ประธานหอฯขอนแก่น ชี้ 'ค่าแรงใหม่' แบ่งเขตง่ายแต่ไม่ยุติธรรม

ประธานหอฯขอนแก่น ชี้ 'ค่าแรงใหม่' แบ่งเขตง่ายแต่ไม่ยุติธรรม

ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น ชี้เห็นด้วยขึ้นค่าแรงแต่วิธีการแบ่งเขตแม้จะง่ายแต่ไม่ยุติธรรมกับผู้ประกอบการที่ยังอยู่ในภาวะตึง และขอให้รัฐแบ่งเบาภาระโดยใช้บัตรสวัสดิการสร้างแรงจูงใจ

เมื่อวันที่ 18 ม.ค.61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีการประกาศขึ้นค่าแรงใหม่ ที่จะมีผลในเดือนเมษายน โดยจังหวัดขอนแก่นปรับขึ้น จาก 308 บาท เป็น 320 บาทนั้น นายเข็มชาติ สมใจวงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง แต่ต้องเลือกประเภทธุรกิจ โดยจะใช้เป็นเขตแล้วมากำหนดนั้นง่ายแต่ไม่ยุติธรรม เพราะบางธุรกิจมีความสามารถที่จะรับได้ หลักการช่วยเหลืออาจจะแบ่งเป็นประเภทธุรกิจ เช่น รัฐบาลอยากจะสนับสนุนประเภทของธุรกิจบริการร้านอาหาร หรือการท่องเที่ยว ก็แรงจูงใจเยอะอาจจะเพิ่มให้มากกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ โดยให้ภาระอยู่ที่ผู้ประกอบการ และรัฐบาลคนละครึ่งโดยผ่านบัตรสวัสดิการ จะทำให้จูงใจมากกว่า

“รัฐบาลเพื่อเป็นการช่วยเหลือแรงงาน การช่วยแบ่งเบาภาระไม่จำเป็นต้องเพิ่มค่าแรงได้อย่างเดียว อาจเพิ่มโดยการให้สวัสดิการของรัฐโดยผ่านทางผู้ประกอบการ เช่น บัตรสวัสดิการ อาจจะ 3 เปอร์เซ็นต์ หรือ 10 -20 บาทที่เพิ่มมา รัฐอาจจะช่วยครึ่งหนึ่ง ผู้ประกอบการครึ่งหนึ่งในรูปของสวัสดิการ อาจจะนำตรงนี้ไปขึ้นรถเมล์ ไปลดค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าเล่าเรียนลูก น่าจะตรงกับนโยบายของรัฐบาล ภาระของผู้ประกอบการก็จะไม่เกิดขึ้นทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ น่าจะเป็นทางออกที่ดีแต่อาจจะยุ่งยากเรื่องการจัดการบ้างเล็กน้อย เรียกได้ว่า ให้แรงจูงใจให้กับผู้ใช้แรงงานจะเกิดประโยชน์โดยตรง และเป็นประโยชน์ทางการเมือง ชาวบ้านก็เห็นชัดเจน แต่ถ้าให้ประโยชน์ผ่านผู้ประกอบการ โดยให้ผู้ประกอบการแบกรับไปก่อน โดยลดภายหลัง ซึ่งตรงนี้ก็อาจจะผลทางการเมืองอาจจะไม่เห็นชัด” นายเข็มชาติ กล่าว

นายเข็มชาติ กล่าวว่า ที่สำคัญขอนแก่นเป็นธุรกิจบริการ ในส่วนของผลตอบแทนไม่ได้อยู่ที่ค่าจ้างอย่างเดียว มีสวัสดิการด้วย หมายถึงเงินพิเศษ เงินทิป มีผลพอสมควร ทั้งนี้ผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงได้ผ่านไปแล้วตั้งแต่ปรับเป็น 300 บาท ถ้าธุรกิจไหนใช้แรงงานเป็นหลักก็จะกระทบค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งก็ได้มีการขยับขยายไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่ปัจจัยที่สำคัญกว่าค่าแรงคือสิทธิประโยชน์ด้านภาษี มีผลเพราะว่าประเทศไทยถูกตัดไปแล้ว ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นมาหรือจะไม่เพิ่มก็ตาม จึงทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ที่เป็นแต้มต่อในการนำสินค้าเข้าได้สิทธิพิเศษ สินค้าหลายตัวกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้ารองเท้า หรือสินค้าอุตสาหกรรม ถ้าผลิตจากบ้านเราจะแพงกว่าประเทศเพื่อนบ้านกว่าร้อยละ 10 ซึ่งค่าแรงเป็นแค่สัดส่วนหนึ่งอาจจะแค่ 10-20 เปอร์เซ็นต์ ของต้นทุนทั้งหมด ปัจจัยเรื่องค่าแรงไม่ได้มีผลมาก แต่ในส่วนของผู้ประกอบการครั้งนี้ก็แค่ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ คิดว่าเป็นเรื่องของจิตวิทยามากกว่า ที่ทำให้ผู้ใช้แรงงาน มีความรู้สึกดี เปรียบเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ แต่สิ่งที่สำคัญต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ที่อยากให้ควบคู่ไปด้วย

“เราปรับตามกฎหมายแต่ไม่ยุติธรรมในเรื่องโครงสร้างของแรงงาน พอขั้นต่ำคนที่ไม่มีทักษะ ไม่มีความรู้ก็ได้ 300 บาท ส่วนคนที่มีประสบการณ์ มีความรู้มาแล้วทำงานมาก่อน มีวุฒิการศึกษา ได้มากกว่า 300 บาทแค่นิดเดียว คนเริ่มต้นตอนนี้ได้เงินเดือนขั้นต่ำกว่า 9,000 บาท แต่คนที่อยู่มา 5 ปี 7 ปี อาจจะได้หมื่นต้นๆ ถือเป็นผลเสียเพราขาดแรงจูงใจคนที่ทำงานมาก่อนทำให้เกิดเฉื่อยลง” นายเข็มชาติ กล่าว