ก.ล.ต.เตรียมชงร่างแก้ไขพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯเข้าครม.

ก.ล.ต.เตรียมชงร่างแก้ไขพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯเข้าครม.

"ก.ล.ต." เตรียมชงร่างแก้ไขพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ 4 เรื่องเข้า ครม. ช่วงกลางเดือน ม.ค. - ต้น ก.พ.นี้ พร้อมกำหนดยุทธศาสตร์ระยะ 3 ปี

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวในงานสัมมนา: "SEC Conference 2018 : Capital Market for All" ว่า ก.ล.ต. เตรียมเสนอ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะมีการแก้ไขใน 4 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย การจัดตั้งกองทุน ส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน หรือ CMDF,ความอิสระของ บลจ. , ความคาดหวังต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ อิเล็กทรอนิกส์แพลทฟอร์ม (ETP) หลังการเปิดรับฟังความคิดเห็นแล้วเสร็จ จากนั้นจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาในกลางเดือน ม.ค. หรือต้นเดือน ก.พ.นี้ ก่อนส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาต่อไป

ส่วนเกณฑ์กำกับดูแล Inital Coin Offering (ICO) จะมีผลบังใช้ในไตรมาส1/61 หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นวันสุดท้ายวันที่ 22 ม.ค.นี้ โดยการลงทุน ICO นักลงทุนต้องมีความระมัดระวัง เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง แต่ผลตอบแทนสูงด้วยเช่นกัน นักลงทุนต้องมีการศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุน

นายประกิด บุณยัษฐิติ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการแก้หลักเกณฑ์การเข้าจดทะเบียนทางอ้อม (Backdoor Listing ) โดย ก.ล.ต.จะเป็นผู้พิจารณาอนุมัติเอง จากเดิมที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นผู้อนุมัติ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ได้ภายในครึ่งแรกปีนี้

ทั้งนี้มองว่า การ Backdoor Listing เหมือนเป็นการบริษัทจดทะเบียนใหม่ ซึ่งก.ล.ต. จะพิจารณาทั้งเกณฑ์อนุมัติหุ้นไอพีโอ ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อยู่แล้ว เพื่อไม่ให้เกิดความช้ำซ้อนในการทำงานระหว่างก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯ และเพื่อทำให้บริษัทเข้าจดทะเบียน โดย Backdoor Listing มีคุณภาพ จากที่ผ่านมาพบว่าบริษัทบางแห่งที่เข้ามาเข้าจดทะเบียน โดย Backdoor Listing แต่ไม่มีคุณภาพ

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้มีการตั้งคณะกรรมการ IPO Steering Committee ประกอบด้วย นักธุรกิจ นักวิเคราะห์ นักกฎหมาย ฯลฯ เพื่อมาร่วมพิจารณาอนุมัติการเข้าจดทะเบียนของหุ้น IPO หาก ก.ล.ต. มีข้อสังเกตพิเศษ จะให้ภาคธุรกิจ ดังกล่าว เข้ามาร่วมในการให้ความเห็น

สำหรับการทำงานของ ก.ล.ต. ได้กำหนดแผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (2561 – 2563) มุ่งเน้นให้คนไทยได้รับคำแนะนำการลงทุนที่มีคุณภาพ สนับสนุนให้มีผู้ให้บริการวางแผนทางการเงิน (wealth advice) เพิ่มมากขึ้น เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีในระยะยาว โดยส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้เข้าถึงตลาดทุนได้สะดวกและรวดเร็ว สนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจทั้งรายเดิมและรายใหม่ให้บริการที่ตอบโจทย์ผู้ลงทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำลง พร้อมยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลตลาดทุนให้ดียิ่งขึ้น ปฏิรูปกฎเกณฑ์ให้มีเท่าที่จำเป็น เพื่อสร้างประสิทธิภาพสูงสุดทั่วทั้งตลาดทุน

ที่ผ่านมาการเข้าถึงตลาดทุนของประชาชนยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้รับคำแนะนำหรือการวางแผนทางการเงินมักจะจำกัดอยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้สูง อันเนื่องมาจากต้นทุนที่ต้องใช้ในการให้บริการ และช่องทางการเข้าถึงที่จำกัด ดังนั้น ก.ล.ต. จะสนับสนุนให้ประชาชนได้รับคำแนะนำและการวางแผนทางการเงิน (wealth advice) ที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างความมั่งคั่งและมีเงินใช้เพียงพอหลังเกษียณ โดยส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจพัฒนารูปแบบ การให้บริการ ตลอดจนการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ลงทุน ซึ่งปัจจุบันยังอาจไม่สามารถใช้ตลาดทุน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับตนเอง

นอกจากนี้ ก.ล.ต. จะสร้างทางเลือกการระดมทุนให้กับกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กโดยใช้เทคโนโลยี เพื่อลดต้นทุนการเข้าถึงทุนในช่องทางการระดมทุนในปัจจุบัน อาทิ การเสนอขายหลักทรัพย์ผ่านระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ (crowdfunding)

สำหรับการกำกับดูแลและการบังคับใช้กฎหมาย ก.ล.ต. จะยังเน้นองค์ประกอบ 3 ด้านคือ การบังคับใช้กฎหมาย ความมีวินัยของบริษัทและผู้บริหาร และการสร้างแรงผลักดันของผู้ร่วมตลาด โดย ก.ล.ต. จะร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนในการยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลและคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนและบริษัทภายใต้การกำกับดูแลให้มีมาตรฐานที่สอดคล้องกัน เพื่อให้ผู้ลงทุนมีความรู้ พร้อมใช้สิทธิปกป้องตนเอง ในขณะที่ผู้ประกอบธุรกิจและบุคลากรในตลาดทุนมีจรรยาบรรณและให้บริการที่ดีที่สุด เพื่อประโยชน์ของลูกค้า” นายรพี กล่าวสรุป

แผนยุทธศาสตร์ 3 ปี (2561 – 2563) ของ ก.ล.ต. ครอบคลุม 5 เรื่องสำคัญ ได้แก่

1.สนับสนุนผู้ให้บริการด้านการให้คำแนะนำและวางแผนทางการเงินที่ประชาชนเข้าถึงได้และมีคุณภาพ (wealth advice for all) เป็นการสนับสนุนผู้ให้บริการด้านการให้คำแนะนำและวางแผนทางการเงินที่ประชาชนเข้าถึงได้และมีคุณภาพ และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีฟินเทคเพื่อตอบโจทย์และเป็นเครื่องมือช่วยวางแผนทางการเงิน

2. สร้างโอกาสในการระดมทุนสำหรับทุกหน่วยเศรษฐกิจ สร้างทางเลือกช่องทางการระดมทุนใหม่สำหรับธุรกิจ SMEs และ startups ขจัดอุปสรรคและลดต้นทุนการเข้าถึงทุนในช่องทางปัจจุบัน ส่งเสริมการระดมทุนของประเทศเพื่อนบ้าน และสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยเป็นผู้เล่นระดับภูมิภาค  

3. สร้างศักยภาพการแข่งขันของตลาดทุนไทย โดยการยกระดับสมรรถนะโครงสร้างพื้นฐานรองรับการประกอบธุรกิจแบบดิจิทัล

4. รู้เท่าทันความเสี่ยงและกำกับดูแลได้อย่างตรงจุด ยกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียนและธนาคารที่ขายหน่วยลงทุน

5. ยกระดับมาตรฐานการออกมาตรการการกำกับดูแลโดยการปฏิรูปกฎเกณฑ์ที่ใช้ในตลาดทุนให้มีเท่าที่จำเป็น มีการวิเคราะห์ต้นทุน (compliance cost) ผลกระทบ และประเมินผลสัมฤทธิ์ พร้อมทั้งสร้างระบบฐานข้อมูลและโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการทำงานของ ก.ล.ต. ในอนาคต โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอย่างเต็มที่