‘เซนส์’ สื่อสารผ่านดวงตา ความหวังแห่งชีวิต

‘เซนส์’ สื่อสารผ่านดวงตา ความหวังแห่งชีวิต

ตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา “เซนส์” (SenzE) อุปกรณ์สื่อสารผ่านดวงตา เพื่อผู้ป่วยที่สื่อสารลำบาก อาทิ ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ,อัมพาต,ผู้ป่วยไอซียู

ได้รับรางวัลทั้งในเวทีประเทศไทยและทั่วโลกมากถึง 13 รางวัล อุปกรณ์นี้ยังขึ้นชื่อว่าถูกคิดค้นเป็นรายแรกของเอเชีย และเครื่องที่ 3 ของโลก


"เมื่อก่อนผู้ป่วยจะต้องสื่อสารด้วยบัตรคำ เหมือนการหยิบไพ่ ซึ่งต้องมีบัตรคำเป็นร้อย ๆอัน ผู้ดูแลจะหยิบบัตรหิวน้ำ หรือบัตรห้องน้ำ แล้วให้คนไข้กระพริบตาหรือพยักหน้าว่าใช่ ไม่ใช่ ก็จะเสียเวลามาก และความต้องการของผู้ป่วยเองอาจไม่มีอยู่ในบัตรคำที่มีอยู่เลยก็ได้ พอเทคโนโลยีเราทำเสร็จออกไป วงการแพทย์ก็ค่อนข้างตกใจว่ามีเทคโนโลยีแบบนี้ด้วย และเราได้รับการติดต่อจากสื่อมาสัมภาษณ์เยอะเลย"


“ปิยะศักดิ์ บุญคมรัตน์” ผู้ก่อตั้ง บริษัท เมดิเทค โซลูชั่น จำกัด ผู้คิดค้นและพัฒนาอุปกรณ์เล่าว่า เดิมที “เซนส์” เป็นเพียงอุปกรณ์ที่เขาต้องการจะคิดพัฒนาให้กับเพื่อนสนิทที่มีคุณพ่อป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ขยับมือ แขนขาและร่างกายไม่ได้ ทางตรงข้ามสมองกลับรับรู้ได้ดีเหมือนคนปกติทั่วไป


"เพื่อนมาปรึกษาว่ามีเทคโนโลยีอะไรที่จะช่วยทำให้คุณพ่อสื่อสารกับคนอื่นได้แบบง่าย ๆ ผมเลยเอาโจทย์นั้นมาคิดต่อและไปเจอเทคโนโลยีที่ติดตามดวงตา จากนั้นผมก็นำเข้ากล้องจากเมืองนอก พร้อมกับพัฒนาตัวโปรแกรมเป็นภาษาไทยออกแบบอุปกรณ์ที่ให้ผู้ป่วยเลือกเมนูคำสั่งอย่างง่าย ๆ เริ่มทำเป็นออฟไลน์ก่อน แต่พอเห็นว่ามันใช้สื่อสารได้ ก็เลยเกิดเป็นไอเดียว่าทำไมเราไม่พัฒนาเทคโนโลยีให้มันเกิดขึ้นสำหรับคนไทย เกิดขึ้นในเมืองไทยโดยคนไทย"


สุดท้ายไอเดียของเขาได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผ่านการทดสอบจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของสถาบันประสาทวิทยาว่ามีความปลอดภัย มีประสิทธิภาพต่อผู้ป่วย ประการสำคัญ “เซนส์” ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันเป็นเวอร์ชั่นที่ 5 แล้ว


"เวอร์ชั่นแรก เป็นออฟไลน์ ผู้ดูแลกับผู้ป่วยต้องอยู่ด้วยกันจึงจะสื่อสารกันได้ แต่เราเห็นว่าผู้ดูแลไม่ได้อยู่กับผู้ป่วยตลอดเวลา ถ้าผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉินเดี๋ยวนั้น เวอร์ชั่นที่ 2 เลยมีระบบแจ้งเตือน ผู้ดูแลแค่พกมือถือแล้วดาวน์โหลดแอพของเรา เขาก็จะรู้ว่าผู้ป่วยกำลังต้องการอะไร และได้พัฒนาระบบแชทพิมพ์ข้อความโต้ตอบกันได้ พอมาถึงเวอร์ชั่นที่ 4 เราพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นไปอีกจากให้ผู้ป่วยกระพริบตาสองครั้งในการออกคำสั่ง เปลี่ยนเป็นให้มองค้าง 2 วินาที และในเวอร์ชั่นที่ 5 เราได้พัฒนาระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ให้ผู้ป่วย ผู้ดูแล ญาติ หรือแพทย์สามารถโต้ตอบคุยกัน เห็นหน้ากันเหมือนการสไกป์เลย"


หลักการทำงานของอุปกรณ์เซนส์คร่าวๆ ก็คือ จะมีกล้องความละเอียดสูงและเทคโนโลยีการตรวจจับการเคลื่อนไหวของดวงตา โดยมีจอภาพตั้งอยู่ตรงหน้าผู้ป่วยเพื่อให้สามารถออกคำสั่งด้วยการมองค้างในตำแหน่งที่ต้องการเป็นเวลา 2 วินาที เพื่อส่งข้อความไปที่แท็บเล็ตผู้ดูแลได้แบบเรียลไทม์ อุปกรณ์จะมีเมนูบอกความต้องการ ความรู้สึกต่าง ๆ ว่าต้องการจะไปห้องน้ำ หรือปวดแขนปวดขา ปวดมากปวดน้อย นอกจากนี้ยังมีโปรแกรมความบันเทิงให้ผู้ป่วยเลือกดูหนังฟังเพลงอีกด้วย ฯลฯ


"ถือว่าเวลานี้ระบบเรามีความแม่นยำค่อนข้างสูงเกือบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ และเราก็มีทั้งระบบที่สามารถใช้โดยการควบคุม และระบบการสัมผัสการทัชสกรีนก็ได้ หรือจะใช้เมาท์คอนโทรลก็ได้ และมีแท็บเล็ตเวอร์ชั่นเพื่อการพกพาออกไปนอกสถานที่ ทำให้เราสามารถขยายไปในกลุ่มโฮมยูสได้มากขึ้น"


ที่แน่ ๆ เซนส์พิสูจน์ให้เห็นถึงประโยชน์ ความสามารถในการช่วยเหลือผู้คนได้จริง คือทำให้แพทย์สามารถสื่อสารกับผู้ป่วยได้ว่ามีอาการเป็นอย่างไร นำไปสู่การวินิจฉัยและวางแผนดูแลได้ดียิ่งขึ้น ขณะที่ผู้ป่วยเองก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น เพราะสามารถสื่อสารบอกได้ว่าเขารู้สึกอย่างไร เจ็บปวดตรงไหน มีความต้องการอะไร


วางแผนอย่างไรบนเส้นทางสตาร์ทอัพ? เขาบอกว่า เวลานี้กำลังมองหานักลงทุนระดมทุนรอบพรีซีรีส์เอ และกำลังมองหาพาร์ทเนอร์เพื่อขยายตลาดไปต่างประเทศ


"ผมกำลังคุยกับธุรกิจรายหนึ่งอยู่ที่กาตาร์ ซึ่งเป็นบริษัทนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์จากทั่วโลก เขาบอกว่ายังไม่เคยเห็นเทคโนโลยีที่ไหนในเอเชียที่โดดเด่นเท่าของเรา ก็มีโอกาสที่เขาจะเอาเซนส์ไปขายที่ 5 ประเทศในตะวันออกกลาง คือ กาตาร์ บาห์เรน ซาอุดิอาระเบีย คูเวต และโอมาน ซึ่งอุปกรณ์ของเราสามารถรองรับได้ถึง 18 ภาษาแล้ว"


ปิยะศักดิ์ ยังบอกว่ามีความสนใจจะพาบริษัทเข้า “ตลาดเอ็มเอไอ” ด้วย แน่นอนขึ้นอยู่กับความสามารถและยอดขายเป็นหลัก หากทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดีก็เป้าหมายนี้จะใช้เวลาไม่เกิน 3-4 ปี ข้างหน้า


"แม้ธุรกิจที่ทำจะอยู่ใน New Economy แต่มันมีข้อจำกัด มีโอกาสเติบโตยากกว่าสตาร์ทอัพที่ทำแอพซึ่งหายูสเซอร์ได้ง่ายกว่า แต่ของเรามีส่วนของฮาร์ดแวร์ด้วย หายูสเซอร์ยากหน่อย อีกทั้งราคาขายไม่ได้ถูกมาก ตลาดไทยเราแม้มีจำนวนผู้ป่วยเยอะแต่กำลังซื้อก็ไม่ได้สูงมาก แต่ถ้าเซนส์ไปเติบโตได้ในต่างประเทศจริงๆ ผมก็เชื่อว่ามันจะเติบโตขึ้นได้อีกหลายเท่า"


ซึ่งมักจะมีคนถามเขาอยู่เสมอว่า ทำไมไม่นำเอาเทคโนโลยีนี้ไปปรับใช้กับธุรกิจอื่นที่ทำเงินได้ง่ายกว่า เช่นเกม เป็นต้น


"เพราะเวลามันมีจำกัด คนเรามีจำกัด ถ้าเราทุ่มเททรัพยากรมากกว่าหนึ่งเรื่อง เราอาจสูญเสียโอกาสที่จะทำเรื่องที่สำคัญกว่า ถ้าเราทำเกมแน่นอนเราได้เงิน แต่เราไม่ได้ช่วยชีวิตใคร มีคนอีกเยอะเลยที่นอนป่วยอยู่และไม่มีใครพูดแทนเขา เราเห็นปัญหาและอยากช่วย และถ้ามันไปได้ เราก็ค่อยหันมาดูว่าจะไปทำกับธุรกิจอื่นอะไรได้อีกที่จะสามารถทำเงินให้ได้ในอนาคต และเกมก็อาจเป็นเรื่องหนึ่ง แต่เราก็จะเน้นทำเกมที่ฟื้นฟูผู้ป่วย ไม่ใช่เกมที่สู้รบ ฆ่าฟันกัน"


อาจกล่าวได้ว่าเมดิเทคฯเป็นสตาร์ทอัพที่มีหัวใจเพื่อสังคมคงไม่ผิดนัก ปิยะศักดิ์บอกว่าเมื่อมาถึงจุดนี้และมองย้อนกลับไปเขาก็มองว่าได้เดินมาไกลเกินกว่าที่คิดไว้พอสมควร


"เพราะตอนแรกผมไม่ได้คิดว่าจะตั้งเป็นบริษัทด้วยซ้ำไป แค่อยากช่วยเพื่อน แต่พอทำแล้วเราได้เห็นว่ามันช่วยคนได้เยอะ ช่วยคนได้หลายคน ก็เลยเริ่มจากเล็ก ๆแล้วค่อย ๆโตขึ้น และพอเราได้รางวัลมาช่วยการันตีก็ทำให้รู้สึกได้ว่ามีคนเห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ ก็เลยไม่อยากทิ้งไป อยากจะรักษาแพชชั่นนี้ไว้ ซึ่งเป็นความตั้งใจตั้งแต่วันแรกว่าอยากช่วยทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทำให้คนมีความหวังในการมีชีวิตอยู่ต่อไป นั่นคือสิ่งที่เราอยากเห็น"


หมายเหตุ- เวลานี้ เมดิเทค โซลูชั่น ได้ทำแคมเปญร่วมกับเทใจดอทคอม รับบริจาคเงินเพื่อนำเอาอุปกรณ์เซนส์ไปบริจาคให้กับสถาบันสิรินธรเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติ และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ผู้สนใจคลิกดูรายละเอียดที่ https://taejai.com/th/