วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (16 ม.ค.61)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (16 ม.ค.61)

ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น เป็นวันที่ 7 ติดต่อกันจากแรงส่งของการปรับลดกำลังการผลิตจาก OPEC และ Non-OPEC

+ ราคาน้ำมันดิบยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังความร่วมมือในการปรับลดกำลังการผลิตระหว่างกลุ่มประเทศโอเปค (OPEC) และประเทศนอกกลุ่มโอเปค (Non-OPEC) เริ่มส่งผลเชิงบวกต่อตลาดน้ำมันดิบอย่างเป็นรูปธรรม โดยหลายฝ่ายคาดตลาดน้ำมันดิบจะตึงตัวมากขึ้นหากการปรับลดกำลังการผลิตดังกล่าวเป็นไปอย่างต่อเนื่องและสหรัฐ ไม่ได้เพิ่มกำลังการผลิตจากน้ำมันดิบชั้นหินดินดาน (Shale Oil)

- แท่นขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐ ยังคงมีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสัปดาห์ที่ผ่านมามีแท่นขุดเจาะเพิ่มขึ้น 10 แท่น ทำให้ปัจจุบันสหรัฐ มีแท่นขุดเจาะรวม 752 แท่น โดยมีเพียง 522 แท่นเท่านั้นที่กำลังใช้ดำเนินการ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เมื่อราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มถึงระดับที่คุ้มทุนแท่นที่เหลือก็พร้อมที่เปิดดำเนินการและเป็นปัจจัยเสี่ยงในเชิงอุปทานที่จะทำให้ราคาน้ำมันดิบไม่สามารถปรับตัวสูงขึ้นได้มากนัก

- แท่นขุดเจาะในแคนาดาปรับเพิ่มมากถึง 87 แท่นในสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ปัจจุบันมีแท่นรวม 185 แท่นมากสุดนับแต่เดือน มี.ค. 2560 และเป็นอีกปัจจัยที่ต้องจับตามอง

+ ธนาคาร America Merill Lynch ปรับราคาคาดการณ์ของน้ำมันเวสต์เทกซัสและเบรนท์ในปี 2561 จาก 52 และ 56 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นเป็น 60 และ 64 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลตามลำดับ เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันดิบมีแนวโน้มเติบโตราว 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ราคาน้ำมันเบนซิน  ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบ อย่างไรก็ตาม ตลาดยังได้รับแรงกดดันจากการส่งออกน้ำมันเบนซินที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากประเทศจีน และความต้องการใช้ที่อ่อนตัวลงในประเทศจีนและอินโดนีเซีย

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบดูไบ จากแรงหนุนของอุปสงค์ที่แข็งแกร่งของประเทศศรีลังกาและเวียดนาม อย่างไรก็ตาม อุปทานโดยภาพรวมในเอเชียยังคงล้นตลาด เนื่องจากโรงกลั่นยังคงผลิตน้ำมันดีเซลอย่างต่อเนื่อง

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

  • ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 60 - 65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
  • ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 66 - 71 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  • จับตาปริมาณผลิตน้ำมันดิบสหรัฐ หลังสภาพอากาศที่หนาวจัดในสหรัฐ ส่งผลกระทบให้ผู้ผลิตลดการขุดเจาะน้ำมันดิบและหยุดดำเนินการผลิตลงชั่วคราว โดยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบสหรัฐ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ม.ค. ปรับลดลง 290,000 บาร์เรลต่อวันจากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 9.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่ Baker Hughes รายงานการขุดเจาะน้ำมันดิบปรับลดลงเป็นครั้งแรกในรอบสามสัปดาห์ โดยมีการปรับลดลงจำนวน 5 แท่นมาอยู่ที่ระดับ 742 แท่น
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ คาดจะปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 9 ติดต่อกัน หลังโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐ คงอัตราการกลั่นในระดับสูง เพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันเพื่อทำความร้อนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ม.ค. ปรับลดลง 4.9 ล้านบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 419.5 ล้านบาร์เรล
  • จับตาปริมาณการส่งออกของอิหร่านว่าจะปรับลดลงหรือไม่ หลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบในประเทศ รวมถึงความไม่แน่นอนของสหรัฐ ว่าจะมีการออกมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งถ้าหากมีการคว่ำบาตรเกิดขึ้นคาดจะส่งผลให้หลายประเทศปรับลดการซื้อน้ำมันดิบของอิหร่านและทำให้ความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศทวีคูณมากขึ้น

------------------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)          

โทร.02-797-2999