ททท.ของบ 3.2พันล้านเสริมแกร่งจังหวัดรอง

ททท.ของบ 3.2พันล้านเสริมแกร่งจังหวัดรอง

ททท.ชงของบกลาง 3,260 ล้านบาท พัฒนาความพร้อมท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัดรวด ผลักดันงบเข้าจังหวัดละ 50 ล้านบาท หวังผลระยะยาวสร้างความเข้มแข็งท้องถิ่นรองรับนักท่องเที่ยว-เข้าถึงตลาด ดึง ยักษ์“ไอที”เสริมแกร่ง จัดเทศกาลเที่ยวเมืองไทยบูมเงินสะพัด 420 ล้าน

จากนโยบายรัฐบาลในการผลักดันการท่องเที่ยวสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจระดับฐานรากและกระจายรายได้ ด้วยการส่งเสริมศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวให้มีความสามารถในการรองรับตลาด 

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่าขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมเสนอแผนโครงการส่งเสริมและสร้างความเข้มแข็งห่วงโซ่คุณค่าด้านการท่องเที่ยวเมืองรอง เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว ภายใต้งบประมาณรวม 3,260 ล้านบาท 

โดยแบ่งเป็น 1.งบรวม 2,750 ล้านบาทสำหรับจัดสรรลง 55 จังหวัดรอง จังหวัดละ 50 ล้านบาท สำหรับการปรับปรุงปัจจัยพื้นฐานด้านสินค้าการท่องเที่ยว, การพัฒนาบุคลากรในพื้นที่, การเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกของนักท่องเที่ยว ผ่านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ และการพัฒนาตลาดและประชาสัมพันธ์เพื่อการท่องเที่ยว 2.ใช้งบประมาณ 410 ล้านบาทสำหรับแคมเปญกิจกรรม “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ โกโลคัล” หรือ เที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต ซึ่งเปิดตัวไปแล้วที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีเป้าหมายกระตุ้นการใช้จ่ายราว 1 หมื่นล้านบาทสำหรับ 55 จังหวัดเมืองรอง 

และ 3.โครงการทัวริสซึ่ม บิ๊ก ดาต้า จำนวน 100 ล้านบาท เพื่อใช้ระบบไอทีในการจัดเก็บข้อมูลด้านการท่องเที่ยวและนำมาใช้ประโยชน์ด้านการตลาดต่อไป

ดึงยักษ์ไอทีเสริมแกร่งตลาด

สำหรับแนวคิดหลักในการผลักดันโครงการนี้หวังผลระยะยาวให้ชุมชนมีความพร้อมรับการท่องเที่ยว ซึ่ง ททท.จะประสานความร่วมมือกับระดับจังหวัดในการออกแบบแผนการพัฒนา ที่สอดคล้องกับจุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละพื้นที่ เข้าไปปรับปรุงให้ตรงกับความต้องการที่แต่ละจังหวัดมีไม่เหมือนกัน 

โดยอาจมีเมนูหลักบางเรื่องเป็นโจทย์ตั้งต้นให้ เช่น ททท.เป็นผู้รวบรวมความร่วมมือกับบริษัทไอทีชั้นนำต่างๆ ระดับโลก เช่น กูเกิล, เฟซบุ๊ค, ทริปแอดไวเซอร์, เทนเซนต์ ในตลาดจีน มาทำการอบรมให้ความรู้ด้านการทำตลาดออนไลน์เพื่อเข้าถึงนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีเข้าถึงสินค้าและบริการท่องเที่ยวมากขึ้น เช่นเดียวกับการอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว ก็ต้องมองในมิติใหม่ เช่น สมัยก่อนอาจต้องการป้ายบอกทาง แต่ปัจจุบันต้องปรับเปลี่ยนเป็นการใช้แผนที่อิเลคทรอนิคส์แทน เป็นต้น

นอกจากนั้น หากจังหวัดใดต้องการการสร้างการรับรู้อาจใช้เครื่องมือประเภทอีเวนท์เข้าช่วยกระตุ้นตลาด และอาจจะผนวกรวมกับโครงการทัวริสซึ่ม คลีนิค ของนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ต้องการจัดตั้งทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าไปแก้ปัญหาท่องเที่ยวรายแหล่งได้

แจงไม่ซ้ำซ้อนงบจังหวัด

นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่าโครงการนี้จะไม่ซ้ำซ้อนกับงบการพัฒาจังหวัดที่ส่วนใหญ่จะไปเน้นเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน แต่โครงการที่ ททท.เสนอจะไม่เน้นสิ่งปลูกสร้างต่างๆ แต่จะช่วยให้ชาวบ้านรู้จักวิธีสร้างความเข้มแข็งบริหารจัดการองค์ประกอบด้านการท่องเที่ยวของตัวเองให้พร้อม ซึ่งอาจเป็นสิ่งที่งบการพัฒนาจังหวัดเดิมๆ ยังไม่ค่อยมีเสริมในจุดนี้

“ตั้งโครงการนี้ขึ้นมาเพื่อสนองแนวคิดรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวและเกษตรเป็นหลัก และเมื่อมีการประกาศนโยบายส่งเสริม 55 จังหวัดมาแล้ว ดีมานด์นักท่องเที่ยวกำลังจะเข้าไปแล้ว แต่สิ่งที่ยังน่ากังวลคือศักยภาพในการรองรับอย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ดังนั้นจึงต้องมีความพร้อมในจุดนี้ด้วย”

ลุย“อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ สงกรานต์"

นายยุทธศักดิ์ เสริมด้วยว่าในช่วงเดือน ม.ค.- มี.ค. นี้ซึ่งเป็นช่วงที่คนไทยกำลังเตรียมวางแผนเดินทางไปต่างประเทศนั้น มีแผนการสร้างแรงจูงใจให้คนกลุ่มดังกล่าวเดินทางภายในประเทศแทน นอกจากมาตรการลดหย่อนภาษีใน 55 จังหวัดรองแล้ว จะการปูพรมจัดงานเทศกาลต่างๆ ต่อเนื่องเพื่อสร้างสีสันทุกเดือน เช่น ก.พ.จะมีการจัดงานตรุษจีน ส่วนเดือน มี.ค.จะเริ่มโหมโรงโปรโมทเทศกาลสงกรานต์ โดยปีนี้วางแผนจัดงาน “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ สงกรานต์ สแปลช” 5 แห่งเน้นเมืองรองเป็นหลัก ขณะนี้มีจังหวัดที่สรุปแล้ว ได้แก่ กาฬสินธุ์ และนครศรีธรรมราช ส่วนอีก 3 จังหวัดอยู่ระหว่างพิจารณา อาทิ พิจิตร

สำหรับตลาดในประเทศตลอดปี 2560 มีการเดินทางราว 153 ล้านคน/ครั้ง สร้างรายได้ราว 9.6 แสนล้านบาท ซึ่งด้วยจำนวนที่อ่อนกว่าเป้าที่ตั้งไว้ราว 154 ล้านคน/ครั้ง ทำให้ยิ่งเห็นความสำคัญในการกระตุ้นตลาดแบบกระจายความหนาแน่น เนื่องจากน้ำหนักของรายได้และจำนวนนักท่องเที่ยวเทไปอยู่เมืองหลักมากเกินไป จนอาจจะรองรับไม่ได้หมด

บูมเทศกาล“เที่ยวเมืองไทย”

ขณะเดียวกัน เตรียมจัดงานเทศกาลเที่ยวเมืองไทย"ครั้งที่ 38 ประจำปี 2561 ระหว่างวันที่ 17 - 21 ม.ค.2561 เวลา 12.00 - 22.00 น. ณ สวนลุมพินี ไม่ต่ำกว่า คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 6 แสนคน สร้างแรงบันดาลใจให้เกิดเดินทางท่องเที่ยวจริงไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ในประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 61% ของผู้เข้าร่วมชมงาน ซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้ในระหว่างการจัดงานให้ชุมชน/ผู้ประกอบการ ที่เข้าร่วมงานในทันทีกว่า 420 ล้านบาท ส่งผลให้เกิดรายได้จากการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศกว่า 1 ล้านล้านบาทตามเป้าหมายของปี 2561

ด้านนายสันติ ชุดินธรา รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ ททท. กล่าวว่า เตรียมส่งเสริมการท่องเที่ยวลงพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น และผลักดันให้เป็นที่รู้จักกับตลาดต่างประเทศ โดยสนับสนุนจัดการแข่งขันวิ่งผลัด “กรุงศรีอยุธยาคิซูน่า เอกิเด้ง 2018” ที่จังหวัดอยุธยาเป็นครั้งที่ 2 เพื่อสานความสัมพันธ์อันดี 130 ปีไทย-ญี่ปุ่น และคาดว่าจะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งไทยและญี่ปุ่นกว่า 2,000 คน โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น ที่มีการเดินทางเข้ามากว่า 1.54 ล้านคนในปีที่ผ่านมา และสร้างรายได้กว่า 6.5 หมื่นล้านบาท