BEM - ซื้อ

BEM - ซื้อ

ภาพการเติบโตชัดเจน และยังมีอัพไซด์

หลังจากงานประชุมกับผู้บริหาร BEM ที่เราจัดขึ้นในต้นสัปดาห์ เราสัมผัสได้ว่านักลงทุนมีมุมมองเชิงบวกต่อภาพการเติบโตของบริษัทโดยเฉพาะธุรกิจรถไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลต่อการต่อสัญญาสัมปทานทางด่วนอยู่บ้าง ทั้งนี้ดูเหมือนว่าตลาดคาดอย่างอนุรักษ์นิยมว่า BEM จะไม่สามารถต่อสัมปทานได้ ดังนั้นหากบริษัทสามารถต่อสัมปทานได้จะเป็นปัจจัยกระตุ้นราคาหุ้น อีกทั้งหนุนกำไรในระยะยาวด้วย

ธุรกิจระบบขนส่งทางราง – ปัจจัยสำคัญหนุนการเติบโต

ธุรกิจรถไฟฟ้าของ BEM รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน (IBL) ก้าวขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งหลังจากที่มีการเปิดสถานีเตาปูน เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2560 ซึ่งเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายสีม่วง หนุนให้มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้น IBL มีผู้ใช้บริการต่อวันเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 2.68 แสนเที่ยวก่อนที่สถานีเตาปูนจะเปิด มาเป็น 2.95 แสนเที่ยวในปี 2560 (สูงขึ้น 7.8% YoY เทียบกับเติบโต 5.1% YoY ในปี 2559) ขณะที่ในวันทำงานนั้น มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยอยู่ที่ 3.5 แสนเที่ยว/วัน

บริษัทตั้งเป้าอย่างอนุรักษ์นิยมว่าจะมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 4-5% ในปี 2561 คาดการเปิดรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-หลักสอง) ในเดือน ก.ย. 2562 และสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (เตาปูน-ท่าพระ) ในเดือน มี.ค. 2563 จะหนุนให้มีผู้ใช้บริการกว่า 5.5 แสนเที่ยว/วัน ในปี 2564 (เมื่อทุกเส้นทางเปิดให้บริการ) – ตัวเลขเติบโตกจากปี 2560 เกือบเท่าตัว นอกเหนือจากนี้ ค่าโดยสารคาดว่าจะปรับขึ้นในเดือน ก.ค. 2561 โดยใช้ CPI กรุงเทพฯ ที่ไม่รวมอาหารเป็นตัวพิจารณา มีกำหนดการปรับค่าโดยสารทุกๆสองปี –ปรับครั้งล่าสุดเมื่อเดือน ก.ค. 2559

ธุรกิจทางด่วน – เติบโตคงที่ แต่ยังมีอัพไซด์

ผลการดำเนินงานในธุรกิจทางด่วนยังคงเติบโตในระดับทรงตัวต่อเนื่องปริมาณการใช้ทางด่วนเฉลี่ยต่อวันเพิ่มขึ้น 2.9% YoY ในปี 2560 ใกล้เคียงกับที่เติบโต 3.2% YoY ในปี 2559 คาดตัวเลขดังกล่าวจะสูงขึ้น 1-2% ในปีนี้ หนุนโดยการใช้บริการทางด่วนศรีรัตน์-วงแหวนรอบนอก (SOE) ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (เปิดให้บริการเมื่อเดือนส.ค. 2560) โดยการใช้บริการทางด่วนสายดังกล่าวพุ่งขึ้น 25% YoY จาก 3.9 หมื่นทริปในปี 2559 มาเป็น 4.9 หมื่นทริปในปี 2560 เรามองว่าจะเติบโตต่อเนื่องเช่นนี้ไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปี ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้าจะมีผู้ใช้ SOE 8 หมื่นทริปในปี 2562

สำหรับสัมปทานทางด่วน SES ที่จะหมดอายุในปี 2563 นั้น BEM มีสิทธิที่จะต่อสัญญาระยะเวลา 10 ปี (ต่อได้สองครั้ง รวมเป็น 20 ปี) อย่างไรก็ตามการต่อสัญญาขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่าง BEM กับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (EXAT) BEM ได้ยื่นจดหมายแสดงเจตจำนงไปยัง EXAT เมื่อปี 2558 คาดว่าจะรู้ผลการเจรจาในปี 2562 ทั้งนี้ผู้บริหารมั่นใจว่า EXAT จะอนุมัติให้ BEM ต่อสัมปทาน

ธุรกิจพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ – ดาวรุ่ง

ธุรกิจพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของ BEM อันได้แก่ 1) บริหารพื้นที่โฆษณาในสถานีรถไฟฟ้าและบนรถไฟฟ้า MRT รวมถึงป้ายโฆษณานอกบ้านในแนวทางด่วน SES และ 2) บริหารพื้นที่ร้านค้าในสถานีรถไฟฟ้า MRT รวมถึงบนระบบทางด่วน SES (ให้บริการโทรคมนาคมด้วย) กำลังอยู่ในช่วงสร้างความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะการบริหารพื้นที่ร้านค้า บริษัทได้นำแบรนด์ที่เป็นแม่เหล็กดึงดูด – เช่น Starbucks, Gourmet Market, และ Dunkin’ Donuts – เข้ามาเปิดในสถานีรถไฟฟ้า MRT บางแห่งในปลายปี 2560 และมีแผนจะขยายต่อเนื่องในปีนี้ คาดรายได้จากหน่วยธุรกิจนี้จะเติบโตไปในทิศทางเดียวกับจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น และการเปิดสถานีใหม่ๆ

โอกาสสำหรับการเติบโตในอนาคต

นอกเหนือจากธุรกิจที่บริษัททำอยู่ในปัจจุบัน BEM ยังมีโอกาสในการเติบโตอีกมหาศาล ผู้บริหารมีแผนประมูลสัญญาดำเนินงานและซ่อมบำรุง (O&M) สำหรับรถไฟฟ้าสายสีม่วงส่วนต่อขยาย (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) และสายสีส้ม (ตะวันตก-ตะวันออก; ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) เนื่องจากบริษัทได้เปรียบทางการแข่งขันในหลายๆด้านการเป็นผู้ให้บริการดังกล่าวนั้น บริษัทจะสามารถใช้ระบบซ่อมบำรุงและอื่นๆที่มีในมือร่วมกันได้ อีกทั้ง BEM มีบุคลากรที่ชำนาญการอยู่แล้ว คาดจะมีการเปิดประมูลโครงการเหล่านี้ในปี 2561

สำหรับธุรกิจทางด่วน เนื่องจาก BEM เป็นบริษัทเอกชนที่ให้บริการทางด่วนรายใหญ่ที่สุด (เป็น 1 ใน 2 บริษัทที่มีสัมปทานทางด่วนในประเทศไทย) บริษัทมีแผนจะเข้าประมูลสัญญา O&M สำหรับมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (คาดจะมีการเปิดประมูลปลายปีนี้; กรมทางหลวงเป็นผู้รับผิดชอบ)

ขณะที่โอกาสสำหรับการพัฒนาธุรกิจสื่อโฆษณายังมีอีกมากเช่นกัน – การเปิดรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายจะทำให้มีสถานีเพิ่มขึ้นอีก 20 แห่ง และมีรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 35 ขบวน (จากปัจจุบันมี 18 สถานี และ 19 ขบวน) อีกทั้ง 16 สถานีของรถไฟฟ้าสายสีม่วงในปัจจุบันก็ยังเป็นโอกาสอีกมาก อย่างไรก็ตามสิทธิในการพัฒนาโฆษณาขึ้นกับการเจรจากับ รฟม.