สวนไผ่เกษตร จุดสตาร์ทความยั่งยืน

สวนไผ่เกษตร จุดสตาร์ทความยั่งยืน

“ผงชาร์โคล-น้ำส้มควันไม้”เพื่อกิจการปศุสัตว์ เป็นเข็มทิศทางธุรกิจใหม่ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยและมันสำปะหลัง ที่ปรับตัวหนีปัญหาราคาสินค้าเกษตรผันผวน

“ผงชาร์โคล-น้ำส้มควันไม้”เพื่อกิจการปศุสัตว์ เป็นเข็มทิศทางธุรกิจใหม่ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยและมันสำปะหลัง ที่ปรับตัวหนีปัญหาราคาสินค้าเกษตรผันผวน หลังจากหน่วยงานรัฐเปิดคอร์สอบรมและส่งเสริม ควบคู่กับการศึกษาแนวทางเกษตรธรรมชาติของญี่ปุ่นที่นิยมใช้น้ำส้มควันไม้ไผ่ ล่าสุดเตรียมวิจัยบนฐานวิทยาศาสตร์ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เสริมความเชื่อมั่นก่อนป้อนเป็นวัตถุดิบให้กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์

จากปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ กระทั่งรัฐต้องยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือ ทั้งมาตรการรับจำนำและการชดเชยต้นทุนการผลิต แต่ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายในการแก้ปัญหา ส่งผลให้ “นิพนธ์ จิระเสวี” ผู้จัดการทั่วไปบริษัท เอสเอสพี ออร์แกนิค จำกัด ตัดสินใจหันมาปลูกไผ่รวกแทนอ้อยและมันสำปะหลัง บนที่พื้นที่ 300 ไร่ อ.หนองปรือ จ.กาญจนบุรี หลังจากปลูกได้ 5 ปี เริ่มมองเห็นโอกาสในการนำไม้ไผ่รวกมาแปรรูป

นวัตกรรมของดำมาแรง

นิพนธ์เริ่มต้นพัฒนาเตาเผาถ่านแบบญี่ปุ่นมาใช้เผาไม้ไผ่ ทำให้ได้ถ่านกัมมันต์ที่มีคุณสมบัติดูดซับสารพิษ และสามารถนำมาแช่ในน้ำดื่ม ส่วนน้ำส้มควันไม้ซึ่งเป็นสารที่ให้กลิ่นควันไฟนำมาใช้แต่งกลิ่นให้กับผลิตภัณฑ์ไส้กรอกและแฮม ชาร์โคลนำมาบดผสมน้ำแช่ผักและผลไม้เพื่อล้างสารเคมี หากนำไปบดละเอียดสามารถผสมในอาหารเพื่อให้สีแทนการใช้ผงหมึก ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในขนมต่างๆ อาทิ ไอศกรีมสีดำจากชาร์โคล รวมทั้งนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องสำอาง เช่น สบู่ ผงมาสก์หน้า

ปัจจุบันได้ส่งน้ำส้มสกัดจากควันไม้ไผ่ให้กับผู้ผลิตไส้กรอกรายใหญ่เพื่อนำไปใช้แต่งกลิ่น ล่าสุดกำลังพัฒนาเป็นวัตถุดิบป้อนโรงงานอาหารสัตว์ เนื่องจากผงถ่านและน้ำส้มควันไม้ไผ่สามารถเป็นวัตถุดิบในอาหารเสริมสำหรับสัตว์ มีคุณสมบัติช่วยปรับระดับแบคทีเรียในลำไส้และการดูดซึมสารอาหาร ทำให้เนื้อสัตว์มีคุณภาพดีขึ้น

“ผมมีแนวคิดพัฒนาผงถ่านกับน้ำส้มควันไม้ เพื่อนำไปใช้ในกิจการปศุสัตว์ เช่น ผสมในอาหารสัตว์ ทำให้ลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์และเพิ่มคุณภาพซากสัตว์เมื่อนำมาชำแหละ ยกตัวอย่าง ปริมาณไขมันในหมูลดลงและลดกลิ่นในมูลสัตว์ ซึ่ง อยู่ระหว่างการศึกษาและปรึกษากับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อทำการวิจัย ให้เห็นว่า นวัตกรรมดังกล่าวว่าดีต่อการเลี้ยงสัตว์จริง โดยใช้หลักทางวิทยาศาสตร์เข้ามาพิสูจน์ให้เห็นเป็นรูปธรรม หากได้รับการรับรองจะป้อนเป็นวัตถุดิบให้กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์”

ทั้งนี้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับแนวคิด ถ้าเราทำอะไรแบบยั่งยืน มันก็จะยั่งยืน อย่างไผ่ปลูกครั้งหนึ่งอยู่ยาวสามารถตัดได้เรื่อยๆ ฉะนั้น เกษตรกรควรหันมาปลูกพืชสร้างความยั่งยืน 40-50% เพื่อลดความเสี่ยงแทนการปลูกแบบเดิมๆ

ทรัพยากรวัตถุดิบศตวรรษ 21

นิพนธ์ กล่าวว่า ข้อดีของการปลูกไผ่คือ ไม่มีความเสี่ยงเรื่องภัยธรรมชาติ ต้นทุนต่ำเพราะเติบโตได้ดีในทุกสภาวะอากาศ ไม่มีปัญหาเรื่องโรคแมลง ทั้งยังเติบโตเร็ว บางชนิดสูงได้เกือบ 1 เมตรต่อวัน และสามารถปลูกเป็นสวนป่าที่ใช้งานได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี โดยไม่ทำลายดิน จึงเป็นทรัพยากรที่สามารถจัดการได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากปลูกหมุนเวียนในพื้นที่จำกัดได้เร็ว สามารถแปรรูปได้ครบวงจรมากกว่าอ้อยและมันสำปะหลัง ทำให้มีรายได้สม่ำเสมอ ไผ่จึงตอบโจทย์การใช้ทรัพยากรได้อย่างยั่งยืน

“เหตุผลที่ตัดสินใจปลูกไผ่ เพราะพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ปริมาณฝนไม่มาก จึงเกิดไอเดียว่า ปลูกพืชที่ยั่งยืนดีกว่า โดยเลือกไผ่รวกซึ่งเป็นไผ่พื้นบ้านแถบกาญจนบุรี ส่วนเหตุผลที่ธุรกิจมีความต่อเนื่องเพราะการสร้างเตาของตนเอง มีกระบวนการแปรรูปเพื่อต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกมา ซึ่งเกิดจากการศึกษาข้อมูลจากประเทศญี่ปุ่น พบว่า มีการใช้น้ำส้มควันไม้มานานแล้ว ในระยะแรกได้รับการส่งเสริมจากกรมป่าไม้ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ และสวทช. ให้งบวิจัย”

นิพนธ์ กล่าวว่า ปัจจุบันเตาเผาไม้ไผ่ 1 เตาสร้างรายได้ประมาณ 2 แสนบาท เฉลี่ยแต่ละปีมีรายได้ขั้นต่ำ 1 ล้านบาท หากเทียบกับการปลูกอ้อยและมันสำปะหลังดีกว่า เพราะมีรายได้สม่ำเสมอและไม่ขาดทุน