เปิดกำแพงทึบของโรงพิมพ์ธนบัตร สู่ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

เปิดกำแพงทึบของโรงพิมพ์ธนบัตร สู่ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

จากโรงพิมพ์ธนบัตรแห่งแรกของประเทศ สู่ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดความรู้ด้านเศรษฐกิจการเงินที่เข้าถึงง่าย ไม่ใช่เรื่องไกลตัว

เรารู้จักธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติกันดี แต่หากอยู่นอกวงนักเศรษฐศาสตร์การเงิน นักวิชาการ บทบาทของธนาคารกลางก็เป็นเรื่องไกลตัว ยาก และซับซ้อน ราวกับเป็นประตูหนาหนัก ที่ทำให้ทุกคนรู้สึกห่างไกล ที่จริงเรื่องการเงินแฝงอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ประตูบ้านของธนาคารแห่งประเทศไทยจะเปิดออกเชื่อมโยงความรู้สู่ทุกคน

26853866_10213471482634555_628447725_o

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย จึงเกิดขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่การเรียนรู้ด้านเศรษฐศาสตร์การเงิน โดยใช้กลุ่มอาคารโรงพิมพ์ธนบัตรแห่งแรกของประเทศมาปรับเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ทันสมัย ซึ่งผอ.ประภากร วรรณกนก ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมความรู้ทางการเงิน ได้เล่าถึงวิสัยทัศน์ในการสร้างศูนย์การเรียนรู้ฯ แห่งนี้ว่า

“เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ด้านเศรษฐกิจ การเงิน การธนาคาร และความรู้ที่สำคัญในการดำเนินงานของธนาคารกลางด้วย เรามีบุคลากรที่มีความสามารถและฐานข้อมูลที่อยากแบ่งปันแก่ประชาชน

“สอง บทบาทการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งทำหน้าที่เป็นเสาหลักด้านเศรษฐกิจ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทย แต่การทำงานของธนาคารกลางอาจไม่สนุก ซับซ้อน ยาก ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทยก็มักสื่อสารกับนักวิชาการ หรือสถาบันการเงิน ส่วนประชาชนทั่วไปกลับรู้สึกห่างไกล ไม่เข้าใจว่าเราทำอะไร แต่จริงๆ แล้วมีความเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันของประชาชน จึงอยากทำให้เข้าใจตรงนี้มากขึ้น

“สาม ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการมาครบ 75 ปี มีประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ และเรื่องราวทรงคุณค่าด้านการเงิน ไม่ว่าจะเป็นโรงพิมพ์ธนบัตรแห่งแรก เรื่องของธนบัตรที่มีทั้งสังคมและประวัติศาสตร์ซ่อนอยู่ นี่คือการสร้างความภาคภูมิใจให้เกิดขึ้นไปพร้อมกัน”

ทุบกำแพงหนา เปิดสู่การเชื่อมโยง

ภาพของศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทยที่เริ่มเผยแพร่ไปในสื่อต่างๆ มักเป็นภาพมุมเปิดโล่งของห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย ซึ่งเป็นผนังกระจกใสเพดานสูง มองเห็นวิวแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งแต่เดิมคือผนังคอนกรีตเสริมเหล็กหนาปิดทึบ เพราะโรงพิมพ์ธนบัตรไม่ได้ใช้พิมพ์ธนบัตรอย่างเดียว แต่ยังเป็นสถานที่จัดเก็บทรัพย์สินที่มีค่าเกี่ยวกับการพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นกระดาษที่ใช้พิมพ์ธนบัตร ธนบัตรที่พิมพ์พร้อมออกใช้ และทรัพย์สินต่างๆ ที่เก็บไว้ในห้องมั่นคง ฉะนั้น อาคารนี้จึงออกแบบมาอย่างดีเยี่ยมและแข็งแรงมาก เป็นเขตความปลอดภัยขั้นสูงสุด

26782023_10213471483234570_636281473_o

ฉะนั้น โจทย์การปรับปรุงโรงพิมพ์ธนบัตรที่สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ จึงคลี่คลายจากความปิดทึบสู่ความเชื่อมโยง ซึ่งเชื่อมทั้งประชาชนทั่วไปให้เข้าถึงธนาคารแห่งประเทศไทย และเชื่อมกับชุมชนโดยรอบ เช่น วังบางขุนพรหมซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ชุมชนวัดสามพระยา ยาวไปถึงชุมชนบางลำพู ซึ่งเป็นชุมชนเก่าแก่ การออกแบบจึงเปิดโล่งและเชื่อมพื้นที่เข้าหากัน ทั้งการใช้สอยภายใน ไปจนถึงภายนอกที่มีระเบียงริมแม่น้ำเจ้าพระยา สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ทุกพื้นที่

การแบ่งปันคือการเรียนแห่งปัจจุบันและอนาคต

การออกแบบพื้นที่ต้องสอดคล้องกับการดำเนินงานของศูนย์การเรียนรู้ฯ ซึ่งประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย และพื้นที่กิจกรรม ทั้งนิทรรศการถาวร แต่อยู่นอกพื้นที่นิทรรศการหลัก รวมถึงพื้นที่นิทรรศการชั่วคราว ที่จะนำเสนอต่อไปในอนาคต

ผอ.ประภากร อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้างและการทำงานของศูนย์การเรียนรู้ว่า

“หน้าที่หลักของศูนย์การเรียนรู้ คือเป็นสถานที่เปิดให้ทุกคนเข้ามาศึกษาหาความรู้ และมีพื้นที่ให้แลกเปลี่ยนกัน เพราะการเรียนรู้สมัยใหม่ ไม่ใช่เพียงการเรียนรู้จากหนังสือ หรือสื่อแบบเดิมๆ แต่ยังมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น เสวนาแนะนำหนังสือโดยนักคิดนักเขียน เพื่อมาแบ่งปันและต่อยอดความคิดกัน เพราะเราเชื่อว่าเศรษฐกิจในยุคดิจิทัล ก็ต้องการนวัตกรรมที่จะไปเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน เราหวังว่าพื้นที่นี้จะเป็นพื้นที่เปิดให้ประชาชน นักคิด นักวิชาการเข้ามาแลกเปลี่ยนกันได้”

พื้นที่หลักของศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

ประกอบไปด้วย พิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย และพื้นที่กิจกรรมซึ่งมีทั้งนิทรรศการและกิจกรรมเพื่อต่อยอดความรู้ต่างๆ

ห้องสมุดพระองค์เจ้าวิวัฒนไชย มี 2 ชั้น เปิดกว้างให้ประชาชนเข้ามาใช้ได้เลย โดยไม่ต้องสมัครเป็นสมาชิก สามารถเข้ามานั่งเล่น อ่านหนังสือซึ่งส่วนใหญ่เน้นด้านเศรษฐกิจการเงิน แต่ก็มีหนังสือแนวอื่นอยู่เช่นกันเพื่อความหลากหลาย แต่หากต้องการเข้าถึงบริการเฉพาะ ก็ต้องสมัครสมาชิก เช่น การยืมหนังสือ การใช้ห้องประชุม ห้องนิวมีเดีย รวมถึงองค์ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์การเงิน

26781739_10213471305070116_1252710961_o

“เรามีสิ่งพิมพ์และอิเล็กทรอนิกส์รีซอร์สด้านนี้กว่า 30,000 รายการ มีออนไลน์ดาต้าเบสอยู่อีกประมาณสิบฐานข้อมูล ซึ่งบางฐานข้อมูลไม่มีบริการในที่อื่น และยังมีคอลเลกชั่นที่เชื่อมโยงข้อมูลกับห้องสมุดชั้นนำของโลกกว่า 7,000 แห่ง เป็นบริการที่เรียกว่าออนไลน์ คอมพิวเตอร์ ไลบรารี เซ็นเตอร์ สามารถเข้ามาสืบค้นได้ มีค่าบริการ แล้วแต่ห้องสมุดต้นทางเรียกค่าบริการอย่างไร”

ศูนย์การเรียนรู้ฯ ยังคงโครงสร้างเดิมของโรงพิมพ์ไว้ ในห้องสมุด เราจะได้เห็น “ห้องมั่นคง” ซึ่งเป็นห้องเก็บธนบัตรที่พิมพ์เสร็จแล้วและทรัพย์สินมีค่าที่เกี่ยวกับการพิมพ์ โดยยังได้เห็นกำแพงหนา 1 เมตร กับประตูเหล็กที่มีสลักอันโตอยู่รอบประตู ประตูรักษาความปลอดภัยขั้นสูงนี้ จะเปิดปิดได้ด้วยคน 3 คนที่ถือรหัสคนละชุดกันเท่านั้น ปัจจุบัน คือ Knowledge Bank ห้องเก็บสิ่งพิมพ์ความรู้ด้านการเงิน โดยห้องมั่นคงนี้จะมีอยู่ 5 ชั้น ห้องที่มีประตูแบบนี้คือ 3 ชั้นด้านบน ส่วนอีก 2 ชั้นอยู่ใต้ดิน ไม่มีประตู แต่เข้าถึงกันได้โดยลิฟต์

26855196_10213471482874561_795673931_o

ห้องมั่นคงยังอยู่ในส่วนของพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย ซึ่งกินพื้นที่ 4 ชั้น ตั้งแต่ชั้นใต้ดิน 2 ชั้นจนมาถึงชั้น 2

พื้นที่แรก เริ่มที่ชั้น 2 หลังจากเข้าสู่พิพิธภัณฑ์คือโถงกว้าง ซึ่งเป็นนิทรรศการโรงพิมพ์ธนบัตร จัดแสดงเครื่องพิมพ์ธนบัตรรุ่นแรกที่มาพร้อมโรงพิมพ์ตั้งแต่ 48 ปีที่แล้ว ปัจจุบันทั่วโลกไม่มีเครื่องพิมพ์แบบนี้แล้ว เป็นพื้นที่สำหรับพิมพ์ธนบัตรจริงในอดีต ซึ่งจะมีเครื่องพิมพ์วางเรียงรายมากมาย ขณะนี้คือนิทรรศการมัลติมีเดียที่ทำให้เราได้เห็นภาพรวมของประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเงินในประเทศที่เล่าผ่านโรงพิมพ์ธนบัตรแห่งแรกของไทย

_U2B2820

จากนั้นลงลิฟต์ไปยังชั้นใต้ดิน B2 กับนิทรรศการเงินตรา 1 ซึ่งเล่าประวัติศาสตร์เงินตรา ตั้งแต่เหรียญเงินเหรียญแรกของโลก แห่งอาณาจักรลีเดียเมื่อราว 500 ปีก่อนคริสตกาล จนมาถึงอาณาจักรสยาม ยุคต้นรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลที่ 3 ซึ่งระหว่างวิวัฒนาการก็จะจัดแสดงไทม์ไลน์ของการเคลื่อนไหวด้านการเงินที่สำคัญของโลกด้วย

26782256_10213471483114567_997864756_o

ขึ้นมาที่ชั้น B1 กับนิทรรศการเงินตรา 2 จะเริ่มต้นที่เรื่องเงินตราสมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงรัชกาลที่ 9 วิวัฒนาการจากเหรียญเงินสู่ธนบัตร ซึ่งธนบัตรแต่ละใบที่จัดแสดงนั้น ล้วนมีความสำคัญและความรู้ที่สะท้อนสังคม การเมือง วิกฤติ และปัจจัยรอบด้านที่ประเทศต้องเผชิญในแต่ละช่วงเวลา

exhibition2

ต่อมาที่ ชั้น 1 นิทรรศการบทบาทหน้าที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ชั้นนี้ออกแบบบรรยากาศให้สว่างทันสมัย สื่อถึงความโปร่งใส ต่างจากบรรยากาศในอดีตของ 2 ชั้นด้านล่าง นิทรรศการนี้แสดงประวัติและบทบาทหน้าที่ของธนาคารแห่งประเทศไทย ผ่านนโยบายและสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยแต่ละสมัย

26827784_10213471482954563_1858332076_o

ดีไซน์โครงสร้างที่เป็นคลื่นโค้งสูงต่ำนั้น ไม่ได้เพื่อความสวยงามเท่านั้น แต่ยังแสดงถึง GDP ซึ่งโค้งขึ้น และภาวะเงินเฟ้อ เงินฝืดต่างๆ  ซึ่งเว้าลง โดยค่าความโค้งเว้านั้นออกแบบมาจากตัวเลขจริง เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นภาวะของเศรษฐกิจไทยในช่วงเวลานั้นชัดเจน

หลังจากเข้าใจเรื่องระดับนโยบายแล้ว ก็ปิดท้ายนิทรรศการนี้ด้วยความรู้พื้นฐานด้านการเงินที่ประชาชนควรรู้ ตั้งแต่การลงทุน การออมเพื่อวัยเกษียร ฯลฯ ที่เข้าถึงชีวิตประจำวันของคนมากขึ้น

การชมพิพิธภัณฑ์จะมีเจ้าหน้าที่นำชมเป็นรอบๆ เพื่ออธิบายความรู้เสริมขึ้นมาจากวัตถุจัดแสดง แต่ถ้าใครอยากอ่านเพิ่มก็สามารถสแกนคิวอาร์โค้ดเชื่อมไปสู่ข้อมูลที่ลึกขึ้น และหากความรู้ในพิพิธภัณฑ์จุดประกายให้ค้นเพิ่มเติม ห้องสมุดก็เป็นคำตอบลำดับต่อไป

กระแสแห่งโลกการเงิน      

คีย์เวิร์ดหนึ่งซึ่งได้ยินตลอดนิทรรศการคือการเปรียบเปรยด้วยกระแสน้ำ ซึ่งกลายมาเป็นคีย์วิชวลในวีดิทัศน์และนิทรรศการ ผอ.ประภากรบอกว่า กระแสน้ำที่ผันผวนและขึ้นลงตลอดเวลาคือกระแสความเคลื่อนไหวของโลกการเงิน ที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยอยากย้ำให้คนไทยรู้ นอกจากนี้กระแสน้ำยังสัมพันธ์กับที่ตั้งของธนาคารแห่งประเทศไทยที่อยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ให้คนได้สังเกตการณ์ขึ้นลงอยู่ของสายน้ำ

ในเมื่อกระแสของเศรษฐกิจการเงินมีความผันผวนได้เสมอ (แต่ก็ยังสามารถพยากรณ์ได้) สิ่งที่เราควรมีไว้ก็คือความรู้ด้านการเงินเพื่อที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้อนาคต

/////////////////////

Camping Fin For Fun

26220026_555800798102685_319818369499296567_n

ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย ขอเชิญน้อง ๆ หนู ๆ เข้าร่วมกิจกรรมงานวันเด็ก ในวันเสาร์ที่ 13 มกราคม 2561

ปีนี้มาในธีม Camping Fin For Fun ภายในงานพบกับซุ้มเกมและกิจกรรมบนเวทีต่าง ๆ มากมาย อาทิ เกมบิงโก งานประดิษฐ์จากจานกระดาษ รวมถึงซุ้มอาหารแสนอร่อยที่เตรียมไว้ให้น้อง ๆ อย่างเต็มที่

นอกจากเด็ก ๆ จะได้รับความสนุกจากกิจกรรม ได้รับความรู้ การปลูกฝังวินัยทางการเงินที่ดีแล้ว ยังมีซุ้มให้คำปรึกษาทางการเงินแก่ผู้ปกครองในการวางแผนค่าเทอมลูกอีกด้วย

งานเริ่ม 9.30 น. ถึง 16.30 น. ที่ชั้น 2 อาคารศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย

รายละเอียดการเดินทาง ดูเพิ่มเติมได้ที่ https://www.botlc.or.th/visit