ไปกับเธอ ‘อำเภอใจ’

ไปกับเธอ ‘อำเภอใจ’

“ตามอำเภอใจ” สำนวนชวนหมั่นไส้ และดูเอาแต่ใจสุดๆ แต่ถ้าได้ทำตามใจไปกับคนรู้ใจที่สารพัดอำเภอคาแรกเตอร์ชัด ก็พอจะเข้าใจและให้อภัยกันได้

  • ‘ลอง’ แล้วจะติดใจ

            กระแสเที่ยวเมืองรองกำลังมาแรง ช่วงนี้ใครมีแพลนไปแอ่วแพร่แนะนำเมืองน่ารักอย่างอำเภอ ‘ลอง’ อดีตเมืองหน้าด่านล้านนาที่อยู่ห่างจากอำเภอเมืองแค่ 40 กิโลเมตร ขับรถไปชิลๆ คุณก็จะได้พบกับอีกบรรยากาศวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์เกินตัว และถ้าใครเคยได้ยินมุข “แป้แห่ระเบิด” บอกเลย...ต้นกำเนิดมาจากเมืองนี้นี่เอง ปัจจุบันเรื่องเล่านี้ได้ถูกใช้เป็นกิมมิคของร้านกาแฟฮิปๆ อย่าง ‘กาแฟแห่ระเบิด’ ที่ใครไปใครมาก็ต้องแวะเช็คอิน

            มาถึงอำเภอลองแล้ว เพื่อความเป็นสิริมงคลควรไปเริ่มต้นที่ วัดศรีดอนคำ หรือ วัดพระธาตุศรีดอนคำ วัดเก่าแก่ที่มีพระพุทธรูปลักษณะพิเศษ คือ “พระเจ้าพร้าโต้” ศิลปะล้านนาผสมเชียงรุ้ง ทำจากไม้แก่นจันทร์ทั้งต้น ประณีตงดงาม ไหว้พระขอพรเรียบร้อย อย่าลืมแวะไปดูระฆังที่ทำจากลูกระเบิดของจริง ต้นตำนานเมืองแป้แห่ระเบิดกันด้วยล่ะ

            จากวัดแวะมา พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเพื่อนแพง กันสักหน่อย พื้นที่นี้ในอดีตเป็นโรงหนัง ในส่วนจัดแสดงจะมีเครื่องฉายหนังโบราณให้ดูเป็นตัวอย่าง นอกจากนี้ยังมีของสะสมอย่าง ธนบัตร เหรียญ ตราต่างๆ, ปัญจรูปและสัตตภัณฑ์ แต่ที่โดดเด่นสะดุดตาคือผ้าพื้นเมืองจากหลายพื้นที่ โดยเฉพาะซิ่นตีนจก เอกลักษณ์ของจังหวัดแพร่ที่มีให้ชมจนละลานตา

            อีกหนึ่งไฮไลท์ที่ต้องใส่เครื่องหมายดอกจันไว้เลยสำหรับเมืองลอง ก็คือ สถานีรถไฟบ้านปิน สถานีรถไฟไม้อายุกว่า 100 ปี ที่ได้ชื่อว่าสวยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ตัวอาคารก่อสร้างในสไตล์ ‘เฟรมเฮ้าส์’ แบบบาวาเรียน ผสมผสานเข้ากับเรือนปั้นหยาแบบไทยๆ ฝีมือนายช่างชาวเยอรมัน ทุกวันนี้กลายเป็นมรดกล้ำค่าหาชมยาก

            แต่หากอยากได้ยินเสียงแห่งเมืองลอง ต้องแวะไปที่ โฮงซึงหลวง แหล่งอนุรักษ์เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านที่เปิดสอนทั้งการผลิตและเล่นเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ รวมทั้งยังมีบ้านพักแบบเกสต์โฮม ไว้บริการนักท่องเที่ยวด้วย ส่วนใครที่ต้องการรู้จักเมืองเล็กๆ แห่งนี้ให้ลึกซึ้งขึ้นไปอีก ‘ขนมเส้นน้ำย้อย’ คือรสชาติที่ต้องห้ามพลาด ...‘ลอง’แล้วจะติดใจ

  • ‘ลับแล’ เร้นลับประทับใจ

            จากกรุงเทพฯ ถึงอุตรดิตถ์ ระยะทางเกือบห้าร้อยกิโลเมตร อาจไกลหากมองเป็นตัวเลข แต่ถ้าเดินทางไปถึงที่อุตรดิตถ์แล้ว “ไกลแค่ไหนก็คือใกล้” เชียวละ อาจเพราะเมืองนี้เป็น ‘เมืองผ่าน’ ของนักท่องเที่ยว จึงกลายเป็นข้อดีอยู่บ้างที่ทำให้อุตรดิตถ์ยังสดใหม่ น่าค้นหา...โดยเฉพาะ ‘เมืองลับแล’

            ลับแลเป็นอำเภอหนึ่งใน 9 อำเภอของ จ.อุตรดิตถ์ ห่างจากตัวจังหวัดเพียง 9 กิโลเมตรเท่านั้น มีประวัติศาสตร์ยาวนานทั้งที่เป็นตำนานและเป็นลายลักษณ์อักษร ทว่าทั้งหมดทั้งมวลก็ยังไม่ถูกสะสางให้เสร็จสมบูรณ์ แต่ที่ค่อนข้างแน่และเป็นที่ยอมรับกันคือที่มาของชื่อเมืองลับแล ว่ากันว่า ‘ลับแล’ ความหมายตามรูปศัพท์คือ ‘ที่ซึ่งมองดูไม่เห็น’ เพราะเมืองลับแลตั้งอยู่ภูมิประเทศที่เป็นป่าเขาสลับซับซ้อน เมื่อมองจากภายนอกจะเห็นแต่ป่าไม้ ไม่ค่อยพบเห็นบ้านเรือน เล่าขานกันว่าหากคนต่างถิ่นหลงเข้าไปในดินแดนเมืองลับแลอาจหาทางออกไม่ได้ เมืองลับแลมีบรรยากาศเยือกเย็นยามพลบค่ำ แม้ดวงอาทิตย์จะยังไม่ตกดินก็มืดแล้ว เพราะมีดอยม่อนฤๅษีสูงใหญ่เป็นฉากกั้นแสงอาทิตย์ เดิมทีที่ชาวเชียงแสนอพยพมาในช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายพื้นที่แถบนี้เป็นป่าดงมีแต่ต้นไม้ใหญ่เนื่องจากเป็นเมืองร้างมาหลายร้อยปี พอตอนบ่ายแดดก็จะลับ เลยเรียกว่า ‘ลับแลง’ แปลว่า แดดลับในตอนเย็น ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็นคำว่า ‘ลับแล’

            ในความเร้นลับกลับมีของดีซ่อนอยู่มากมาย เช่น ซุ้มประตูเมืองลับแล อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของเมือง สถาปัตยกรรมเป็นศิลปะประยุกต์แบบสุโขทัย ด้านข้างมีประติมากรรมรูปปั้นหญิงสาวยืนอุ้มลูกน้อยสีหน้าเศร้าสร้อย ข้างๆ มีสามีนั่งคอตกในมือถือถุงย่ามใส่ขมิ้นเตรียมเดินทางออกจากเมืองลับแลตามตำนานของเมือง

            ไม่ไกลกันนักคือ อนุสาวรีย์พระศรีพนมมาศ บุคคลดีเด่นในอดีต พระศรีพนมมาศ เดิมชื่อ นายทองอิน ต่อมาได้เป็นนายอำเภอลับแล ท่านพัฒนาระบบสาธารณูปโภคแทบทุกด้าน ทั้งถนนหนทาง สร้างโรงเรียน สร้างลำเหมืองส่งน้ำและฝายน้ำล้น

            นอกจากตำนานและสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย ที่นี่คือแหล่งรวมอาหารการกินที่มีเอกลักษณ์แถมยังอร่อยมากด้วย อาทิ ข้าวแคบ ของขบเคี้ยวพื้นถิ่น ข้าวแคบทำจากข้าวเจ้านำไปแช่น้ำแล้วนำมาโม่ เสร็จแล้วนำมาหมักจนมีกลิ่นและรสเปรี้ยว เติมเกลือเข้าไปเพื่อให้มีรสชาติ จากนั้นนำมาเทบนผ้าบางคล้ายทำข้าวเกรียบปากหม้อ เมื่อแป้งเป็นแผ่นก็นำมาตาก จะกินสดหรือนำไปเป็นส่วนประกอบอาหารก็ได้ กินสดแม้จะเหนียวไปหน่อยและรสชาติอาจไม่คุ้นลิ้นคนต่างถิ่น แต่รับรองว่าเคี้ยวเพลินจริงๆ

            นอกจากนี้ยังมี ถนนราษฎร์อุทิศ หรืออีกชื่ออันน่าสะพรึงคือ ‘ถนนคนกิน’ มีร้านอาหารหลากหลายชนิดกระจายกันอยู่ตลอดถนน ยกตัวอย่าง ร้านป้าหว่างหมี่พัน อาหารที่ประยุกต์ใช้ข้าวแคบมาทำให้นิ่มโดยใช้เส้นหมี่ลวก คลุกเคล้าเครื่องปรุง แล้วใส่บนแผ่นข้าวแคบและม้วนปิดท้าย น้ำเครื่องปรุงและเส้นหมี่จะค่อยๆ ทำให้แผ่นข้าวแคบนุ่มและอร่อยเลิศ

            สุดท้ายไม่พูดถึงไม่ได้คือ ทุเรียนหลินลับแล และ ทุเรียนหลงลับแล สุดยอดทุเรียนที่ปลูกกันบนเขา ใครได้ชิมต้องบอกว่ารสชาติหวานกลมกล่อม กลิ่นไม่แรงเกินไป

  • สวรรคโลก = โลกสวรรค์

            หากคำว่า ‘สวรรค์’ หมายความถึงปลายทางแห่งความสุข ที่สวรรคโลกคงเป็นดั่งโลกที่เต็มไปด้วยความสุข โดยไม่ต้องพึ่งพาความเจริญอะไรมากมาย

            อย่างที่รู้กันมาตลอดจากตำราเรียนว่าที่นี่เป็นดินแดนประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยยังเป็นราชธานี สวรรคโลกมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงในนาม ‘เมืองศรีสัชนาลัย’ ต่อมา พ.ศ.2017 สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น ‘เมืองสวรรคโลก’ นับแต่นั้นมา และได้เปลี่ยนทำเลที่ตั้งจนกระทั่งเป็นสวรรคโลกอย่างในปัจจุบัน

            บางคนอาจไม่รู้ว่าสวรรคโลกเคยมีฐานะเป็นจังหวัดด้วย เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2474 กระทรวงมหาดไทยได้ประกาศยุบจังหวัดสุโขทัยให้มาอยู่ในความปกครองของจังหวัดสวรรคโลก จังหวัดสวรรคโลกจึงมีอำเภออยู่ในความปกครอง 5 อำเภอ และ 2 กิ่งอำเภอ ได้แก่ อำเภอสุโขทัยธานี อำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอสวรรคโลก อำเภอกงไกรลาศ อำเภอศรีสำโรง กิ่งอำเภอบ้านด่านลานหอย กิ่งอำเภอคีรีมาศ นับเป็นยุคที่เจริญรุ่งเรืองมาก

            แต่ในเดือนเมษายน พ.ศ.2482 กระทรวงมหาดไทยสั่งยุบจังหวัดสวรรคโลกให้ไปตั้งอยู่ภายใต้จังหวัดสุโขทัย ฐานะของจังหวัดสวรรคโลกจึงถูกลดให้เป็นอำเภอสวรรคโลกนับแต่นั้นมา ทว่าเหมือนเป็นเคราะห์ดี ที่ตอนนี้สวรรคโลกได้ความเงียบสงบ ถนนโล่ง วิถีชีวิตดั้งเดิมแสนน่ารัก ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่หลายคนใฝ่ฝัน

            สถานที่สำคัญๆ เหมาะแก่การแวะเวียนไปมีหลายที่ เช่น สถานีรถไฟสวรรคโลก สุดคลาสสิก เรียบง่าย ที่สำคัญเก่าแก่กว่า 100 ปี ตัวอาคารเป็นเรือนไม้ 2 ชั้น มีข้าวของ เครื่องใช้สมัยโบราณเก็บไว้ บางอย่างยังคงใช้งานได้ดี ที่นี่แค่แวะไปถ่ายรูปก็เก๋ไก๋แล้ว...บอกเลย

            หรือใครอยากสัมผัสสถาปัตยกรรมงดงาม ต้องไปที่ ศาลหลักเมืองสวรรคโลก สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานเสาหลักเมืองสวรรคโลก ทั้งตำแหน่งที่ตั้งและการประดับประดาไม้ดอกไม้ประดับยิ่งทำให้ศาลหลักเมืองฯ ทั้งเข้มขลังและงดงาม

            ส่วนคนที่ชื่นชอบวิถีชีวิต อาหารการกิน หรือบรรยากาศคึกคักของตลาดก็มีทั้งตลาดเช้าที่ถนนกลางเมือง และตลาดของกินซอย 8 ที่นับว่าเป็นเสมือนโรงอาหารของคนอำเภอนี้ทีเดียว

            ไม่ว่าจะหลงใหลความเก่าหรือชื่นชอบความเรียบง่ายสงบเงียบ ที่สวรรคโลกเป็นสวรรค์ของคุณแน่นอน

  • ‘สิชล’ สักหนแล้วจะรัก

            จากเมืองผ่านเมื่อคนมานครศรีธรรมราช ตอนนี้ อ.สิชล อำเภอเก่าแก่ที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ได้ขึ้นแท่นอำเภอชายทะเลที่นักท่องเที่ยวหมายตามากที่สุดแห่งหนึ่งแล้ว เพราะความสดใหม่ไม่เละเทะ อีกทั้งยังมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมายตามชายฝั่งทะเลอย่าง หาดสิชล ที่คนท้องถิ่นเรียกกันว่า หัวหินสิชล และอีกสารพัดหาด เช่น หาดเขาพลายดำ, หาดท้องยาง, หาดหินงาม

            พื้นที่ อ.สิชล มีแนวชายทะเลลึกเข้าไปในแผ่นดินประมาณ 5-7 กิโลเมตร โดยมีชายทะเลจากปลายแหลมเขาพลายดำ โค้งเลียบผ่านบ้านนาขอมลงไปด้านใต้หน้าวัดถ้ำเทียนถวาย หลังเขาเกียด ด้านหน้าเขาคา จนเข้าเขต  อ.ท่าศาลา พื้นดินแถบนี้เรียกว่า สันทรายใน (สันทรายเก่า) ซึ่งเกิดขึ้นมานานกว่า 6,000 ปีแล้ว ก่อนจะเกิดสันทรายกลางเมื่อราว 1,000 ปีที่ผ่านมา คือแนวทางหลวงแผ่นดินสาย 401 ตั้งแต่ ต.สิชล ผ่าน ต.ทุ่งปรัง ต.เสาเภา และ ต.เปลี่ยน นอกจากนี้ยังมีสันทรายที่เกิดขึ้นใหม่ราว 400-500 ปี คือแนวชายทะเล ตั้งแต่ ต.สิชล ลงไปทางทิศใต้ ผ่านบ้านปลายทอน ต.ทุ่งปรัง บ้านเสาเภา ต.เสาเภา (จากหนังสือประวัติศาสตร์สิชล)

            ถ้าจังหวัดชายทะเลอื่นๆ มีจุดขายที่สถานบันเทิงและแสงสี บอกได้ทันทีว่าสิชลอยู่ฝั่งตรงข้าม เพราะจุดเด่นคือความใสๆ วัยไหนก็ชอบ ไม่โครมครามด้วยสถานบันเทิงและเต็มเปี่ยมด้วยบรรยากาศของการพักผ่อน เช่นที่ ริมชายหาดสวนสน ของ เขาพลายดำ ในเขต ต.ทุ่งใส มีทั้งรีสอร์ทและร้านอาหารบรรยากาศสบายๆ เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของคนพื้นที่ และเป็นที่ตั้งสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่านครศรีธรรมราชด้วย

            จากเขาพลายดำ จะมองเห็น อ่าวท้องยาง ในมุมสูง เป็นหาดทรายสวยงาม ทอดตัวยาวร่วม 3 กิโลเมตร ไปจรดเขาอีกด้าน เหมือนอยู่ในอ้อมกอดของขุนเขา บริเวณโดยรอบมีสวนหย่อมสวยงาม มีเครื่องเล่นของเด็กๆ เหมาะแก่การไปพักผ่อนเป็นครอบครัว ถ้าเลยจากหาดท้องยางไปไม่ไกลคือ หาดหินงาม ลักษณะหาดมีหินกลมเกลี้ยงจำนวนมาก อันเป็นที่มาของชื่อหาดนั่นเอง

            อีกที่ที่ไม่ควรพลาดคือ ปากน้ำสิชล ปัจจุบัน มีพระรูปกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ขนาดใหญ่ ตั้งตระหง่านหันหน้าออกทะเล ข้ามฝั่งไปเป็นศาลเจ้า จากฝั่งศาลเจ้าจะมองเห็นบ้านเรือน บริเวณปากน้ำ ยามอาทิตย์ตกที่นี่ไม่ต่างจากภาพเขียนสีฝีมือศิลปินชั้นครู

  • รักนะ...ระโนด

            อีกอำเภอน่ารักที่ครบเครื่องทั้งเรื่องวิถีชีวิต ธรรมชาติ และสารพัดที่เที่ยวสุดประทับใจ เพราะ อำเภอระโนด สุดเขตจังหวัดสงขลาต่อเนื่องกับอำเภอหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เป็นที่ตั้งของ ชุมชนคลองแดน มีคลองเล็กๆ เป็นเขตแดนตามธรรมชาติระหว่าง 2 จังหวัด จึงได้ชื่อว่า ‘คลองแดน’ และยังเป็นจุดบรรจบของอีก 2 คลอง คือ คลองปากพนังและคลองชะอวด เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่แห่ง 3 คลอง 2 แผ่นดิน

            ในอดีตชุมชนแถบนี้เจริญมาก เป็นตลาดน้ำที่ยิ่งใหญ่แห่งลุ่มทะเลสาบสงขลา เต็มไปด้วยพ่อค้าแม่ขาย คึกคักตลอดทั้งวันทั้งคืน แต่ความรุ่งเรืองกลับแปรเปลี่ยนเมื่อทางหลวงสาย 408 ที่ตัดผ่านระหว่างนครศรีธรรมราชและสงขลาเกิดขึ้น ที่นี่ก็ค่อยๆ เงียบเหงา

            แต่ทุกวันนี้ที่นี่กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง เรือนแถวไม้เก่า ประตูบานเฟี้ยม ทุกสิ่งมีเรื่องราวที่พร้อมจะบอกเล่า

            ศูนย์รวมจิตใจชาวบ้านอย่าง วัดคลองแดน อายุกว่าร้อยปี ก็มีสิ่งล้ำค่าทางวัฒนธรรมหลายอย่าง เช่น องค์พระทองโบราณ ปางมารวิชัย ศิลปะผสมผสานล้านนา ล้านช้าง สุโขทัย อยุธยา และท้องถิ่น ลักษณะงดงามชดช้อย เรือขุดไม้ตะเคียนทองโบราณ บรรจุคนได้ 40 – 50 คน ใช้ขนทราย ย้ายบ้านเมื่อครั้งอดีต หอฉัน สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นลุ่มทะเลสาบสงขลา สร้างจากไม้เคี่ยม ไม้หลุมพอ ไม้ยางอายุร่วมร้อยปี ในฤดูน้ำพะ (น้ำหลาก) สมัยก่อน ชาวบ้านจะย้ายข้าวของและอพยพมาหลบน้ำชั่วคราว ฯลฯ

            นอกจากคลองแดน ที่ สะพานเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 บางคนเรียกสะพานหัวป่า-ไสกลิ้ง ทอดยาวข้ามคลองนางเรียม และบางส่วนของทะเลน้อย มีจุดพักรถ 2 จุด เมื่อมองไปใต้สะพาน ที่นั่นเต็มไปด้วยชีวิต ฝูงนกตีนเทียนยืนนิ่งสลับกับบินแปรขบวน มองไปสุดตาอาจได้เห็นฝูงควายน้ำกำลังยืนเล็มหญ้าอยู่ฝูงใหญ่

  • โอเค ‘เบตง’

            พอพูดถึงยะลาและจังหวัดชายแดนใต้ เชื่อได้ว่าสิ่งที่หลายคนนึกถึงคือความน่ากลัว สุ่มเสี่ยง อันตราย แต่ถ้าลองไปเยือนอำเภอเบตงความเชื่อเดิมที่น่ากลัวจะกลายเป็นความเก๋ไก๋ที่หาไม่ได้จากที่อื่น

            เพราะที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา กลับไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด มิหนำซ้ำยังเต็มไปด้วยที่เที่ยวเท่ๆ เก๋ๆ เช่น เขื่อนบางลาง เขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกของภาคใต้ นอกจากประโยชน์เกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าและการกักเก็บน้ำ ผลพลอยได้ที่ตามมาคือทัศนียภาพ ซึ่งจุดที่น่าจะสวยที่สุดสำหรับชมวิวเขื่อนนี้ คือ สะพานข้ามเขื่อนบางลาง บริเวณบ้านคอกช้างกับบ้านกระป๋อง ต.แม่หวาด อ.ธารโต ในวันที่ฟ้าใส แดดจัด ผืนน้ำจะสะท้อนเงาภูเขาและท้องฟ้า

            ส่วนที่ อุโมงค์ปิยะมิตร หรืออีกชื่อคือ อุโมงค์เบตง เป็นอุโมงค์ดินที่อดีตขบวนการโจรคอมมิวนิสต์มลายา (จคม.) สร้างขึ้นเป็นฐานปฏิบัติการต่อสู้ทางการเมือง แต่ต่อมาหลังจากถูกปราบปรามและการต่อสู้สิ้นสุดลงก็ได้กลับมาร่วมพัฒนาชาติไทย อุโมงค์ตั้งอยู่ในพื้นที่ของบ้านปิยะมิตร ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ถึงอดีตแห่งการต่อสู้แสนเจ็บปวด ภายนอกนอกอุโมงค์เป็นผืนป่า ทั้งอากาศดีและมี ต้นไม้พันปี (แต่ป้ายเขียนว่า Millennium Tree) ขนาดมหึมา

            สำหรับคนที่ชอบความงามของดอกไม้ ที่ใต้สุดแดนสยามมีสวนดอกไม้เมืองหนาวอยู่ด้วย ที่ สวนหมื่นบุปผา ตั้งอยู่ในหมู่บ้านปิยะมิตร 2 เป็นโครงการไม้ดอกเมืองหนาวอันเนื่องมาจากพระราชดำริอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงอักษรจีนพระราชทานนามสวนแห่งนี้ว่า ‘ว่านฮัวหยวน’ หรือแปลเป็นไทยว่า สวนหมื่นบุปผา บนพื้นที่กว่า 35 ไร่ มีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว และดอกไม้นานาพันธุ์หลากสีสัน

            อีกจุดที่ต้องบอกว่าอิจฉาคนเบตง ถึงแม้พื้นที่ไม่ใหญ่ไม่โต แต่กลับมีทรัพยากรธรรมชาติครบครัน แม้กระทั่งบ่อน้ำร้อนให้นอนแช่เพื่อสุขภาพก็ยังมี ซึ่ง บ่อน้ำร้อนเบตง นี้เป็นบ่อน้ำร้อนธรรมชาติขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยแร่ธาตุต่างๆ มากมาย มีสระน้ำขนาดใหญ่สำหรับกักน้ำจากน้ำพุร้อนเพื่อให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้ใช้อาบหรือแช่

            และที่ตอกย้ำความน่าอิจฉาสุดๆ คือ ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง ถ้าใครเป็นสายทะเลหมอก บอกเลยว่าที่นี่ห้ามพลาด เพราะตั้งแต่ชมทะเลหมอกมาทั่วสารทิศ ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง คือหนึ่งในหลายทะเลหมอกที่ดีที่สุดในประเทศไทย ในวันที่ฟ้าเป็นใจ กลางคืนมีฝนพรำเล็กน้อยพอชุ่มชื้น และฟ้าเปิดในวันใหม่ รับรองความอลังการของมวลหมอกที่ลอยแน่นเสมือนทะเล

            จุดชมทะเลหมอกแห่งนี้อยู่ในเขตพื้นที่ของเขาไมโครเวฟ หรือ ยอดเขากุนุงซิลิปัต ที่ความสูง 2,038 ฟุต จากบริเวณยอดเขาชมทะเลหมอกในยามเช้าได้ถึงปีละ 8 เดือน

  • ให้หัวใจนำทาง ‘เวียงแหง’

            มีคนกล่าวว่า “บางสถานที่มีความทรงจำ” ที่นี่ก็เช่นกัน...เวียงแหง จ.เชียงใหม่ อำเภอไกลปืนเที่ยงแห่งนี้บอกเลยว่าต้องใช้หัวใจนำทาง เพราะจากตัวเมืองเชียงใหม่ขับรถไปก็เกือบ 3 ชั่วโมงแล้ว บวกกับเส้นทางที่คดโค้งไต่ระดับลัดเลาะทิวเขาไปเรื่อยๆ ไม่มีทางเป็น ‘เมืองผ่าน’ หรือใช้คำว่าแวะเที่ยวได้อย่างแน่นอน แต่ใครก็ตามที่เคยพาตัวเองไปถึงเมืองชายแดนที่อยู่ชิดติดประเทศเพื่อนบ้านแค่ปากกับจมูก คงรู้สึกไม่ต่างกันว่า “กลับมาแล้วคิดถึง”

            สำหรับนักท่องเที่ยวสายอดีต เวียงแหงเป็นที่รู้จักในฐานที่เป็นเส้นทางเดินทัพของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งทรงนำกำลังทหารมุ่งไปยึดเมืองนายกลับคืนจากพม่า ในปี พ.ศ. 2148 และสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งที่เป็นที่เคารพสักการะของชาวเวียงแหง ซึ่งเกี่ยวข้องกับบางช่วงตอนในประวัติศาสตร์ครั้งนั้น ก็คือ วัดพระธาตุแสนไห ที่ตั้งอยู่ในตำบลเปียงหลวง แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่เชื่อกันว่าเมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมาพักทัพบริเวณนี้ ได้บูรณะองค์พระธาตุ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบไทใหญ่ร่วมกับชาวบ้าน ก่อนจะยกทัพไปตีเมืองอังวะ

            ความน่าสนใจของตำบลเปียงหลวงซึ่งอยู่ชิดติดเมียนมาแค่รั้วกัน นอกจากจะมีสถานที่ทางประวัติศาสตร์แล้ว ยังเป็นชุมชนของคนหลากหลายชาติพันธุ์ที่ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างเรียบง่ายกลมกลืน ในตลาดเช้าจะมีอาหารพื้นเมืองของคนท้องถิ่นทั้งไทใหญ่ เมียนมา จีนยูนนาน ชิมโน่นนิดนี่หน่อยแถมด้วยรอยยิ้มของคนที่นี่ก็อิ่มไปถึงใจ แต่ถ้าจะให้ดีต้องเดินทางไปที่ วัดฟ้าเวียงอินทร์ วัดเก่าแก่ที่ตั้งอยู่บนผืนแผ่นดินของสองประเทศ

            วัดแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อประมาณปีพ.ศ. 2400 โดยศรัทธาของคนไทใหญ่ในพื้นที่ แต่ทันทีที่เส้นแบ่งเขตแดนไทย-เมียนมาถูกลากขึ้นโดยอ้างอิงลักษณะทางภูมิศาสตร์ บริเวณวัดที่มีเจดีย์ตั้งโดดเด่นจึงยังอยู่ในฝั่งไทย ส่วนโบสถ์และพื้นที่ที่เหลือกลายเป็นของเมียนมา ใครไปใครมามองเห็นได้จากบริเวณจุดชมวิวด้านบน สำหรับองค์เจดีย์เป็นศิลปะไทใหญ่สีทองอร่าม ด้านหลังมีศาลของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชตั้งอยู่ และที่เป็นของคู่กันก็คือ รูปปั้นไก่ที่ชาวบ้านนำมาถวาย

            แม้จะมีสถานที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง แต่ถ้าถามว่าเสน่ห์ของเวียงแหงอยู่ตรงไหน บอกได้เลยว่าคือความสงบงามของธรรมชาติที่ยังไม่ถูกปรุงแต่งมากนัก ความเนิบช้าอันเป็นสามัญของวิถีชีวิตที่นี่ ความงดงามบนความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่สะท้อนผ่านภาษา เสื้อผ้า อาหารการกิน สถาปัตยกรรม และรอยยิ้มที่ไม่มีการแต้มแต่งใดๆ ...แค่นี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับการเดินทางไกล