เลี้ยง 'ไก่พื้นเมือง' โจทย์วิจัย..เพื่อความมั่นคงทางอาหารในชุมชน?

เลี้ยง 'ไก่พื้นเมือง' โจทย์วิจัย..เพื่อความมั่นคงทางอาหารในชุมชน?

ลุยลงพื้นที่! เจาะการเลี้ยงไก่พื้นเมือง "พันธุ์ประดู่หางดำ" โจทย์วิจัย "สกว." หนุนความมั่นคงทางอาหารในชุมชน และสร้างความหลากหลายทางชีวภาพของไก่ไทย

การอนุรักษ์พันธุ์ไก่พื้นเมืองของไทย และขยายการผลิตในเชิงพาณิชย์ได้อย่างคุ้มค่า ซึ่งเป็นเรื่องน่าสนับสนุนมุ่งหวังให้เกษตรกรมีรายได้ และสามารถสร้างความหลากหลายทางชีวภาพของไก่ไทยด้วย

รศ.ดร.ประภาพร ขอไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ( สกว.)และ รศ.ดร.ศิริพร กิรติการกุล นักวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมกับกรมปศุสัตว์ จังหวัดเชียงราย เข้าเยี่ยมกลุ่มเกษตรกรเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย โครงการพัฒนาระบบการสร้างอาชีพการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำ สู่มาตรฐานฟาร์มและโอกาสทางการเกษตรที่ยั่งยืน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ เป็นต้นแบบของการสร้างอาชีพสู่ชุมชน

1

ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ( สกว.) กล่าวว่า จากการเริ่มต้นโครงการฯ ได้ส่งเสริมให้ไก่พื้นเมืองเป็นความมั่นคงของอาหารในชุมชน ซึ่งไก่ปกติที่เลี้ยงอยู่เป็นไก่ที่ได้พ่อแม่พันธุ์ที่ต้องจัดซื้อ เมื่อไรก็ตามที่ทางต่างประเทศไม่ขาย แล้วเราจะเอาไก่ที่ไหนมารับประทานก็เลยเป็นที่มาของการคัดเลือกพันธุ์ไก่พื้นเมืองที่มีอยู่ในประเทศ ที่จะสามารถนำมาขยายเป็นอาชีพได้

“ เป้าหมายอันดับแรกก็คือความมั่นคงอาหารของชุมชน หลังจากนั้นก็จะพัฒนาขึ้นมาให้เป็นเศรษฐกิจของชุมชน เพื่อเป็นแหล่งรายได้และการพัฒนาอาชีพ ดังนั้นการพัฒนาอาชีพก็ต้องใช้การเลี้ยงที่เป็นระบบมากยิ่งขึ้น ”รศ.ดร.ประภาพร กล่าว

ทั้งนี้ได้ความร่วมมือจากกรมปศุสัตว์ ตั้งแต่การพัฒนาพันธุ์จริงๆ มีการพัฒนาพันธุ์อยู่ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ประดู่หางดำ พันธุ์เหลืองหางขาว พันธุ์ชี และพันธุ์แดง



ความคาดหวัง เพื่อพัฒนาชุมชน

นสพ.สุพล ปานพาน นักวิชาการสัตวบาลชำนาญการ ปศุสัตว์ อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย นักวิจัยและหัวหน้าโครงการ กล่าวว่า การเริ่มต้นโครงการผลิตไก่ประดู่หางดำ ในปีแรกได้ให้เกษตรกรทำการเลี้ยงไก่ไว้หลังบ้าน พอเลี้ยงได้ถึงระยะหนึ่งไก่เกิดไม่ตายและมีจำนวนเพิ่มมากยิ่งขึ้น จึงต้องมีการหาที่ขายและจำหน่าย เริ่มตั้งแต่ปี 2555 – 2556 จนขยายพื้นที่เลี้ยงไก่เยอะมากขึ้น จึงตัดสินใจชวนทีมทำโรงฆ่าที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยให้กรมปศุสัตว์และทีมงาน คณะกรรมการมาตรวจผ่านและได้รับใบอนุญาตเมื่อปีที่แล้ว

จากนั้นได้มีการส่งเสริมการตลาดที่จะทำให้สินค้าของเราเอาไปวางขายตามห้างสรรพสินค้าได้ แต่ยังมีบางช่วงที่สินค้าเยอะจนเกินไป เราก็ต้องมีการพัฒนารูปแบบของสินค้าให้มากขึ้น  ในเรื่องของการเลี้ยงมีการพัฒนามาแล้ว 2 – 3 ปี เกษตรกรก็พอมีความรู้และสามารถเลี้ยงไก่ได้อย่างต่อเนื่อง กรมปศุสัตว์ก็ได้มีการสนับสนุนในเรื่องของการฉีดวัคซีน และให้ความรู้เกี่ยวกับการเรียนเป็นอย่างดี

2

 นสพ.สุพลยังกล่าวต่ออีกว่า ถ้ากล่าวถึงในเรื่องของอุปสรรคของเกษตรกร อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย ได้แก่ เกษตรกรของเรามีแต่ผู้สูงอายุ การที่จะพัฒนาหรือต่อยอดเลยเป็นไปได้น้อย เลี้ยงไก่ได้เท่าที่ทำได้ และมีความผูกพันกับไก่จึงไม่ยอมขาย ส่วนอีกปัญหาก็คือ ปัญหาการตลาด แต่ก็มีการแก้ไขปัญหาโดยให้เกษตรกร ทำปฏิทินการเลี้ยง เช่นถ้าขายไม่ดีจะต้องลดการเลี้ยงไก่ลง จนถึงเดือนมกราคม ถึงเดือนเมษายน ถึงจะสามารถขายได้เหมือนเดิม

ส่วนในเรื่องของความคาดหวังตั้งใจให้ไก่ประดู่หางดำเป็นเอกลักษณ์ของอำเภอเชียงรุ้งในอนาคต ต้องมีบ้านต้นแบบที่เวลาใครต้องการจะหาซื้อสามารถมาติดต่อขอซื้อได้ที่บ้านหลังนั้น แต่ตอนนี้ก็ดีใจแล้วที่เกษตรกรอำเภอเวียงเชียงรุ้งเลี้ยงไก่แล้วไม่ตาย ขายและได้โรงฆ่ามา และมีผู้สนับสนุน

นายณรงค์  วีรารักษ์ นักวิชาการสัตวบาลชำนาญการ ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่ กรมปศุสัตว์ กล่าวว่า โครงการได้มีการจัดตั้งมา 4 ปี แล้ว ซึ่งในปีแรก เราเน้นรวมกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงไก่ตามธรรมชาติ ให้มีมาตรฐานฟาร์มเป็นหลัก ปีที่สองเรามีการเพิ่มมาตรฐานโรงฆ่าเนื่องจากการชำแหละ และการจัดจำหน่ายไก่ ทางกรมปศุสัตว์เองก็เน้นเรื่องมาตรฐานโรงฆ่า ในปีที่สาม เราเริ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อแก้ไขปัญหาการเลี้ยงไก่เพราะบางช่วงที่จะมีปริมาณความต้องการของตลาดลดลง จึงต้องมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อแก้ไขปัญหาในการที่จะถนอมอาหาร ถนอมวัตถุดิบ ถนอมไก่ไว้เพื่อจัดจำหน่ายในช่วงเทศกาลแทน

โดยปัจจุบัน จะเน้นทำเรื่องผลิตภัณฑ์รูปแบบแปรรูปอย่างเต็มที่ เพื่อเพิ่มมูลค่าและผลิตให้แก่ชุมชน ตรงนี้ก็จะเป็นตัวอย่างหนึ่งที่จะทำให้ความร่วมมือกับเครือข่ายในอำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย เพื่อที่จะมาพัฒนาไก่ประดู่หางดำ

การวางแผนเลี้ยงไก่ประดู่หางดำ

นายมรุต ชโลธร ผู้ประกอบการ กล่าวว่าด้วยความที่ไก่ไม่ธรรมดา บวกกับต้นทุนค่อนข้างสูง จะเห็นได้ว่าความเสี่ยงเริ่มตั้งแต่การปลอดเคมี ปลอดสาร การเลี้ยงโดยธรรมชาติ หลายคนคิดว่าต้นทุนภายนอกอาจจะถูก แต่ความเสี่ยงต่างๆ คือต้นทุนที่แพงมาก หมายความว่าถ้าไปขายตามตลาด อำนาจการต่อรอง อำนาจการแข่งขันเราไม่มี แต่เครื่องมือสุดท้าย ที่จะสามารถเชื่อมโยงสู่ตลาดที่แท้จริง คือต้องไปอยู่ในตลาดที่มีความต้องการที่แท้จริง เราไม่ได้บอกว่าเราจะทำให้ราคามันสูงแต่ของที่มีคุณภาพในระดับหนึ่ง ก็ควรที่จะไปขายให้กับคนที่เห็นคุณค่าที่แท้จริง

3

นายประสงค์ อุ่นติ๊บ อายุ 28 ปี เกษตรกรเลี้ยงไก่ลูกผสม ประดู่หางดำและโรดไทย บ้านเหล่า ตำบลทุ่งก่อ อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ตนได้เรียนจบทางด้านคอมพิวเตอร์ธุรกิจ มีอาชีพหลักขายส่งน้ำเต้าหู้ ได้ทำการเลี้ยงไก่มาได้ 2 ปี แล้วซึ่งทำเป็นอาชีพเสริม เริ่มต้นของการเลี้ยง มีพ่อพันธุ์ 6 ตัว และมีแม่พันธุ์ 110 ตัว ซึ่งตอนนี้ตนกำลังจัดหาพ่อพันธุ์เพิ่ม เนื่องจากยังไม่พอต่อจำนวนไก่ที่เลี้ยงอยู่ เพราะตามความเป็นจริง ต้องมีแม่พันธุ์ 10 ตัว ต่อ พ่อพันธุ์ 1 ตัว หรือ 10 ต่อ 1

เหตุผลที่ตัดสินใจทำอาชีพเกษตรกรเลี้ยงไก่ประดู่หางดำนั่น นายประสงค์ เล่าว่า ตนเคยเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมืองมาก่อน ปัญหาในช่วงแรกที่เริ่มทำ มีปัญหาเรื่องโรคระบาด มีการแก้ปัญหาโดยถ้าตัวไหนมีอาการป่วย ก็จะจับแยกออกมาและทำความสะอาดเล้าไก่ อีกทั้งมีน้ำยาล้างเท้าก่อนเข้าไปในเล้า มีการฉีดวัคซีนเองทุก 3 เดือน โดยมีสัตว์แพทย์มาสอนในระยะเริ่มต้น

4

ทั้งนี้ นายประสงค์ ได้เข้าร่วมโครงการมาได้ 1 ปี เพิ่งทำการเลี้ยงไก่ประดู่หางดำได้ 3 เดือน ระหว่างเข้าโครงการก็ได้เข้าอบรมและไปดูงานในสถานที่จริง ได้รายได้เสริมได้ประสบการณ์และในอนาคตมีการวางแผนว่าจะทำอาหารสำหรับไก่ที่เกิดจากธรรมชาติเอง

นายสุรพงศ์ มณีวรรณ อายุ 33 ปี เกษตรกรเลี้ยงไก่ประดู่หางดำ บ้านเหล่า ตำบลทุ่งก่อ อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ได้ทำอาชีพเลี้ยงไก่เป็นอาชีพหลัก และทำงานบริษัทแห่งหนึ่ง เป็นอาชีพเสริม ได้ทำการเลี้ยงไก่ 10 ตัว ต่อตัวผู้ 1 ตัว ในอนาคตก็จะทำเป็น GFM ทั้งหมด นำแม่พันธุ์มาจากเกษตรกร เก็บไข่ได้อาทิตย์ละ 70 ฟอง อนาคตต้องการปล่อยลูกไก่ อย่างน้อยอาทิตย์ละ 400 ตัว ตอนนี้มีแม่พันธุ์ทั้งหมด 30 ตัว พ่อพันธุ์ 4 ตัว แต่ความจริงแล้วต้องใช้ 1 ต่อ 10 ถึงจะเหมาะสม แม่พันธ์ต้องมีอายุ 5 เดือน พ่อพันธุ์ต้องมีอายุ 6 เดือน ปัจจุบันมีพื้นที่เลี้ยงไก่เกือบ 2 งาน ทุกอย่างเพิ่งมีการเริ่มต้นและได้มีการวางแผน จะขยายไปยังพื้นที่ ที่มีอยู่อีก

ส่งเสริมเกษตรกรให้มีคุณภาพ พึ่งพาตนเองได้

รศ.ดร.ศิริพร กิรติการกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ผู้ประสานงานโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ไก่หางดำแบบครบวงจร ณ บ้านห้วยห้าง อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ประดู่หางดำเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่กรมปศุสัตว์เข้าร่วมโครงการกับ ( สกว. ) มาตั้งแต่ 10 ปีที่แล้ว ได้นำพันธุ์มาใช้ประโยชน์ให้กับเกษตรกร ในเรื่องของระบบการเลี้ยงที่จะต้องใช้อาหารจากธรรมชาติก็คืออาหารในพื้นที่ เช่น อำเภอเวียงเชียงรุ้ง เป็นแหล่งของ  มันสำปะหลัง ข้าวโพด เราก็จะให้เกษตรกรใช้อาหารในพื้นที่ในการเลี้ยงไก่

และระบบการเลี้ยงต้องได้มาตรฐาน เช่น มาตรฐานฟาร์มไก่พื้นเมือง ซึ่งกรมปศุสัตว์ได้สร้างมาตรฐานสำหรับเกษตรกรรายย่อย ซึ่งคำว่า มาตรฐาน เป็นองค์ประกอบสำคัญในอาชีพ และลดความเสี่ยงของโรคพร้อมสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคว่าสิ่งที่เขาจะรับประทานเข้าไป มีความปลอดภัยอย่างไร ในขณะเดียวมาตรฐานเหล่านี้มาบวกด้วยภูมิปัญญาของชาวบ้าน เช่น การทำพืชอาหารหมัก จะทำให้เกิดจุดเด่นหรือผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างในเชิงภูมิศาสตร์ ว่าอาหารแบบนี้มาสู่วัฒนธรรมและภูมิปัญญาในเรื่องของอาหารหมักในชุมชน

26981779_1652746871453314_404837570_o

รศ.ดร.ศิริพร กล่าวต่อว่า องค์ประกอบสำคัญของการสร้างอาชีพไก่ ต้องมี 4 ส่วน คือ 1.การจัดการพันธุ์ที่ดี 2.ในเรื่องของอาหาร ต้องพึ่งพาตนเองด้านอาหารสำหรับการเลี้ยงไก่ เช่นภูมิปัญญาการผลิตอาหารหมัก 3.มีการจัดการฟาร์มภายใต้มาตรฐานไก่พื้นเมืองของกรมปศุสัตว์  4.มีการตลาดรองรับ  การสร้างอาชีพไก่ต้องเป็นระบบ 4 องค์ประกอบ และเกษตรกรต้องรวมตัวกัน 10 – 30 คน หรือ 50 คน โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีการตั้งกลุ่มเกิดขึ้น เพราะถ้าทำคนเดียวอาจไม่ประสบความสำเร็จ  ชาวบ้านเกษตรกรต้องได้มีการพูดคุยหรือแลกเปลี่ยนทางความคิดช่วยเหลือกัน สิ่งสำคัญเกษตรกรรายย่อยต้องเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ รวมถึงกลุ่มต้องนำทรัพยากรในพื้นที่มาใช้ประโยชน์ และรวมตัวกันทำการตลาดให้ได้

อีกทั้ง ผู้ประสานงานโครงการ ยังให้คำแนะนำสำหรับเกษตรกรที่สนใจอาชีพการเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมืองว่า 1.จะสอบถามเกษตรกรว่าเคยเลี้ยงไก่มาหรือยัง 2.เกษตรกรมีอาหารในพื้นที่หรือยัง 3.เกษตรกรมีองค์ความรู้ไหม 4.เขามีเงินทุนสำหรับการจะเริ่มต้นทำอย่างไร จากนั้นก็จะบอกทางเลือก หรือรูปแบบการเลี้ยงเช่น การแนะนำเกษตรกรรายเล็กหรือเพิ่งเริ่มต้น แนะนำให้เลี้ยงไก่ แบบแม่ฟัก หรือแบบธรรมชาติไปก่อน สเกลในการเลี้ยงคือ เลี้ยงตัวแม่ 4-5 ตัว (เมีย) เลี้ยงตัวพ่อ 5 ตัว (ผู้) เพื่อการสร้างรายได้ 5,000 – 7,000 บาท

ในเรื่องของเงินทุนสำหรับเกษตรกรรายเล็ก ต้องมีเงินทุนขั้นต่ำ 15,000 บาท ในสเกล(ขนาด) แม่ไก่ 20 ตัว ต่อ ตัวพ่อ 5 ตัว และเป็นค่าอาหาร ค่าปรับปรุงโรงเรือน อุปกรณ์ ค่าพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ 1 ตัว ราคาประมาณ 250 บาท   สำหรับเกษตรกรรายใหญ่ ต้องสอบถามเขาก่อนว่าเขามีความรู้ด้านตู้ฟักไหม ต้องมีตู้ฟักเท่าไร จะต้องเลี้ยงเท่าไร แล้วต้องบอกสูตรของการคำนวณว่า ถ้าจำนวนของการเลี้ยง 100 ตัว ในหนึ่งวันจะสามารถเก็บไข่ได้ประมาณ 40 %  และทุกอาทิตย์เขาจะได้ลูกไก่ อาทิตย์ละ 250 ตัว รายได้ของเกษตรกรรายใหญ่ขึ้นอยู่กับสเกลการเลี้ยง 300 ตัว ถึง 500 ตัว