่นเพียงแห่งเดียวที่มีการผลิตครบวงจร ทั้งการผลิตเครื่องยนต์ เกียร์ และการผลิตรถยนต์ เป็นการบ่งบอกถึงความสำคัญของไทยต่อมาสด้า ทั้งในด้านการเป็นแหล่งผลิตทีมีศักยภาพ มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ และที่สำคัญคือการเป็นฐานที่แข็งแกร่งในภูมิภาคอาเซียน โดยไทยสามารถสร้างยอดขายได้สูงสุดในภูมิภาค

ปัจจุบันมาสด้า มียอดขายรวมในตลาดอาเซียน 1 แสนคันต่อปี ต่อเนื่องมา 2 ปี มีความคาดหวังที่จะยกระดับตลาดนี้ในอนาคต ตามแผนการรุกตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก “อาเซียน” คือหนึ่งในตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนประชากรของภูมิภาคประมาณ 600 ล้านคน มากกว่าประชากรในสหรัฐถึง 2 เท่า และมีประชากรคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นมาก ทำให้เกิดกำลังซื้อในอนาคตมากขึ้น คาดว่าภายใน 4 ปี ตลาดภูมิภาคนี้จะสามารถขยายตัวได้ 1.5 เท่า

ขณะที่ไทยซึ่งเป็นฐานการตลาดที่สำคัญ และจะมีบทบาทเพิ่มขึ้นในอนาคต จากการส่งออกทั้งรถยนต์และชิ้นส่วนไปยังประเทศอื่นๆ อยู่ในเส้นทางที่ดี มียอดขายที่เติบโตสูงมาโดยตลอดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยปี 2560 ทำยอดขายได้ 5.2 หมื่นคัน เชื่อว่าจะเติบโตได้ 2 เท่าตัวในอนาคตอย่างแน่นอน

“ไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูงและอุตสาหกรรมได้รับการสนับสนุนที่ดีจากรัฐบาล เนื่องจากอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ช่วยพัฒนาประเทศ” 

ในอนาคต มาสด้ามีแผนยกระดับให้ไทยมีบทบาทการผลิตเพิ่มขึ้น ทั่งการผลิตเครื่องยนต์และรุ่นรถ โดยจะต้องศึกษาดูว่ารุ่นใดมีความเหมาะสม และมีส่วนสำคัญในการช่วยผลักดันการส่งออกจากไทยให้มากขึ้น

นอกจากนี้ยังมีแผนพัฒนาและเพิ่มซัพพลายเออร์หรือผู้ผลิตชิ้นส่วน และมีบทบาทในการผลิตมากขึ้น ปัจุบันมาสด้า ใช้ชิ้นส่วนเครื่องยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงหลายรายการอยู่แล้ว เช่น ฝาสูบ เพลาข้อเหวี่ยง เพลาลูกเบี้ยว เป็นต้น

ขณะที่ภาพรวมเวทีโลก ตลาดใหญ่ที่สุดของมาสด้า คือ สหรัฐ มียอดขาย 2-3 แสนคันต่อปี ขณะที่ “จีน”เติบโตรวดเร็วมียอดขายเกือบ 3 แสนคัน ญี่ปุ่น 2 แสนคัน ยุโรป 2 แสนคัน และออสเตรเลีย 1 แสนคัน

“ในตลาดโลก มาสด้ามีส่วนแบ่งประมาณ 3% เรารักษาสมดุลในแต่ละตลาดได้ค่อนข้างดี ขณะที่อาเซียน ก็จะยกระดับขึ้นมาใกล้เคียงกับภูมิภาคอื่นๆ ในอนาคต อาเซียนจะมีความสำคัญในแผนระยะยาว”

ส่วนกรณีที่มาสด้า ยื่นขอรับกาส่งเสริมการลงทุน โครงการผลิตรถไฮบริด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการส่งเสริมของรัฐบาลไทยโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ที่ครอบคลุมทั้งรถไฮบริด ปลั๊กอิน ไฮบริด และรถพลังงานไฟฟ้า หรืออีวี 

ทาง มาสด้า เซลส์ แจ้งก่อนหน้านี้เช่นกันว่า กำลังอยู่ระหว่างการหารือในรายละเอียดกับบีโอไอ เกี่ยวกับเงื่อนไขต่างๆ อีกครั้ง 

ประเด็นนโยบายส่งเสริมการส่งเสริมนี้ โคไก มองว่าในส่วนของอีวี นั้นอาจจะยังไม่เหมาะสมกับตลาดไทย โดยเฉพาะข้อจำกัดในด้านแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่จะมารองรับ อีวี ซึ่งคล้ายๆ กับที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งเสริมเทคโนโลยีนี้มาระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็พบว่ามีปัญหาเช่นกัน และยังไม่สามารถขยายการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดได้

“ปรัชญาการพัฒนาสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมของเราอย่างหนึ่งก็คือ ต้องเป็นพลังงานสะอาดในทุกขั้นตอน ตอนนี้ไทยยังมีไฟฟ้าไม่พอ หากสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม และเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง ก็เท่ากับว่าเราไปเพิ่มมลพิษให้กับโรงไฟฟ้า การสร้างยานยนต์พลังงานสะอาด ไม่ได้สะอาดแต่ปลายท่อไอเสียเท่านั้น”

มาสด้ามองว่า เป้าหมายหลักของการที่หลายประเทศสนับสนุนรถพลังงานไฟฟ้าก็คือ เพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป้าหมายดังกล่าว เห็นว่ายังมีวิธีอื่นๆที่สารถทำได้ เช่น การพัฒนาเครื่องยนต์สันดาปภายในที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันให้มีสมรรถนะดีขึ้น สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงน้อยลง ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ก็เป็นทางเลือกที่ดีอีกทางหนึ่ง