โฆษณาฟื้น สื่อออนไลน์-ทีวีดิจิทัล‘พุ่ง’

โฆษณาฟื้น สื่อออนไลน์-ทีวีดิจิทัล‘พุ่ง’

อุตสาหกรรมโฆษณาผ่านสื่ออยู่ในภาวะถดถอยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อชะลอตัว ส่งผลให้ “สินค้าและแบรนด์”ต่างๆ ปรับลดงบสื่อสารโฆษณาให้สอดคล้องกับยอดขาย

แต่เริ่มเห็นสัญญาณบวกตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีก่อน หลังจากตัวเลขส่งออกและท่องเที่ยวเติบโตต่อเนื่อง การลงทุนภาครัฐเริ่มเดินหน้า ทำให้“จีดีพี”กลับมาเติบโตได้ระดับใกล้เคียง 4% ในปีที่ผ่านมา

ปัทมวรรณ สถาพร กรรมการผู้จัดการ มายด์แชร์ ประเทศไทย เอเยนซีเครือข่ายด้านการตลาดและการสื่อสาร กล่าวว่าปีที่ผ่านมา นีลเส็น ประเทศไทย รายงานอุตสาหกรรมโฆษณาผ่านสื่อมีมูลค่า 1.01 แสนล้านบาท ติดลบ 5.9% เทียบปี 2559 แต่ปีนี้เศรษฐกิจมีทิศทางกลับมาฟื้นตัวชัดเจน ตั้งแต่ต้นปีสะท้อนจากตลาดหุ้นปรับขึ้นสูงกว่า 1,800 จุด การส่งออกและท่องเที่ยวยังขยา่ยตัว บวกกับนโยบายรัฐบาลในการวางแผนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปี

ส่งผลให้ความรู้สึกของผู้บริโภคฟื้นตัว รวมทั้งกระแสเวิลด์อีเวนท์ การแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 จึงเป็นปัจจัยบวก ที่ปีนี้มายด์แชร์ ประเมินอุตสาหกรรมโฆษณากลับมาเติบโต 7.6% มีมูลค่า 1.19 แสนล้านบาท 

มองว่าปีนี้กลุ่มสื่อทีวี ที่ครองส่วนแบ่งงบโฆษณาสูงสุดสัดส่วน 60%  จะมีมูลค่า 71,000 เติบโต  8.4% โดยทีวีทุกประเภทจะกลับมาเติบโตได้  ประกอบด้วย ฟรีทีวีรายเดิม (ช่อง3,5,7,9) มูลค่า 43,000 ล้านบาท เติบโต 5% ,ทีวีดิจิทัล 25,000 ล้านบาท เติบโต 14.5% เคเบิลและทีวีดาวเทียม 3,000 ล้านบาท เติบโต 11.4% หลังจากปี 2560 สื่อฟรีทีวีและเคเบิลและทีวีดาวเทียม“ติดลบ” 

ขณะที่สื่อวิทยุ  มูลค่า 4,500  ล้านบาท  เติบโต 0.7% , หนังสือพิมพ์ มูลค่า 7,800  ล้านบาท เติบโต 1.2% ,นิตยสาร มูลค่า 1,900 ล้านบาท  ติดลบ 2.2% ซึ่งเป็นเพียงสื่อเดียว ที่มายด์แชร์ ประเมินติดลบในปีนี้ 

ทางด้านสื่อในโรงภาพยนตร์ มูลค่า 7,000 ล้านบาท  เติบโต 2.8% , ป้ายโฆษณา มูลค่า 7,000  ล้านบาท เติบโต 9.5%, สื่อเคลื่อนที่ มูลค่า 6,500  ล้านบาท เติบโต 10.8% ,สื่ออินสโตร์  มูลค่า 1,000  ล้านบาท เติบโต 5.7%

ส่วนสื่ออินเทอร์เน็ต ใช้ข้อมูลจาก สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) หรือ DAAT  โดยประเมินปีนี้ มูลค่า 12,465 ล้านบาท เติบโต 11.8%

“ปีนี้ประเมินโฆษณาทุกสื่อ น่าจะกลับมาเติบโตได้ ยกเว้นเพียงนิตยสาร ที่ยังติดลบแต่ด้วยอัตราที่ลดลง เพราะเห็นว่าสื่อสิ่งพิมพ์ ได้ชะลอตัวมาต่อเนื่อง อัตราการลดลงหลังจากนี้จะไม่สูงเท่าช่วงที่ผ่านมา”

ปัทมวรรณ กล่าวว่าปีนี้กลุ่มสื่อที่เม็ดเงินโฆษณาเติบโตได้โดดเด่น คือ สื่อออนไลน์  จากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยและผู้ครองครองสมาร์ทโฟน สัดส่วน 70% ของประชากรไทย  ส่งผลให้สื่อออนไลน์ และดิจิทัล แพลตฟอร์ม เป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารกับกลุ่มผู้บริโภคในปัจจุบัน    

ในขณะที่ “สื่อทีวี” ยังคงเป็นสื่อที่แข็งแกร่งจากอัตราการเข้าถึงครัวเรือนไทยทั่วประเทศ 100%  ซึ่งถูกขับเคลื่อนโดย “ทีวีดิจิทัล” ที่มีเรทติ้งรวม 4.9 ในปีที่ผ่านมา ขณะที่ฟรีทีวีรายเดิมเรทติ้งรวมอยู่ที่ 4.0 เนื่องจาก ทีวีดิจิทัล ช่องใหม่ในกลุ่มผู้นำ มีคอนเทนท์ที่โดดเด่นและดึงดูดผู้ชม ส่งผลให้เม็ดเงินโฆษณาในกลุ่มนี้เติบโตในปีที่ผ่านมาต่อเนื่องปีนี้ 

 

ชู‘ดิจิทัล’เจาะกลุ่มเป้าหมาย 

ด้วยจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน สัดส่วน 70% ของประชากรไทย ทำให้สื่อดิจิทัล เป็น“เครื่องมือ”สำคัญในการเข้าถึงผู้บริโภคในยุคนี้

ปัทมวรรณ กล่าวว่ารูปแบบการใช้การสื่อสารของสินค้าและแบรนด์ปัจจุบัน มุ่งไปที่ 2 สื่อหลัก คือ ทีวีและออนไลน์หรือสื่อดิจิทัล สะท้อนได้จากงบประมาณของทั้ง 2 สื่อ ที่อยู่ในอันดับ 1 และ 2 

จากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในอัตราสูง ซึ่งมีการใช้ในทุกเพศทุกวัย ส่งผลต่อพฤติกรรมผู้บริโภคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนั้นการวางแผนสื่อแบบเดิมจึงไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

มายด์แชร์ มองว่าวันนี้ “หมดยุค”การกำหนดกลุ่มเป้าหมายตามข้อมูลประชากร แต่เป็นสู่ยุคแห่งการกำหนดกลุ่มเป้าหมายตามข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลอัจฉริยะ ที่เป็นตัวกำหนดเป้าหมายได้เฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น โดยแบรนด์จะสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ ได้อย่างสอดคล้องกับพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค

ในยุคที่ผู้บริโภคใช้สื่อออนไลน์จำนวนมาก  นับเป็นโอกาสสำหรับแบรนด์ในการดึงดูดความสนใจและการมีส่วนร่วมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลและวิเคราะห์ข้อมูล ที่จะทำให้นักการตลาดสามารถปรับตัวและปรับเปลี่ยนการสื่อสารและกลยุทธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วยิ่งขึ้น

สำหรับเทรนด์ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนในปีนี้ การค้าขายบนโลกดิจิทัล กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีแพลตฟอร์มที่มากขึ้นและกลไกการชำระเงินที่ง่ายขึ้น โดยประเทศไทยได้ผ่านยุคของ“อีคอมเมิร์ซ” ไปสู่ “เอ็ม คอมเมิร์ซ”  และปัจจุบันคือยุคของ “โซเชียล คอมเมิร์ซ” 

ปัจจุบัน AI, Machine Learning, Bots ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป