‘ฟรุตซิโอ’อิงวิทย์ฯ ยืดอายุ-แก้สินค้าล้นตลาด

‘ฟรุตซิโอ’อิงวิทย์ฯ  ยืดอายุ-แก้สินค้าล้นตลาด

มะนาวผงและสับปะรดผงพร้อมชงดื่ม เป็นอีกหนึ่งความพยายามแก้ปัญหาโลกแตกของเกษตรกรชาวสวนในเรื่องผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ โดยต่อยอดองค์ความรู้จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

มะนาวผงและสับปะรดผงพร้อมชงดื่ม เป็นอีกหนึ่งความพยายามแก้ปัญหาโลกแตกของเกษตรกรชาวสวนในเรื่องผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ โดยต่อยอดองค์ความรู้จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ผลิตสินค้าป้อนตลาดในประเทศและต่างประเทศ เดินหน้าแตกไลน์ผลิตภัณฑ์เค้กไส้สับปะรด และลูกอม หวังขยายฐานลูกค้า


แปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่ม

จากพื้นเพเป็นคนประจวบคีรีขันธ์ ครอบครัวทำธุรกิจร้านอาหารริมเล มานานหลายปีทำให้ “รักษ์ษิวัลย์ เปียประดิษฐ์” มองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นคือ บางช่วงมะนาว ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการปรุงอาหารมีราคาแพงถึงลูกละ 8-10 บาท จึงคิดหาวิธียืดอายุการเก็บรักษามะนาวให้อยู่ได้นานขึ้น โดยได้ศึกษาข้อมูลพบว่า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ มีงานวิจัยที่เกี่ยวข้องและพร้อมที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยี


เธอนำโจทย์ความต้องการเข้ามาปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ วว.และรับการถ่ายทอดงานวิจัยดังกล่าวเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งขณะนั้นในตลาดยังไม่มีผลิตภัณฑ์แปรรูปน้ำมะนาวให้สามารถเก็บไว้ได้นาน โดยที่ยังคงรสชาติและกลิ่นหอมตามธรรมชาติ หลังจากรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว ก็ใช้วิธีว่าจ้างโรงงานผลิตมะนาวผงได้ 2 ปี เพื่อใช้ภายในร้านและจำหน่ายให้กับร้านอาหารทั่วไป ปรากฏว่า ผลตอบรับดีมาก ทำให้ยอดการสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจำนวนมาก


จึงตัดสินใจสร้างโรงงานและซื้อเครื่องจักรทำแห้งแบบพ่นฝอย หรือเครื่องทำแห้งแบบพ่นกระจาย (spray dryer) มาแปรรูปน้ำมะนาว มีกำลังผลิตเฉลี่ยวันละ 1 ตัน หรือเดือนละ 30 ตัน นอกจากจะมีออเดอร์จากร้านอาหารในไทยแล้วยังส่งออกต่างประเทศด้วยใน สัดส่วนมากถึง 60% ของกำลังการผลิต ตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา แคนนาดา ออสเตรเลีย หลังจากลงทุนตั้งโรงงานก็สามารถคืนทุนภายใน 3 ปีเท่านั้น


ทั้งนี้ การอบแห้งแบบพ่นฝอยสำหรับแปรรูปวัตถุดิบที่มีลักษณะเป็นของเหลวให้เป็นผงแห้ง โดยการฉีดฝอยของเหลวให้กระจายเป็นละอองฝอยในถังอบลมร้อน เมื่อละอองฝอยได้รับความร้อนก็จะระเหยกลายเป็นผงแห้ง ตกลงมาด้านล่างของตัวถัง และถูกดูดนำไปดักเก็บไว้ด้วยไซโคลน และถังเก็บใต้ไซโคลน โดยของเหลวแต่ละชนิดจะใช้อุณหภูมิต่างกัน จึงต้องผ่านการศึกษาวิจัยเรื่องที่จะรักษาคุณค่าทางสารอาหารและความเป็นธรรมชาติให้ได้มากที่สุด


รักษ์ษิวัลย์ กล่าวว่า เหตุที่กล้าตัดสินใจลงทุน ส่วนหนึ่งเพราะแรงบันดาลใจในการแก้ปัญหาและมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ หลังจากได้เข้าอบรมในโครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ (NEC) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม อีกทั้งเวลานั้นยังไม่มีผลิตภัณฑ์เดียวกันนี้ในตลาด ทำให้ลงทุนซื้องานวิจัยเพื่อนำมาต่อยอดกระทั่งประสบความสำเร็จ โดยสร้างรายได้อย่างต่อเนื่องประมาณเดือนละ 1 ล้านบาท
จากนั้น 5 ปีถัดมาได้ต่อยอดทำสับปะรดผงพร้อมชงดื่มแบบทรีอินวัน เนื่องจากโรงงานอยู่ในประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นแหล่งปลูกสับปะรดและแทบทุกปีจะมีปัญหาสินค้าล้นตลาด จึงสนใจมาแปรรูปเป็นผงในชื่อแบรนด์ฟรุตซิโอ (Fruitzio) กลุ่มเป้าหมายหลักคือ โรงแรมในจังหวัด


ตอบโจทย์ร้าน-อุตฯ อาหาร

แนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพ ทำให้ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากมะนาวและสับปะรดได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะนอกจากเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติแล้ว ยังสามารถนำไปปรุงรสชาติอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ เมื่อคืนรูปจะได้น้ำมะนาว น้ำสับปะรดที่มีรสชาติตามธรรมชาติ ทั้งยังให้ความสดชื่นกับผู้ดื่ม


ปัจจุบันพยายามหาตัวแทนจำหน่ายเพื่อขยายฐานลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ที่นำไปใช้ปรุงรสให้กับซอส แยม ฯลฯ หรือผสมลงไปในผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มรสชาติ นอกจากนี้ เธอยังได้พัฒนาเค้กไส้สับปะรดและลูกอมสับปะรดออกมาวางจำหน่ายอีกด้วย โดยมีเป้าหมายที่ขยายและแตกไลน์ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับมะนาวและ สับปะรดแปรรูปให้คอบคลุมมากที่สุด เพื่อขยายฐานลูกค้ารายย่อยและโรงงานผลิตทั้งในประเทศและต่างประเทศ


“จากประสบการณ์พบว่า คนส่วนใหญ่คิดแต่ไม่กล้าทำจึงไม่ประสบความสำเร็จ จึงอยากแนะนำ ให้ทุกคนกล้าคิดกล้าทำ ลองลงมือทำอย่าแค่คิดอย่างเดียวทำให้ได้ประสบการณ์มาต่อยอดในอนาคต ไม่มีอะไรที่ไม่เสี่ยงทุกอย่างมีความเสี่ยงแต่ต้องทำอย่างมีสติ รอบคอบและมีข้อมูลมาสนับสนุนก่อนตัดสินใจลงทุน” รักษ์ษิวัลย์ กล่าว