ภูเก็ตตั้งคกก.บริหาร178ไร่ หลังฎีกาตัดสินเป็นพื้นที่สาธารณะ

ภูเก็ตตั้งคกก.บริหาร178ไร่ หลังฎีกาตัดสินเป็นพื้นที่สาธารณะ

ภูเก็ตตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการพื้นที่สาธารณะ 178 ไร่ หาดเลพัง-ลายัน เพื่อประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน หลังศาลฎีกามีคำพิพากษา ที่ดินดังกล่าวเป็นที่สาธารณะ หวังป้องกันการบุกรุกใหม่

“หาดเลพัง-ลายัน” เป็นอีกหนึ่งชายหาดที่สวยงามของจังหวัดภูเก็ต ด้วยความสวยงามและเงียบสงบของชายหาด โดยตั้งอยู่หมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 6 ต.เชิงทะเล อ.ถลาง จ.ภูเก็ต พื้นที่ดังกล่าวเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น หลังจากศาลฎีกามีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ให้ที่ดินบริเวณดังกล่าวเนื้อที่ประมาณ 178 ไร่ เป็นที่สาธารณะที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน อันเนื่องมาจากเมื่อปี 2546 จังหวัดภูเก็ตได้ประกาศให้ที่ดินแปลงนี้ เป็นที่สงวนหวงห้าม ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และได้มีผู้มาร้องคัดค้านจำนวน 9 ราย เนื้อที่ 11 แปลง แต่มีผู้ฟ้องคดี จำนวน 6 ราย เนื้อที่ 8 แปลง โดยศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ที่เข้าไปครอบครองและบริวาร รื้อสิ่งปลูกสร้าง ออกจากพื้นที่ แต่ปัจจุบันก็ยังมีผู้ครอบครองและมีสิ่งปลูกในการบริการนักท่องเที่ยว โดยผู้ครอบครองกลุ่มนี้เป็นผู้ที่เข้าอยู่ใหม่ก่อนที่จะมีคำพิพากษา และยืนยันสิทธิในการครอบครอง พร้อมทั้งระบุว่า ไม่ใช่บุคคลหรือบริวารของบุคคลที่ศาลมีคำพิพากษาให้ออกจากพื้นที่

นายอำนวย พิณสุวรรณ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงที่มาของที่ดินสาธารณรเนื้อที่ 178 ไร่ ตามคำพิพากษาของศาล ว่า เมื่อปี 2546 ทางจังหวัดภูเก็ต ได้มีประกาศให้พื้นที่บริเวณดังกล่าว เป็นที่สงวนหวงห้าม ที่ดินรกร้างว่างเปล่า และภายหลังจากประกาศไปแล้ว ได้มีผู้อ้างการครอบครองได้ร้องคัดค้านจำนวน 9 ราย เนื้อที่ 11 แปลง แต่มีการฟ้องร้องคดี จำนวน 6 ราย 8 แปลง และได้มีการต่อสู้คดีเรื่อยมา โดยในปี 2552 ศาลชั้นต้นตัดสินให้ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่สาธารณประโยชน์ ต่อมาในปี 2555 ศาลอุทธรณ์ก็ได้ตัดสินให้เป็นสาธารณประโยชน์เช่นกัน และเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้ที่ดินพิพาทแปลงดังกล่าว เป็นที่ดินของรัฐ

“หลังจากทราบคำพิพากษาผู้ว่าฯ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ลงตรวจสอบพื้นที่จริงแต่ยังไม่มีการรังวัด เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวมีผลประโยชน์ทับซ้อนค่อนข้างมาก ดังนั้นในการดำเนินการต่างๆ ก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจน เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดประเด็นการฟ้องร้องใหม่ และยืดเยื้อไม่จบ ซึ่งผู้ว่าฯ ได้มอบแนวทางในการทำงานให้สุดสายป่าน และมีการกำหนดมาตรการบริหารจัดการพื้นที่ดังกล่าว พร้อมแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการให้ประชาชน ใช้ประโยชน์ร่วมกันระดับจังหวัดเพื่อดูแลรักษาบังคับใช้กฎหมาย ป้องกันการบุกรุกและบริหารจัดการให้ประชาชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างยั่งยืน”

นายอำนวย กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันยังได้มีการตั้งคณะทำงานตรวจสอบและปักหลักแนวเขตที่สงวนหวงห้ามแปลงดังกล่าว โดยมีนายอำเภอถลางเป็นประธานฯ ซึ่งได้มีการประชุมร่วมกัน และกำหนดแนวทางการทำงาน โดยมอบหมายให้ อบต.เชิงทะเล ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่โดยตรง ทำหนังสือแจ้งสำนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต สาขาถลาง ขอรังวัดตรวจสอบแนวเขต และปักหลักที่สงวนหวงห้าม เพื่อทำแผนที่ประกอบให้คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติเห็นชอบและประกาศในราชกิจจานุเบกษา ว่าสามารถนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ เพื่อนำไปสู่การบริหารจัดการพื้นที่ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป ซึ่งเมื่อการรังวัดแล้วเสร็จก็จะมีการประชุมคณะกรรมการระดับอำเภอเพื่อสรุปผล และเสนอเรื่องไปยังคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติเห็นชอบ ส่วนการบริหารจัดการพื้นที่ทางคณะกรรมการบริหารระดับจังหวัดก็จะต้องมาพูดคุยกันอีกครั้ง

“ที่ดินแปลงนี้จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นพื้นที่สงวนหวงห้าม ซึ่งจะมีแนวต้นสนและต้นมะพร้าวอยู่ กับอีกส่วนที่เป็นชายหาดนั้นเป็นที่สาธารณะที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันอยู่แล้ว”

นายอำนวย กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ครอบครองบางรายได้มีการปิดประกาศความเป็นเจ้าของ และไม่ยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ ว่า ทางผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้มอบอำนาจให้สำนักงานที่ดินฯ และพนักงานอัยการขอหมายบังคับคดีโจทก์ ตามคำพิพากษา4ราย, นอกจากนี้ยังได้มีการจัดทำป้ายปิดประกาศคำพิพากษาศาลฎีกาในที่ดินที่พิพาท,จัดทำคำสั่งทางปกครองเพื่อให้บุคคลและบริวารที่ศาลมิได้มีคำพิพากษา โจทก์จำนวน 2 ราย ออกจากที่ดินหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินพิพาท และจัดทำคำสั่งทางปกครองเพื่อให้ผู้ยื่นคัดค้านที่มิได้ใช้สิทธิ์ทางศาลจำนวน 3 ราย ซึ่งถือว่าเป็นผู้บุกรุกที่ยอมรับสภาพความเป็นที่ดินของรัฐ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและออกจากที่ดินพิพาท รวมทั้งได้ให้ทางอำเภอถลางร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล สำรวจผู้ฝ่าฝืนหรือ บุกรุกยึดถือครอบครองทำประโยชน์รายอื่นที่ไม่ได้ยื่นคัดค้านหรือใช้สิทธิ์ทางศาล