ชี้ช่องแจ้งเกิดสตาร์ทอัพ‘พลิกปัญหา’ต่อยอดสร้างธุรกิจยั่งยืน

ชี้ช่องแจ้งเกิดสตาร์ทอัพ‘พลิกปัญหา’ต่อยอดสร้างธุรกิจยั่งยืน

นักการตลาดมองเทรนด์แจ้งเกิด “ธุรกิจใหม่” ไม่ว่าจะผู้ประกอบการขนาดเล็กหรือขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) หรือกลุ่มสตาร์ทอัพ แม้จะมีสัดส่วนมาก แต่ในทางเดียวกันแนวโน้มการถอนตัวออกจากตลาดมีไม่น้อยเช่นเดียวกัน

สะท้อนการพัฒนาธุรกิจที่ตีโจทย์ความต้องการทางการตลาดไม่แตก กระทบต่อความยั่งยืน

อมฤต เจริญพันธ์ ผู้ร่วมก่อตั้ง ฮับบา (HUBBA) ผู้บุกเบิกธุรกิจ Coworking Space กล่าวว่าจากประสบการณ์ในแวดวงสตาร์ทอัพกว่า 6 ปี สัมผัส 600 สตาร์ทอัพทีม พบว่าหลายผู้ประกอบการมีความมุ่งมั่น ไอเดีย แต่นั่นยังไม่เพียงพอ!

องค์ประกอบสำคัญที่เปลี่ยนความฝันให้เป็น “ธุรกิจ” ในความเป็นตัวตนของสตาร์ทอัพ ต้องประกอบด้วย  “3H” ไล่ตั้งแต่ “แฮกเกอร์” ที่ต้องทำตัวเปรียบเสมือนวิศวกรผู้คิดค้นพัฒนา หรือสร้างนวัตกรรม “ฮาสเตอร์” เปรียบเสมือน บิซิเนสแมน ขายของเป็น สุดท้าย “ฮิปสเตอร์” มีความเข้าใจเทรนด์ ดีไซน์ ไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิต เพื่อจะทำให้สินค้าและบริการมีความน่าใช้ทันยุคสมัย ทำการตลาดได้ 

“ที่ผ่านมาเราอาจมีคนเก่งในวงการธุรกิจ แต่คนเหล่านี้ไม่ได้คุยกับคนเขียนโปรแกรมหรือลูกค้า ทำให้ไม่ได้ข้อมูลเชิงลึกที่แตกต่างจากคนอื่นในการพัฒนาสินค้าให้แตกต่าง”

ประการสำคัญ สิ่งที่เป็น“จุดอ่อน” ของสตาร์ทอัพไทย ที่เป็นอุปสรรคในการเส้นทางการเติบโตในไทยหรืออาเซียน นั่นคือ  “การเข้าใจปัญหาของอุตสาหกรรม” ซึ่งแท้จริงแล้วคือ โจทย์ใหญ่ ในการพัฒนา สร้าง หรือต่อยอดธุรกิจใหม่ขึ้นมารองรับความต้องการของผู้บริโภค หรือรองรับโอกาสทางธุรกิจ

"ผู้ประกอบการไม่ได้มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมนั้นๆ อย่างเพียงพอที่จะเข้ามาดีไซน์หรือออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อแก้โจทย์ปัญหา ซึ่งก็คือ โอกาสทาธุรกิจ  ผู้ประกอบการควรจะต้องรู้ก่อนไปมโนสร้างอะไรขึ้นมาแล้วไม่ตอบโจทย์หรือยืนตลาดได้เพียงระยะเดียวไม่มีความยั่งยืน” 

อมฤต ย้ำว่า สูตรสำเร็จของสตาร์ทอัพไม่มีรูปแบบตายตัว ความสำเร็จของธุรกิจหรือผู้ประกอบการรายหนึ่งอาจไม่ใช้คัมภีร์สำหรับอีกราย 

แน่นอนว่าความสำเร็จของสตาร์ทอัพ ต้องเป็นให้ได้มากกว่า เอสเอ็มอีที่มีแอพพลิเคชั่น!! 

ขณะที่คาแรคเตอร์หรือคุณสมบัติของผู้ประสบความสำเร็จ อันดับแรกต้องมีความอดทน และทีมเวิร์ค มีความพร้อมที่จะทำความเข้าใจในอุตสาหกรรมที่ต้องการสร้างโอกาสธุรกิจย่างถ่องแท้ ประเด็นดังกล่าวนี้ ผู้ประกอบการอาจเริ่มจากการตั้งคำถามว่า "อุตสาหกรรมนั้นมีปัญหาอะไร” เพื่อนำสู่กระบวนการคิด และดำเนินการที่จะแก้โจทย์ 

ประการสำคัญ ไม่เพียงรองรับลูกค้าในประเทศ แต่หากสามารถรองรับชาวอาเซียนหรือคนทั่วโลก นั่นคือโอกาสมหาศาล เพราะจะเป็นแม่เหล็ก ดึงดูดนักธุรกิจต่างชาติที่ต้องการร่วมพันธมิตรหรือผลักดันเส้นทางการเติบโตของผู้ประกอบการไทย หรือธุรกิจไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดรับเทรนด์ต่างชาติที่มองโอกาสการลงทุนในตลาดไทยและทั่วโลกซึ่งมองหาพันธมิตรสตาร์ทอัพเพื่อสร้างความแตกต่างในตลาดอย่างโดดเด่น

จะเห็นว่าปัจจุบันตลาดผู้บริโภคเปลี่ยนไป กลุ่มเจนเนอเรชั่นใหม่ต้องการความแตกต่าง สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับชีวิตที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของไลฟ์สไตล์ เห็นชัดเจนจากการเปลี่ยนแปลงในตลาดค้าปลีก

“โลกของค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า เปลี่ยนไป ผู้บริโภคเจนเนอเรชั่นใหม่ ต้องการร้านค้าที่สามารถเข้าถึงได้ทุกวันตลอดเวลา ใช้ชีวิตบนมือถือ”

ฉะนั้นผู้ประกอบการต้องเปลี่ยนวิธีนำเสนอหรือการเข้าหาลูกค้า การสร้างช่องทางการจำหน่ายสินค้าอยู่ทุกที่ทุกทาง โลกการค้ายุคใหม่ไม่มีออนไลน์-ออฟไลน์ แต่เป็น “ออมนิ แชนแนล” เข้าถึงสินค้าและบริการได้ทุกช่องทางแบบไร้รอยต่อ ร้านค้าอาจมีหน้าร้านเล็กๆ ในห้างสรรพสินค้า แล้วให้ลูกค้าไปซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ 

ขณะที่ความคาดหวังของลูกค้าต้องการได้รับประสบการณ์ใหม่ ทำให้ผู้ประกอบการต้องมองหา “ประสบการณ์” ที่แตกต่างจากโลกการค้ายุคเดิม หรือฉีกจากวิธีการทำธุรกิจแบบเดิมๆ เช่น ศูนย์การค้ามีการพัฒนาพื้นที่โค-เวิร์คกิ้งสเปซ รองรับกลุ่มคนทำงานที่ไม่อยู่ในกรอบเดิมๆ อีกต่อไป สามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลาเช่นกัน การมีบริการใหม่ เช่น วีอาร์ มิวเซียม มาตอบโจทย์มากกว่า ร้านอาหารที่อาจจะเป็นเทรนด์ในยุคนี้แต่อนาคต ต้องมี “ความแปลกใหม่” เข้ามานำเสนอมากขึ้น