ยกระดับสิ่งทออีสานด้วย‘นวัตกรรม ’

ยกระดับสิ่งทออีสานด้วย‘นวัตกรรม ’

‘คัลเลอร์ ไอดี เลเบลลิง’ มาตรฐานสี บ่งบอกที่มาสามารถนำมาเชื่อมโยง คิวอาร์ โค้ด และเออาร์ โค้ด เพื่อสร้างสตอรี่ ,วัสดุเส้นใยใหม่ที่ย้อมสีจากดอกบัวแดง จ.อุดรธานี, การนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับสิ่งทอเพื่อยกระดับสู่เวทีโลก


‘คัลเลอร์ ไอดี เลเบลลิง’ มาตรฐานสี บ่งบอกที่มาสามารถนำมาเชื่อมโยง คิวอาร์ โค้ด และเออาร์ โค้ด เพื่อสร้างสตอรี่ ,วัสดุเส้นใยใหม่ที่ย้อมสีจากดอกบัวแดง จ.อุดรธานี, การนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับสิ่งทอเพื่อตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ คือเป้าหมายของโครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าทออีสานด้วยนวัตกรรม ปี 2561 ที่กระทรวงวิทย์ฯ จับมือกับสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และม.เทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ต้องการยกระดับผ้าทอภาคอีสานสู่เวทีโลก


:ถ่ายทอดเทคโนโลยีสร้างคุณค่า&มูลค่า

ปัญหาในการอนุรักษ์และสืบทอดศิลปะผ้าไทยโดยเฉพาะในภาคอีสานที่มีเอกลักษณะเฉพาะตัวและประวัติยาวนาน ซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณ จนทุกวันนี้ คือ ‘ราคา’ ถูกลงเนื่องจากขาดการพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำมานาน จึงเป็นที่มาของการบูรณาการความร่วมมือจาก3หน่วยงานในการผลักดันให้สิ่งทอในอีสานมีมูลค่าเพิ่มขึ้น10% ด้วยการถ่ายทอดนวัตกรรมด้านสิ่งทอสู่ผู้ประกอบการชุมชนและผู้ประกอบการรายย่อยใน 10 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ สกลนคร นครพนม มุกดาหาร ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ขอนแก่น อุดรธานี กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าทออีสานสู่สากล ครบวงจรทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้กับกลุ่มเป้าหมายจำนวน 50 กลุ่ม 500 ราย 100 ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ


“ เป้าหมายของโครงการคือการยกระดับสิ่งทอในภาคอีสานนำร่อง10 จังหวัด โดยเริ่มโครงการตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ย.2561 ภายใต้งบดำเนินการ 16-17 ล้านบาท คาดว่าจะทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้สูงขึ้น20% เพราะราคาของผลิตภัณฑ์สิ่งทอขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของผู้บริโภค หากคุณภาพวัตถุดิบดี ดีไซน์สวย ฟังก์ชั่นการใช้งานตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ ลูกค้ายอมจ่าย แม้ราคาจะสูงขึ้น  ”นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ


นางอุมาพร สุขม่วง อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ กล่าวว่า จะนำนวัตกรรมพร้อมใช้เข้าไปร่วมส่งเสริมผู้ประกอบการ ทั้งด้าน คัลเลอร์ ไอดี เลเบลลิงเพื่อทำให้ทราบที่มาการย้อมสีธรรมชาติ และการสร้างมาตรฐานสี พร้อมกับการส่งเสริมเทคโนโลยี คิวอาร์ โค้ด และเออาร์ โค้ด เพื่อช่วยในการสร้างเรื่องราวผลิตภัณฑ์ เพื่อบอกเล่าถึงวัตถุดิบและความพิถีพิถันในการทำให้ผู้บริโภครู้สึกมีส่วนร่วม โดยจะได้รับการสนับสนุนผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการออกแบบ นักการตลาด ที่มีประสบการณ์ทำงานกับ อเมริกัน ปารีส อะคาเดมี และผู้จัดการแบรนด์ของคลับ21 มาเป็นที่ปรึกษาพัฒนาการดีไซน์ของผ้าทอไทย ให้ก้าวสู่ผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียม


:ดีไซน์ลวดลาย ฟังก์ชั่นตอบโจทย์ลูกค้า

ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ผ้าทออีสานไม่สามารถพัฒนาไปได้ไกลส่วนหนึ่งเกิดจาการขาดความหลากหลายของวัตถุดิบคือ เส้นใย ทำให้ไม่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายและไม่มีจุดขายที่แตกต่างกันออกมานำเสนอผู้บริโภคที่ปัจจุบันพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไปทุกปีเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมสิ่งทอ ฉะนั้นต้องพยายามให้ผู้ประกอบการ ชาวบ้านในพื้นที่แต่ละแห่งปรับตัวด้วยการทอผ้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าไม่ใช่ทอผ้าอย่างที่ตนเองชอบหรือว่าคุ้นเคยเหมือนในอดีต
ด้วยการนำความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ร่วมกับการออกแบบในเชิงสร้างสรรค์ ผสมผสานวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น อัตลักษณ์ของจังหวัด เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ผ้าทออีสานให้มีรูปแบบมาตรฐานสากลร่วมสมัย


" แนวทางการพัฒนาวัสดุเส้นใยใหม่ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ผ้าฝ้ายและผ้าไหม สามารถนำวัสดุเส้นใยธรรมชาติ ที่จะตอบสนองต่อการใช้งานที่หลากหลาย ยกตัวอย่างการย้อมสีจากดอกบัวแดงจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต การถ่ายทอดความรู้ในการเลือกใช้วัสดุเส้นใยใหม่ๆ หรือการทำให้ผ้ามีคุณสมบัติพิเศษเพิ่มขึ้น เช่น การตกแต่งสะท้อนน้ำ การเพิ่มกลิ่นหอม ผ้าป้องกันรังสียูวี ผ้าที่ซักล้างสิ่งสกปรกออกง่าย ผ้าที่มีสมบัติต้านเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น แต่ยังคงเอกลักษณ์ของผ้าทอในจังหวัดนั้นๆ