ศธ.สอบอีก 4 ร.ร.ผู้ปกครองร้องรับแป๊ะเจี้ยะ

ศธ.สอบอีก 4 ร.ร.ผู้ปกครองร้องรับแป๊ะเจี้ยะ

"หมอธี" เผยตรวจสอบร.ร.อีก 3-4 แห่งผู้ปกครองร้องรับแป๊ะเจี้ยะ ย้ำรับนักเรียนปี 61 ต้องโปร่งใสทำตามกติกา

เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2561 นพ.ธีระเกียรติ  เจริญเศรษฐศิลป์  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาทุจริต ว่า ที่ประชุมมีการติดตามความคืบหน้าการตรวจสอบปัญหาทุจริตในหลายเรื่อง ทั้งที่เป็นเรื่องภายในที่ ศธ.ตรวจสอบเอง และที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่นๆ โดยเฉพาะเรื่องการรับนักเรียน ที่มีการร้องเรียนการเรียกรับเงินแลกเข้าเรียน หรือ แป๊ะเจี้ยะ ซึ่งที่ผ่านมามีกรณีของโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กรณีผู้ปกครองเผยแพร่คลิปผู้บริหารโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย เรียกรับเงิน 4 แสนบาท เพื่อรับเด็กเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่1 เมื่อปีการศึกษา 2560 ที่ผ่านมา มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง นายวิโรฒ สำรวล ผู้อำนวยการโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย รองผอ.โรงเรียนสามเสนฯ และครู 1 ราย ซึ่งได้รายงานเบื้องต้นว่าทั้ง 3 ราย ผิดวินัยร้ายแรง แต่เพื่อความเป็นธรรมต้องให้สิทธิในการชี้แจงข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน

ขณะเดียวกัน ยังอยู่ระหว่างตรวจสอบโรงเรียนอื่น ประมาณ 3-4 แห่ง ที่มีผู้ปกครองร้องเรียนเรื่องการเรียนรับแป๊ะเจี๊ยะเช่นกันแต่ยังไม่ขอเปิดเผยข้อมูล ซึ่งไม่ได้อยากจะพูดถึงโรงเรียนสามเสนฯเป็นการเฉพาะ และอีกประมาณ 2 เดือนจะถึงช่วงการรับเด็กเข้าเรียนปีการศึกษา 2561 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)ก็ได้มีการเตรียมมาตรการไว้แล้ว

“ผมก็ประกาศชัดเจนทั้งสาธารณะและภายใน ทำให้ดูเป็นตัวไม่ต้องมาฝากกับผม ผมไม่เคยรับฝากแม้แต่คนเดียว ได้กำชับ สพฐ.แล้วว่าทุกอย่างต้องทำตามกติกา ทุกอย่างโปร่งใสและถูกต้อง ซึ่งในที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็ได้อธิบายชัดเจนว่ากรณีร.ร.สามเสนฯ เงินที่รับมาเป็นเงินแผ่นดิน ก็ต้องมีใบเสร็จ  มีคณะกรรมการรับ มีวัตถุประสงค์การรับเงินและการนำไปใช้ เพราะฉะนั้น ผมเตือนยุคนี้ใครที่คิดจะไปทำอะไรลับหลังเป็นเรื่องยาก และที่ผ่านก็เป็นตัวอย่างให้เรียนรู้”นพ.ธีระเกียรติ กล่าว   

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า จากนี้ต่อไปเพื่อให้การดำเนินการสอบสวนเรื่องต่าง ๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว ให้นโยบายว่าต่อไปสิ่งที่ต้องทำเป็นอัตโนมัติ  เวลามีการตรวจสอบการทุจริต  หรือข้าราชการทำผิดระเบียบ เช่น การรับเงินแป๊ะเจี๊ยะ การทุจริตสอบครูผู้ช่วย เป็นต้น จะส่งเรื่องให้ทาง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)ดำเนินการสอบสวนคู่ขนานกันไป ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ารอให้กระบวนการสอบสวนวินัยเสร็จสิ้นจึงจะส่งเรื่องให้ ทำให้การดำเนินการต่าง ๆ เกิดความล่าช้า ซึ่งผู้แทนของป.ป.ช. แจ้งว่าทำได้โดยอัตโนมัติ ในส่วนของปปง.ถ้ามีการสอบสวนแล้วพบว่า มีการเรียกรับเงิน หรือมีโครงการใดๆ เกิดขึ้น แล้วมีมูลในขั้นการสืบสวนข้อเท็จจริง สามารถส่งให้ปปง.เข้ามาสืบสวนได้ทันที  เร็วๆนี้ ผมจะไปพบกับเลขาธิการ ปปง. ด้วยตัวเองเพื่อหารือและทำข้อตกลงร่วมกัน และจะขอให้มีการออกระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจน

นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า ที่ประชุมยังได้หารือกรณีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ส่งเรื่อง ศธ. ตรวจสอบ กรณีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 15 (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา)ใช้เงินงบประมาณเหลือจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 62 ล้านบาท ก่อสร้างหลังคาคลุมลานอเนกประสงค์ของ 11 โรงเรียนในพื้นที่ 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และยังมีโรงเรียนในโครงการสานฝันการกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ จำนวน 4 แห่งนั้น สตง.แจ้งเพิ่มเติมว่าน่าจะมีการตรวจสอบโครงการในลักษณะเดียวกันของพื้นที่อื่นด้วย

ส่วนคืบหน้ากรณีโครงการก่อสร้างสนามฟุตซอล เบื้องต้นในระดับสพฐ. ครูที่ตรวจรับถือว่า ผิดวินัยไม่ร้ายแรง อย่างไรก็ตาม โครงการนี้เกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย ทั้งนักการเมือง ผู้บริหารระดับสูง การดำเนินการต้องใช้เวลาจึงเป็นสาเหตุที่ล่าช้าและขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปข้อมูลได้ เพราะส่วนใหญ่ยังอยู่ในกระบวนการสืบสวนฯ ยังไม่จบ ซึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับ ศธ.ที่ประชุมได้เร่งรัดให้ติดตามเรื่องดังกล่าว

นพ.ธีระเกียรติ  กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ มีข้อเสนอจากหน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมทั้ง สตง.  ป.ป.ช. ปปง. ผู้ตรวจการแผ่นดินว่าเรื่องสำคัญควรมีคนเกาะติด ซึ่งศธ. ดำเนินการอยู่ โดยมอบ พล.ท.โกศล  ประทุมชาติ ที่ปรึกษารมว.ศึกษาธิการ รับผิดชอบทำให้การสอบสวนต่าง ๆ เป็นไปอย่างรวดเร็ว เช่น กรณีตรวจสอบการดำเนินโครงการติดตั้งระบบกล้องวงจรปิดหรือซีซีทีวี  ในโครงการSafe Zone School 12 เขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะนี้ได้ส่งให้พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้ว