The Cheesecake Factory Bakery ชีสเค้กรับแขกแห่งเมืองลุงแซม

The Cheesecake Factory Bakery ชีสเค้กรับแขกแห่งเมืองลุงแซม

เปิดตำนานชีสเค้กชื่อดังของอเมริกา จากสูตรในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นสู่อาณาจักรเบเกอรี่ 200 สาขาทั่วโลก วันนี้มาถึงเมืองไทยแล้ว

ในบรรดาทำเนียบขนมประเภท ‘เบเกอรี่’ ที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของประเทศสหรัฐอเมริกา นักชิมเบเกอรี่และนักวิจารณ์อาหารในสหรัฐฯ ต่างใส่คะแนนรัวๆ ให้กับความอร่อยของ ชีสเค้ก (cheesecake) ภายใต้แบรนด์ The Cheesecake Factory Bakery (เดอะ ชีสเค้ก แฟคทอรี่ เบเกอรี่) มาตั้งแต่ปีค.ศ.1972(พ.ศ.2515)

ปัจจุบัน ชีสเค้กของ The Cheesecake Factory Bakery กลายเป็นหน้าเป็นตาและเป็นขนมรับแขกอย่างหนึ่งประจำ ‘เมืองลุงแซม’ เฉพาะในสหรัฐอเมริกามีสาขาเกือบ 200 แห่ง

ใครมีโอกาสไปเรียนหนังสือ หรือไปเยือนแผ่นดิน ‘ลุงแซม’ เป็นครั้งแรก เจ้าบ้านมักแนะนำหรือไม่ก็พาไปกินชีสเค้กร้านนี้

The Cheesecake Factory Bakery ชีสเค้กรับแขกแห่งเมืองลุงแซม

ออสการ์และเอเวอลีน โอเวอร์ตัน (credit : www.thecheesecakefactory.com)

++ จุดเริ่มต้นของ The Cheesecake Factory Bakery

เรื่องราวของ เดอะ ชีสเค้ก แฟคทอรี่ เบเกอรี่ เริ่มต้นเมื่อปีค.ศ.1940(พ.ศ.2483) ที่เมืองดีทรอยต์ รัฐมิชิแกน สหรัฐอเมริกา เมื่อนาง เอเวอลีน โอเวอร์ตัน (Evelyn Overton) พบสูตรขนมชีสเค้กในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น 

เอเวอลีนลองทำตามสูตรแล้วพบว่าเป็นชีสเค้กที่อร่อยเด็ด เธอจึงตัดสินใจอบชีสเค้กเพื่อขายให้กับร้านอาหารในท้องถิ่น และฝันจะเปิดร้านขนมชีสเค้กเป็นของตัวเองให้ได้ในวันหนึ่ง

The Cheesecake Factory Bakery ชีสเค้กรับแขกแห่งเมืองลุงแซม

ออริจินัล ชีสเค้ก แบบปอนด์ แบ่งหั่นเป็นชิ้นของ The Cheesecake Factory Bakery

กระทั่งในปีค.ศ.1972(พ.ศ.2515) เมื่อลูกๆ โตพอสำหรับการเดินทาง เอเวอลีนและออสการ์ (Oscar) สามีของเธอ จึงตัดสินใจย้ายไปสร้างครอบครัวที่ลอสแอนเจลิส (Los Angeles) เปิดร้านขายชีสเค้กจริงจังโดยใช้ชื่อ The Cheesecake Factory Bakery เริ่มจัดจำหน่ายชีสเค้กมากกว่า 20 ชนิดของเอเวอลีน ไปยังร้านอาหารต่างๆ ทั่วลอสแอนเจลิส

ปีค.ศ.1978(พ.ศ.2521) เดวิด -ลูกชายของเอเวอลีน- มีความคิดอยากเปิดร้านอาหารที่ลูกค้าจะได้อร่อยกับขนมของแม่ได้อย่างเต็มที่ และปลายปีนั้นเอง พวกเขาจึงได้เปิดร้านอาหารร้านแรกขึ้นในย่านเบเวอร์ลี ฮิลล์ แคลิฟอร์เนีย โดยใช้ชื่อว่า The Cheesecake Factory (เดอะ ชีสเค้ก แฟคทอรี่) ร้านแห่งนี้ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วแม้มีรายการอาหารเริ่มต้นเพียง 1 หน้ากระดาษ  เป็นอาหารประเภทแซนด์วิช สลัด และชีสเค้กกว่า 10 ชนิดก็ตาม 

เดอะ ชีสเค้ก แฟคทอรี่ ร้านที่ 2 เปิดตามมาในปีค.ศ.1983(พ.ศ.2526) ตั้งอยู่ที่ มารินา เดล เรย์ (Marina del Rey) ติดอันดับย่านหรูหราริมทะเลแห่งลอสแอนเจลิส ตามมาด้วยสาขาต่างๆ อีกมากมาย ขณะนี้มีร้าน The Cheesecake Factory มากกว่า 200 สาขาทั่วโลก

ปัจจุบัน อาณาจักรชีสเค้กแบรนด์นี้ประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ คือ

The Cheesecake Factory ร้านอาหารเต็มรูปแบบ มีอาหารหลากหลายแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ อาทิ Small Plates & Snacks & Appetizer, Salads, Super Foods, Pizza, Lunch Specials, Glamburgers(จดลิขสิทธิ์)&Sandwiches, Pastas, Steaks Chops Fish & Seafood 

The Cheesecake Factory Bakery แบรนด์ชีสเค้กชั้นเยี่ยม ทำจากครีมชีสหอมมันวางบนเค้กทำจากแครกเกอร์แกรแฮมบดละเอียด สร้างความกลมกล่อมลงตัว ให้รสชาติคลาสสิก เป็นตัวแปรสำคัญในการมัดใจลูกค้า ขนมทุกชิ้นใน The Cheesecake Factory Bakery ทำขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์และความพิถีพิถันในการคัดเลือกวัตถุดิบ ไม่ว่าจะเป็น ครีมชีส น้ำตาล ไข่ วานิลลาและครีม คุณภาพระดับ Top Quality ที่นำมาใช้ในการผลิต ‘ชีสเค้ก’ ทั้งสูตรดั้งเดิมของแบรนด์ และชีสเค้กรูปลักษณ์ร่วมสมัย รวมกว่า 24 รสชาติพื้นฐาน และชีสเค้กรสชาติใหม่ๆ ตามฤดูกาลวัตถุดิบ รวมทั้งเบเกอรี่ประเภทอื่นๆ อีกมากมาย เพื่อให้คงมาตรฐานรสชาติอันยอดเยี่ยมที่ได้รับการการันตีจากลูกค้าร้าน The Cheesecake Factory กว่า 200 สาขาทั่วโลก ซึ่งได้รับการโหวตให้เป็น The Best Desserts in Casual Dining เป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน ตั้งแต่ปีค.ศ.2010-2014 จาก Zagat Survey ที่เป็น National Restaurant Reviewer ที่มีชื่อเสียงระดับโลก

The Cheesecake Factory At Home คือชีสเค้กของ เดอะ ชีสเค้ก แฟคทอรี่ เบเกอรี่ ในรูปแบบบรรจุภัณฑ์สำหรับซื้อกลับบ้าน และส่งขายให้กับร้านค้าปลีกรวมทั้งซูเปอร์มาร์เก็ตที่จะนำไปวางจำหน่ายในตู้แช่แข็ง

The Cheesecake Factory Bakery ชีสเค้กรับแขกแห่งเมืองลุงแซม

 พิธิวัฒน์ ศิริอำพันธ์กุล และ จิราวัฒน์ ตั้งกิจชัยวัฒน์ (ภาพ : ปราโมทย์ พุทไธสง)

++ มาถึงเมืองไทยแล้ว

ล่าสุด สุดยอดชีสเค้กของอเมริกาแบรนด์นี้มีวางจำหน่ายในเมืองไทยแล้วตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม พ.ศ.2560

“ตัวที่เรานำเข้ามาเป็น เดอะ ชีสเค้ก แฟคทอรี่ เบเกอรี่ และเดอะ ชีสเค้ก แฟคทอรี่ แอท โฮม เป็นใบอนุญาต(license)ที่มีเฉพาะในส่วนของชีสเค้ก หรือสินค้าที่เป็นเบเกอรี่เท่านั้น และเป็นการขายแบบซื้อกลับบ้าน(take-away)” พิธิวัฒน์ ศิริอำพันธ์กุล ผู้บริหารบริษัท Bank of Bakery (แบงก์ ออฟ เบเกอรี่) ผู้ได้รับสิทธิ์ในการนำเข้าชีสเค้กแบรนด์นี้จากสหรัฐอเมริกาเข้ามาจำหน่ายในเมืองไทย กล่าวกับ @taste ซึ่งใช้เวลาเจรจาธุรกิจร่วมปีทั้งการเดินทางไปติดต่อ การประชุมทางไกลผ่านวีดิโอ อีเมล กว่าจะได้รับสิทธิ์การนำเข้า

เอเวอลีนทำชีสเค้กหลายขนาด ขนาดปกติ(Regular) เส้นผ่าศูนย์กลาง 9 นิ้ว ซึ่งเมื่อหั่นขายเป็นชิ้นแล้ว ก็จะได้ชีสเค้กขนาด 4.5 นิ้ว, ขนาดใหญ่ (Large) เส้นผ่าศูนย์กลาง 10 นิ้ว และ ชีสเค้กสำหรับซื้อกลับบ้าน (The Cheesecake Factory At Home) เส้นผ่าศูนย์กลาง 7 นิ้ว

ในระยะเปิดตัวสินค้าในเมืองไทย คุณพิธิวัฒน์นำผลิตภัณฑ์เฉพาะในส่วน ‘ชีสเค้ก’ ของ เดอะ ชีสเค้ก แฟคทอรี่ เบเกอรี่ เข้ามาจำหน่ายจำนวน 13 รสชาติ (จากทั้งหมด 24 รสชาติ) และสามารถทำราคาได้ถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้าน 30% เนื่องจากใช้วิธีนำเข้ามาทางเรือ

ยกตัวอย่าง ฮ่องกง ก็มีชีสเค้กของ ‘เดอะ ชีสเค้ก แฟคทอรี่ เบเกอรี่’ จำหน่าย ราคาขายอยู่ระหว่างชิ้นละ 69-79 ดอลลาร์ฮ่องกง เบเกอรี่ประเภทอื่นๆ ชิ้นละ 88 ดอลลาร์ฮ่องกง

ขณะที่เมืองไทย Original Cheesecake ขนาดปกติ(เส้นผ่าศูนย์กลาง) 9 นิ้ว และขนาดใหญ่ 10 นิ้ว ขายที่ราคา 159 บาท และ 189 บาท (ตามลำดับ)

The Cheesecake Factory Bakery ชีสเค้กรับแขกแห่งเมืองลุงแซม

Key Lime Pie Cheesecake และ Original Cheesecake ชีสเค้กเนื้อเนียนละเอียดของ The Cheesecake Factory Bakery

ชีสเค้กอีก 12 รสชาติ มีราคาแตกต่างกันตามลักษณะวัตถุดิบที่ใช้เข้ามาสร้างสรรค์ให้น่ากินยิ่งขึ้น ดังนี้ ชีสเค้กราคาชิ้นละ 189 บาท ได้แก่ Key Lime Pie Cheesecake, Triple Vanilla Cheesecake, Dulce de Leche Cheesecake,  Banoffee Cheesecake,  Chocolate Cheesecake

The Cheesecake Factory Bakery ชีสเค้กรับแขกแห่งเมืองลุงแซม

Bananas Foster Cheesecake และ Dulce de Leche Cheesecake

The Cheesecake Factory Bakery ชีสเค้กรับแขกแห่งเมืองลุงแซม

Crazy Red Velvet Cheesecake และ Dutch Apple Cheesecake

The Cheesecake Factory Bakery ชีสเค้กรับแขกแห่งเมืองลุงแซม

White Chocolate Raspberry Cheesecake

ชีสเค้กราคาชิ้นละ 199 บาท ได้แก่ Bananas Foster Cheesecake, Dutch Apple Cheesecake, Crazy Red Velvet Cheesecake, White Chocolate Raspberry Cheesecake, Tuxedo Mousse Cheesecake

ชีสเค้กราคาชิ้นละ 219 บาท ได้แก่ Blueberries and Cream Cheesecake  และ Wild Strawberries and Cream Cheesecake

คุณพิธิวัฒน์กล่าวถึงวิธีการนำเข้า ‘เดอะ ชีสเค้ก แฟคทอรี่ เบเกอรี่’ ว่า เป็นการนำเข้าชีสเค้กทั้งปอนด์แบบสำเร็จรูปจากสหรัฐอเมริกา ผ่านการขนส่งทางเรือ ใช้เวลาเดินทาง 2 เดือน ในลักษณะแช่แข็ง(Frozen) ซึ่งสามารถเก็บไว้ได้นาน 9-11 เดือนตามมาตรฐาน องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration) 

เมื่อซื้อกลับไปรับประทานที่บ้าน ควรเก็บในอุณหภูมิแช่เย็น 2-5 องศาเซลเซียส และควรรับประทานให้หมดภายใน 3-5 วัน

The Cheesecake Factory Bakery ชีสเค้กรับแขกแห่งเมืองลุงแซม

บรรจุภัณฑ์สำเร็จรูปของ The Cheesecake Factory At Home เป็นกล่องรวม 4 รสชาติยอดนิยม White Chocolate Raspberry Cheesecake, Chocolate Mousse Cheesecake, Snicker Bar Chunks and Cheesecake และ  Strawberry Topped Original Cheesecake รสชาติละ 2 ชิ้น(รวม 8 ชิ้น/กล่อง)

เอเวอลีนสร้างโรงงาน 2 แห่งสำหรับผลิตชีสเค้ก และใช้วิธีส่งชีสเค้กแบบ ‘แช่แข็ง’ ไปตามสาขาต่างๆ ทั่วสหรัฐอเมริกาและสาขาในต่างประเทศ เพื่อควบคุมและรักษามาตรฐานความอร่อยชีสเค้กของ ‘เดอะ ชีสเค้ก แฟคทอรี่ เบเกอรี่’ ไม่มีการผลิตเองตามสาขาต่างๆ

“ชีสเค้กของ ‘เดอะ ชีสเค้ก แฟคทอรี่ เบเกอรี่’ ต่างจากชีสเค้กญี่ปุ่นที่มีเนื้อเบากว่า รสชาติไม่เข้มข้นมาก ตรงที่สูตรชีสเค้กของอเมริกาเป็นอีกแบบที่เข้มข้นและเนื้อแน่น เนียนละเอียด ไม่มีเท็กซ์เจอร์ที่ร่วนเป็นเม็ดๆ เนื่องจากใช้ครีมชีสคนละชนิดกัน ความอร่อยขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล” จิราวัฒน์ ตั้งกิจชัยวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Bank of Bakery กล่าว

‘เดอะ ชีสเค้ก แฟคทอรี่ เบเกอรี่’ และ ‘เดอะ ชีสเค้ก แฟคทอรี่ แอท โฮม’ มีวางจำหน่ายภายในกูร์เมต์มาร์เก็ต ศูนย์การค้าสยามพารากอน

The Cheesecake Factory Bakery ชีสเค้กรับแขกแห่งเมืองลุงแซม

Tuxedo Mousse Cheesecake

The Cheesecake Factory Bakery ชีสเค้กรับแขกแห่งเมืองลุงแซม

Blueberries and Cream Cheesecake

++ ตำนานชีสเค้ก

ชีสเค้ก เป็นเค้กชนิตหนึ่งที่ได้รับความนิยมสูงในปัจจุบัน หาซื้อได้ง่ายตามร้านขนมอบแบบฝรั่ง ชีสเค้กได้รับการสร้างเอกลักษณ์พิเศษตามท้องถิ่นที่ทำขึ้นมาใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น French cheesecake, New York cheesecake ล้วนเริ่มต้นมาจากศิลปะโบราณของการทำชีสให้เป็นเค้กของชาวกรีก

ชาวกรีกโบราณอยู่ได้ด้วยอาหารมื้อประหยัดที่ทำจาก ข้าวสาลี น้ำมันมะกอก และไวน์ ดังนั้นจึงเข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมพวกเขาถึงคลั่ง ‘ชีส’ นักหนา 

ชาวกรีกให้ชีสกับลูกหลาน เหมือนเป็นของกินพิเศษ จนเกิดถ้อยคำ little cheese (ชีสน้อย) ที่เป็นเสมือนถ้อยคำแสดงความรักใคร่ 

ชีสชนิดแรกสุดของชาวกรีก คือ ชีสนมแกะ ซึ่งเก็บไว้ในน้ำเกลือ เพื่อถนอมไม่ให้ความร้อนรุนแรงในฤดูร้อนทำให้อาหารเสีย 

ชีสชนิดหนึ่งชื่อ เฟตา (feta) ผลิตมาหลายร้อยปีแล้ว และยังคงเป็นอาหารหลักของคนกรีกในปัจจุบัน แม้ว่าชื่อ ‘เฟตา’ ซึ่งมาจากคำในภาษาอิตาลีว่า เฟตตา (fetta) หรือ ‘ชิ้น’ (slice) จะยังไม่มีการใช้จนกระทั่งศตวรรษที่ 17 ก็ตาม รสชาติจืดๆ ของเฟตา ทำให้เป็นชีสอเนกประสงค์อย่างยิ่ง ใส่อาหารคาวหรือหวานก็อร่อยทั้งนั้น ใช้ทำชีสเค้กได้ด้วย เรื่องนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยโบราณ ชาวกรีกทำชีสเค้กไว้กินในโอกาสพิเศษ

นักประวัติศาสตร์เชื่อว่า มีการทำชีสเค้กให้นักกีฬาระหว่างการแข่งขันโอลิมปิกครั้งแรกเมื่อ 776 ปีก่อนคริสตกาลด้วยซ้ำ โดยสันนิษฐานว่าเป็นส่วนหนึ่งของอาหารสำหรับนักกีฬาที่มีชีสเป็นองค์ประกอบหลัก เค้กแต่งงานในยุคนั้น ทำจากชีสเกือบทั้งหมด 

ส่วนที่อาร์โกส (Argos) อาณาจักรของราชวงศ์กรีกโบราณ ก็มีธรรมเนียมให้เจ้าสาวนำชีสเค้กน้ำผึ้งชิ้นเล็กมาให้เพื่อนๆ ของเจ้าบ่าวกิน จากนั้นชาวโรมันรับช่วงอาหารกรีกชนิดนี้ไปอย่างรวดเร็ว 

มีการระบุถึงชีสเค้กครั้งแรกใน De agri cultura (ว่าด้วยเกษตรกรรม) ของ คาโต-ผู้อาวุโส (Cato the Elder) เมื่อราว 160 ปีก่อนคริสตกาล ผู้เขียนบรรยายการทำเค้ก (libum) วิธีทำใกล้เคียงกับชีสเค้กในปัจจุบันอย่างยิ่ง 

คราวต่อไปหากกินชีสเค้กสักชิ้น (fetta) กล่าวได้เลยว่ามนุษย์กินอาหารชนิดนี้กันมานานนับพันปี