ภาวะเงินตราต่างประเทศประจำสัปดาห์ (8-12 มกราคม 2561)

ภาวะเงินตราต่างประเทศประจำสัปดาห์ (8-12 มกราคม 2561)

บาทแข็งค่าตามสกุลเงินอื่น สวนทางดอลลาร์สหรัฐฯ

ภาวะการเคลื่อนไหวของค่าเงินระหว่างสัปดาห์ ค่าเงินบาทเปิดตลาดในเช้าวันจันทร์ (8/1) ที่ระดับ 32.11/13 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (5/1) ที่ 32.22/24 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ได้เปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาดในเดือนธันวาคม โดยปรับตัวขึ้นเพียง 148,000 ตำแหน่ง ขณะที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 190,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานทรงตัวที่ระดับ 4.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 17 ปี ในขณะที่อัตาค่าจ้างเฉลี่ยต่อชั่วโมงปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้น 0.1 % นอกจากนี้ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย กล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า เฟดควรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในปีนี้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยความเห็นของนายฮาร์เกอร์ที่แนะนำให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้ง แตกต่างจากเจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ที่คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ ส่วนประธานเฟด สาขาซานฟรานซิสโกเปิดเผยว่า เขาคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ เนื่องจากเชื่อว่าแผนปฏิรูปภาษีสหรัฐฯจะเข้ามาหนุนเศรษฐกิจของประเทศให้แข็งแกร่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการจ้างงาน แจ่อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางสัปดาห์ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯได้ปรับตัวแข็งค่าขึ้น โดยเป็นผลมาจากการอ่อนค่าลงของค่าเงินยูโร รวมถึงการเพิ่มขึ้นอย่างมากของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯระยะ 10 ปี ที่พุ่งขึ้นสู่ระดับเหนือ 2.5 ในชั่วข้ามคืน นอกจากนี้ ธนาคารโลก หรือเวิลด์แบงก์ยังได้ เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก โดยระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวถึงร้อยละ 2.5 ในปี 2561 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ธนาคารโลกประมาณการว่าขยายตัวร้อยละ 2.3 โดยมีปัจจัยหนุนจากการบังคับใช้มาตรการปรับลดภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์  แต่อย่างไรก็ตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯได้ปรับตัวอ่อนค่าลงหลังจากทางการจีนมีการขู่ว่าจะซื้อพันธบัตรสหรัฐฯน้อยลง เนื่องจากประธาณาธิบดีทรัมป์คอยกล่าวหาว่าประเทศจีนเป็น Currency Manipulator ส่งผลให้พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐร่วงลงเมื่อคืนนี้ ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรดีดตัวขึ้น โดยแหล่งข่าวระบุว่า พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเริ่มมีความน่าดึงดูดลดน้อยลง เมื่อเทียบกับสินทรัพย์อื่นๆ ประกอบกับความตึงเครียดของความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐ ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้จีนลดการซื้อพันธบัตรสหรัฐลง อย่างไรก็ตาม นายชาร์ลส์ อีแวนส์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโก กล่าวว่า เขาไม่สามารถออกความเห็น หลังมีข่าวว่า จีนอาจยุติการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จีนได้ใช้แนวทางต่างๆในการปรับสมดุลของพอร์ทพันธบัตรระหว่างประเทศเขนอกจากนี้ นายอีแวนส์ยังระบุว่า การที่เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐมีลักษณะแบนราบ และสร้างความกังวลต่อเจ้าหน้าที่เฟดหลายรายนั้น เป็นสิ่งที่มีการคาดการณ์ไว้แล้ว เนื่องจากเฟดกำลังปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น แม้ว่าปัจจัยอื่นๆไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยระยะยาว

ทั้งนี้เงินดอลลาร์ยังคงได้รับความกดดันจากการที่ทรัมป์ต้องการที่จะถอนตัวออกจากข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ โดยนายโธมัส เจ. โดโนฮิว ประธานและเจ้าหน้าที่บริหารสูงสุดของหอการค้าสหรัฐ เตือนว่า หากคณะบริหารภายใต้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นำสหรัฐถอนตัวจากข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) ก็ถือเป็นความผิดพลาดใหญ่หลวง นายโดโนฮิวกล่าวว่า หอการค้าสหรัฐสนับสนุนการปรับปรุงข้อตกลง NAFTA ที่มีมานานถึง 24 ปีให้มีความทันสมัยมากขึ้น แต่กระนั้นการปรับปรุงความทันสมัยก็ไม่ควรปิดกั้นตลาด บั่นทอนการคุ้มครองการลงทุน และจำกัดการค้าด้วยกฎระเบียบที่ล้าหลัง ที่สำคัญ การเติบโตนั้นอาจอ่อนแรงลงได้ ไม่แข็งแกร่งขึ้นและไม่ยั่งยืน หากเราถอนตัวจาก NAFTA  ส่งผลให้ระหว่างสัปดาห์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 31.90-32.28 บาท/ดอลลาร์ฯ ก่อนปิดตลาดในวันศุกร์ที่ระดับ (12/01) 31.95/97 บาท/ดอลลาร์ฯ

สำหรับการเคลื่อนไหวสกุลเงินยูโรในสัปดาห์นี้ ค่าเงินยูโรเปิดตลาดที่ระดับ 1.2045/47 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ยูโร ใกล้เคียงกับระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (5/1) ที่ ระดับ 1.2042/46 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ยูโร  โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (8/1) สำนักงานสถิติแห่งชาติของเยอรมนี ได้เปิดเผยตัวเลขยอดค้าปลีก ประจำเดือนพฤศจิกายน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.3% มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.0% นอกจากนี้สำนักงานสถิติแห่งยูโรโซน ได้เปิดเผยประมาณการณ์ดัชนีราคาผู้บริโภค ประจำเดือนธันวาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.4% เท่ากับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ แต่อย่างไรก็ตาม ค่าเงิยยูโรได้ปรับตัวอ่อนค่าลง โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีรายงานว่า ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนพฤศจิกายน ปรับตัวลดลง 0.4% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน ซึ่งสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 0.5% หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 0.7% ในเดือนตุลาคม ทั้งนี้ ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนพฤศจิกายนปรับตัวลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนกรกฏาคมปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากยอดสั่งซื้อในประเทศที่หดตัวลง 0.4% หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนตุลาคม และยอดสั่งซื้อจากต่างประเทศที่หดตัวลง 0.5% หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 0.5% ในเดือนก่อนหน้า โดยตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวในกรอบระหว่าง 1.1920-1.2090 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 11.2085/88 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยนสัปดาห์นี้ ค่าเงินเยนเปิดตลาดที่ระดับ 113.13/16 เยน/ดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (5/1) ที่ระดับ 113.22/23 เยน/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยวันเมื่อศุกร์ที่ผ่านมา (8/1) นายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้กล่าวแสดงความพึงพอใจต่อผลงานของนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในแง่ของการจ้างงาน พร้อมขอให้ผู้ว่าการ BOJ เดินหน้าต่อไปเพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศพ้นจากภาวะเงินฝืดที่ยืดเยื้อมาเป็นเวลาถึง 20 ปี นายอาเบะยังกล่าวด้วยว่า รัฐบาลญี่ปุ่นพร้อมที่จะร่วมงานกับทางแบงก์ชาติต่อไป เพื่อให้ญี่ปุ่นพ้นจากภาวะเงินฝืดโดยเร็วที่สุด อย่างไรก็ดี นายอาเบะยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะแต่งตั้งให้นายคุโรดะ ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ BOJ อีกสมัยหรือไม่ โดยนายคุโรดะจะหมดวาระในเดือนเมษายนนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กำลังพิจารณาปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปีงบประมาณ 2561 หลังจากที่การส่งออกพุ่งขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางญี่ปุ่น จะยังคงใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป เนื่องจากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น รวมทั้งคณะกรรมการ อาจปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ในปีงบประมาณ 2561 สู่ระดับร้อยละ 1.5-1.9 จากเดิมที่คาดการณ์ที่ระดับร้อยละ 1.4 ทั้งนี้ตัวเลขคาดการณ์ใหม่ดังกล่าวจะปรากฎในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจของธนาคารกลาง ที่จะมีการเปิดเผยในการประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 23 มกราคม โดยตลอดสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 111.06-113.37 เยน/ดอลลาร์สหรัฐฯ และปิดตลาด ที่ระดับ 111.12/13 เยน/ดอลลาร์สหรัฐฯ

 -------------------------------------------------

ที่มา...ธนาคารกรุงเทพ