ตลาดส่งออกโลกฟื้น ผลักดันฐานะ 'เซ็ปเป้'

ตลาดส่งออกโลกฟื้น ผลักดันฐานะ 'เซ็ปเป้'

เซ็กเมนต์เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ปี 2560 สะเทือน...! หลังเจอสารพัดปัญหากดดันภาพรวม 'หดตัว' แต่สวนทางกำไร 'เซ็ปเป้' เติบโตต่อเนื่อง แถมสวยถูกใจ 'เสี่ยปู่-สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล' เจ้าของพอร์ต 'พันล้าน'

ตลอดปี 2560 การบริโภคในประเทศอ่อนแอหนัก การแข่งขันรุนแรง และล่าสุด การปรับโครงสร้างภาษีจากเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐาน หรือ 'ภาษีความหวาน' สารพัดเหตุผลที่กดดันให้ภาพรวม 'อุตสาหกรรมเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์' ในเมืองไทย 'หดตัว' สะท้อนผ่านครึ่งปีแรก 'ติดลบ 1-2%' จากปี 2559 ที่ตลาดเติบโต 'ระดับ 3-4%'   

ทว่า สถานการณ์ตลาดเครื่องดื่มหดตัวกับสวนทางกับ บมจ.เซ็ปเป้ หรือ SAPPE ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและความงาม ที่ปิดดีลผลประกอบการไตรมาส 3 ปี 2560  มี 'กำไรสุทธิ' 323.84  ล้านบาท จากช่วงเดียวกันปีก่อน 313.29 ล้านบาท โดยมีปัจจัยมาจากตลาดส่งอออกในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลกเติบโตได้ดี 

สะท้อนผ่านรายชื่อผู้ถือหุ้น (วันปิดสมุดทะเบียน 6 ก.ค.2560) ของ 'นักลงทุนรายใหญ่' ที่หลงความงามอย่าง 'เสี่ยปู่-สมพงษ์ ชลคดีดำรงกุล' เจ้าของพอร์ตหลัก 'พันล้านบาท' พบว่า ถือหุ้นจำนวน 8,507,900 ล้านหุ้น คิดเป็น 2.81% 'เสี่ยปู่' เคยบอกไว้ว่า มีมุมมอง 'หุ้น SAPPE' เป็นหุ้นที่มีผลการดำเนินเติบโตในอนาคต เพราะว่ามีแผนธุรกิจชัดเจนทั้งในและต่างประเทศ  สะท้อนผ่านผลประกอบการที่มีการเติบโตอย่างสม่ำเสมอ 

ฉะนั้น หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ กลยุทธ์การลงทุนหุ้น SAPPE ก็ยังถือต่อไปในระยะยาว…!   

หลายปีที่ผ่านมาบรรดา 'ทายาท' ตระกูล 'รักอริยะพงศ์' เข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างมาก เพื่อขยายอาณาจักรครอบครัวเล็กๆ จนเติบใหญ่มีสินค้าจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศมากมาย หนึ่งในนั้นต้องยกให้ 'ปิยจิต รักอริยะพงศ์' หลังวันที่ 9 ก.พ.2558 รับตำแหน่ง 'ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร' แทนพี่ชาย 'อดิศักดิ์ รักอริยะพงศ์' ไปนั่งในตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหาร ดูทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจโดยรวม

โดย 'เซ็ปเป้' ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ และเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและความงาม โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่มผลิตภัณฑ์หลัก ภายใต้ตราสินค้าทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วย 1.'ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและความงาม' ได้แก่ เซ็ปเป้ บิวติ ดริ้งค์ , เซ็ปเป้ บิวติ ชอท และ เซนต์ แอนนา 2.'ผลิตภัณฑ์ประเภทน้ำผลไม้ เครื่องดื่มแต่งกลิ่นผลไม้' ได้แก่ เซ็ปเป้ อโลเวร่า,เซ็ปเป้ ฟอร์ วัน เดย์, โมกุ โมกุ, กุมิ กุมิ by โมกุ โมกุ และ เซ็ปเป้ จูซมี 

3.'ผลิตภัณฑ์ประเภทผงพร้อมชง เพื่อสุขภาพ และความงาม' ได้แก่ เพรียว คอฟฟี่ และ สริมฟิต คอฟฟี่ ซึ่งเป็นกาแฟควบคุมน้ำหนัก และ เพรียว คลอโรฟิลล์ มีคุณสมบัติในการช่วยดีท็อกซ์ขับล้างสารพิษ และเซ็ปเป้ บิวติ พาวเดอร์ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดผง และ 4.'ผลิตภัณฑ์ประเภทเครื่องดื่มปรุงสำเร็จพร้อมดื่ม' ได้แก่ เพรียว คอฟฟี่ แบบกระป๋อง

'ปิยจิต รักอริยะพงศ์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็ปเป้ หรือ SAPPE เล่าให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า ในปี 2560 ตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์นั้น สถานการณ์เรียกว่า 'แข่งเดือด' มากขึ้น และมี 'คู่แข่ง' เข้ามาแบ่งเค้กมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์นั้นใหญ่หลักแสนล้านบาทเลยทีเดียว

โดยปี 60 ถือเป็นอีกหนึ่งปีที่ 'ท้าทาย' อย่างยิ่งยวดสำหรับการดำเนินธุรกิจเครื่องดื่ม เพราะนอกจากตลาดจะอยู่ในสภาวะหดตัว แต่สถานการณ์มีสัญญาณบ่งชี้กำลังฟื้นตัว ขณะที่ในบริษัทมีสัดส่วนรายได้ต่างประเทศเป็นหลัก ฉะนั้น จะได้ปัจจัยบวกจากส่งออกกลับมาเติบโต...!  

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2560 ตั้งเป้าเติบโต 'ระดับ10%' จาก 2,790 ล้านบาท ในปีก่อน ซึ่งเป็นการเติบโตจากยอดขายในประเทศ 5-7% ตามการออกผลิตภัณฑ์ใหม่เพิ่มเติม และมีกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่อง ส่วนยอดขายจากต่างประเทศคาดปีนี้เติบโต 15% จากปีก่อน จากความต้องการสินค้าที่ยังค่อนข้างสูง และจากการขยายช่องทางจำหน่ายของบริษัทที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องด้วย

ณ ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ต่างประเทศ 65% และตลาดในประเทศ 35%

ขณะที่ บริษัทจะได้รับผลกระทบจากกรณีรัฐเตรียมเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีค่าความหวานหรือน้ำตาลราว 1% ของรายได้ทั้งหมดที่อยู่ในกลุ่มที่ถูกเก็บภาษี โดยปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างศึกษาตลาดเพื่อออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในปี 2561 เป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เพื่อเข้ามาทดแทนในสิ่งที่บริษัทได้รับผลกระทบ

เธอ เล่าต่อว่า ปัจจุบัน 'โลกดิจิทัล' เข้ามามีผลต่อการทำตลาดและประชาสัมพันธ์สินค้ามากขึ้น ที่สำคัญคือ 'พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว' เหล่านี้ถือเป็นปัจจัยภายนอกที่มีอิทธิพลต่อการ 'ปรับตัว' ของบริษัทในช่วงที่ผ่านมาดังนั้น บริษัทต้องปรับตัวและที่สำคัญมีมากมายเพื่อมาเสริมแกร่ง (Strengths) ให้กับองค์กร เริ่มตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ที่ต้องมี 'นวัตกรรม' เข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น เพื่อออกสินค้าใหม่แล้วสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้บริโภค เรียกว่าออกมาแล้วต้องปัง! และโดนใจ พร้อมกันนี้ยังได้ 'โยกงบการตลาด' ให้น้ำหนักกับการรุก 'ออนไลน์' มากขึ้น จากที่ผ่านมางบประมาณ 70-80% จะอยู่บนแพลตฟอร์มทั่วไป เช่น โฆษณาทางโทรทัศน์ ปัจจุบันใช้ผ่านออนไลน์มากขึ้นสัดส่วน 50% จากเดิม 20% 

'พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงเร็ว นับเป็นความท้าทายมากในการทำธุรกิจของบริษัทอย่างมาก'

อย่างไรก็ตาม การบุกตลาดเครื่องดื่มจนสร้างชื่อในเมืองไทยแล้ว แต่สำหรับเป้าหมายใหญ่ (Ultimate goal) ของทายาท SAPPE คือการสังเวียนธุรกิจ 'ระดับโลก' โดยปัจจุบันบริษัทมีสินค้าส่งออกไปทำตลาดมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก แต่ยังอยู่ในขั้น 'จำหน่ายสินค้า' ยังไม่มีการ 'สร้างการรับรู้แบรนด์' (Brand awareness) และทำตลาดแต่อย่างใด

'หุ้นใหญ่' บอกต่อว่า บริษัทเตรียมเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน 'บริษัท โคโคนัท แฟคทอรี่ จำกัด (CCF)' ซึ่งทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าแปรรูปจากมะพร้าวภายใต้ยี่ห้อสินค้า ALL COCO เป็น 60% ภายในปี 2563 จากปัจจุบันมีสัดส่วนถือหุ้นอยู่ที่ 40% โดยบริษัทจะเริ่มทยอยเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นตั้งแต่ปี 2561 ที่ 51%การเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นครั้งนี้เนื่องจากมองเห็นศักยภาพการเติบโตที่มีอีกมาก โดยคาดว่าผลประกอบการของ ALL COCO จะเริ่มสร้างกำไรได้ตั้งแต่ปี 62 เป็นต้นไป

โดยตั้งเป้ารายได้ ALL COCO ในปี 2560 ไว้ที่ 200 ล้านบาท ก่อนปรับเพิ่มเป็น 250 และ 300 ล้านบาทในปี 61 และ 62 ตามลำดับอย่างไรก็ดี ในขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินงบลงทุนในการเข้าซื้อหุ้นได้เนื่องจากบริษัทจะต้องเข้าซื้อหุ้นตามราคาตลาดซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลง อนึ่ง บริษัทซื้อหุ้นในสัดส่วน 40% เข้ามาในราคาราว 160 ล้านบาท

ท้ายสุด 'หญิงเก่ง' ทิ้งท้ายไว้ว่า ตลาดส่งออกในภูมิภาคทั่วโลกเริ่มฟื้นตัว และมีอัตราการเติบโตอย่างมาก ฉะนั้น สามารถเข้ามาชดเชยรายได้ที่หายไปจากการขายบริษัทย่อยในประเทศอินโดนีเซียได้ เห็นจากการเติบโตของรายได้ของบริษัท

โบรกปรับคำแนะนำ 'ซื้อ'

บล.ทิสโก้ ระบุว่า แนวโน้มยอดขาย SAPPE เพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่องจากการพัฒนาสินค้าใหม่ตอบโจทย์ผู้บริโภคในเรื่องเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและการขยายตลาดส่งออกมองหากลุ่ม distributor ประเทศใหม่ๆ เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

สำหรับในประเทศแม้ว่าการแข่งขันกลุ่มเครื่องดื่มยังคงรุนแรงแต่จากการพัฒนาสินค้าใหม่ต่อเนื่อง ทำให้ยังคงรักษายอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องได้ และจากแนวโน้มผลประกอบการที่ดีกว่าที่คาดไว้จากการบริหารควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ 

รวมถึงแผนการขยายกำลังการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นในปีหน้าและปีถัดไปที่จะช่วยเพิ่มมาร์จิ้นดีขึ้นและรองรับการขยายตลาดส่งออก และโอกาสการเติบโตจากการลงทุนในกิจการโคโคนัท แฟคทรอรี่เป็นปัจจัยบวกต่อบริษัทในระยะยาวจากน้ำมะพร้าวที่กำลังเป็นที่นิยม ฉะนั้น ยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายปี 2561 เป็น 39 บาท    

บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) ระบุว่า แนวโน้มยอดขายที่เพิ่มขึ้น แบ่งเป็นในไทยเพิ่มขึ้น 5% จากการออกสินค้าใหม่ และส่วนหนุนจากตัวแทนจำหน่ายรายใหม่ สามารถกระจายสินค้าครอบคลุมมากขึ้น ส่วนต่างประเทศคาดเพิ่มขึ้น 7% แม้ราคาขายเฉลี่ยจะลดลง แต่จะถูกชดเชยด้วยปริมาณขายที่เติบโตดี ซึ่งปีนี้บริษัทมีแผนเพิ่มตัวแทนจำหน่ายจีนอีก 2 ราย เดิมมี 4 ราย 

ทั้งนี้ยอดขายจีนน่าจะเป็นสัดส่วนที่น้อยอยู่ และเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทางฝ่ายปรับกำไรปี 60 ขึ้นมาที่ 384 ล้านบาท ลดลง 6.3% แต่หากพิจารณาเฉพาะกำไรปกติคาดเพิ่มขึ้น 1.9%

ขณะที่แนวโน้มกำไรปี 61 คาดทำได้ 432 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.3% พร้อมยอดขายเพิ่มขึ้น 12.4% จากกำลังซื้อในประเทศที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัว และการขยายตลาดต่างประเทศต่อเนื่อง โดยบริษัทมีแผนขยายกำลังผลิตราว 10% ในปี 61 และคาดว่าจะลงทุนเครื่องจักรใหม่เพิ่มในปี 62 คงคำแนะนำ 'ซื้อเก็งกำไร' ราคาพื้นฐานปี 61 ที่ 31.50 บาท อิง P/E ที่ 22 เท่า