จับตา 3 นวัตกรรม เปลี่ยนเกมการผลิต

จับตา 3 นวัตกรรม  เปลี่ยนเกมการผลิต

จับเทรนด์การลงทุนไอทีที่น่าสนใจสำหรับภาคการผลิตปี 2561 การมาของอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ โมเดลธุรกิจที่มีบริการเป็นศูนย์กลาง และการพิมพ์สามมิติ

“ปี 2561 อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที) จะถูกสร้างรวมไว้ในผลิตภัณฑ์ที่เริ่มตั้งแต่การออกแบบ บรรดาผู้ผลิตจะนำโมเดลธุรกิจที่มีบริการเป็นศูนย์กลางเข้ามาปรับใช้เพิ่มมากขึ้น และการพิมพ์สามมิติจะก้าวสู่จุดพลิกผันที่สามารถให้ผลประโยชน์ทางธุรกิจได้ในวงกว้าง”

แอนโทนี บอร์น ผู้อำนวยการอุตสาหกรรมส่วนกลาง ฝ่ายการผลิตและเทคโนโลยีระดับสูง (ไฮเทค) บริษัท ไอเอฟเอส คาดการณ์

เขากล่าวว่า ส่วนของไอโอทีภายในปลายปี 2561 ผู้ผลิตมากกว่า 50% จะนำไอโอทีไปรวมไว้ในผลิตภัณฑ์ของตนเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ เมื่อพูดถึงไอโอทีสิ่งแรกที่หลายคนคิดถึงน่าจะเป็นเซ็นเซอร์แบบใหม่ที่สามารถหาซื้อได้ในราคาไม่แพงซึ่งกำลังถูกนำมาใส่ไว้ผลิตภัณฑ์ แต่สำหรับตนมุมมองดังกล่าวจะเปลี่ยนไปในปีนี้เนื่องจาก ไอโอที กำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด หากคิดว่า ไอโอที เป็นเหมือนระบบประสาทของผลิตภัณฑ์ ในปีนี้จะเห็นเส้นประสาท (สัญญาณ) ต่างๆ ที่โยงใยและเติบโตจนเกิดเป็นสมองของผลิตภัณฑ์ขึ้นมา 

โดยสิ่งนี้ครอบคลุมไปถึงการรับ การส่ง การขยายตัว และการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างต่อเนื่องตลอดชั่วอายุขัยของผลิตภัณฑ์ ซึ่งส่งผลให้เกิดบริการและกระแสรายได้ใหม่ๆ โดยอุตสาหกรรมการผลิตเป็นหนึ่งในตลาดที่ได้รับผลกระทบจาก ไอโอที มากที่สุด จากข้อมูลของโกลบอล มาร์เก็ต อินไซต์ส พบว่า ปี 2559 ไอโอที  ในตลาดการผลิต มีมูลค่ามากกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ และจะขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่า 20% ตั้งแต่ปี 2560 ถึง 2567 

สำหรับการลงทุนไอโอทีในสภาพแวดล้อมของการผลิตปัจจุบัน จะก่อให้เกิด 3 โครงการหลักดังนี้ 1.การผลิตอัจฉริยะเพื่อเพิ่มผลผลิต คุณภาพผลิตภัณฑ์ หรือการดำเนินงานและความปลอดภัยของพนักงาน รวมถึงการใช้ทรัพยากรที่ลดลง 2.ผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมต่อกันจะส่งผลต่อประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งรวมถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยละเอียดเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ในภาคสนาม การวิเคราะห์จากระยะไกล และการบำรุงรักษาจากระยะไกล 3.ซัพพลายเชนที่มีระบบเชื่อมต่อระหว่างกันจะเพิ่มความสามารถในการมองเห็นภาพรวมทั้งระบบและการทำงานร่วมกันในซัพพลายเชน การติดตามสินทรัพย์ หรือสินค้าคงคลังเพื่อส่งเสริมให้การดำเนินงานด้านซัพพลายเชนที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น

"บริษัทผู้ผลิตกำลังตระหนักว่าการสร้างเทคโนโลยีไอโอทีใส่ไว้ในผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ในขั้นตอนของการออกแบบนั้น ไม่เพียงแต่ช่วยให้สามารถตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของอุปกรณ์เพื่อคาดการณ์เวลาที่ต้องดำเนินการซ่อมแซมได้เท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างข้อได้เปรียบด้านการแข่งขันที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนเกมในตลาดด้วย"

ปักธงธุรกิจบริการ 

เขากล่าวว่า ปี 2563 รายได้มากกว่าครึ่งหนึ่งของบรรดาผู้ผลิตส่วนใหญ่จะมาจากบริการ เมื่ออุตสาหกรรมการผลิตเริ่มกลายเป็นตลาดเปิดเสรีที่ตัวสินค้าเริ่มไม่มีความแตกต่างกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความแตกต่างให้กับตัวเอง นับเป็นกุญแจสำคัญในการอยู่รอดและการสร้างผลกำไรให้กับบริษัท ขณะนี้เริ่มเห็นแล้วว่าบรรดาผู้ผลิตจำนวนมากกำลังเปลี่ยนไปใช้โมเดลธุรกิจที่เน้นการให้บริการเป็นหลัก หรือที่เรียกว่า “บริการภิวัฒน์” (servitization)

ทั้งนี้ บริการภิวัฒน์เป็นแนวทางเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ผลิตเพื่อยกระดับข้อเสนอโดยรวมนอกเหนือจากตัวผลิตภัณฑ์แต่เพียงอย่างเดียว หลายคนอาจคิดว่าสิ่งนี้ใช้ไม่ได้กับธุรกิจของตน แต่โปรดทราบว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกต่างๆ กำลังเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากบริการภิวัฒน์ในภาคส่วนต่างๆ เป็นจำนวนมาก ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ “แอ๊ปเปิ้ล” ที่ได้นำแนวทางนี้มาใช้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาหลังจากที่ไอพอดสามารถชิงส่วนแบ่งตลาดสูงสุดมาได้ ด้วยการเปิดตัวบริการ ไอทูนส์ เพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิม และสร้างความแตกต่างให้กับตัวเองในตลาด รวมถึงสร้างรายได้ให้เพิ่มมากขึ้นด้วย 

"เทคโนโลยีจะช่วยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบสินค้าเช่นเก้าอี้ที่สวยงาม หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีประสิทธิภาพ แต่ทั้งนี้อย่าลืมว่าผลิตภัณฑ์หรูหราในปัจจุบันกำลังจะกลายเป็นสิ่งของที่หาซื้อได้ทั่วไปในเวลาอันสั้น ซึ่งนั่นย่อมส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์ลดลงอย่างมาก แต่ด้วยบริการภิวัฒน์ บรรดาผู้ผลิตจะสามารถรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างดีเยี่ยม เพราะบริการจากผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์สั่งสมมาเป็นเวลาหลายปีจะทำให้ลูกค้ายังคงต้องจ่ายเงินให้กับบริษัทตลอดไป ไม่ว่าแนวโน้มเทคโนโลยีจะเป็นเช่นไรก็ตาม"

การสำรวจการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของไอเอฟเอส ซึ่งดำเนินการโดยบริษัทวิจัย ราคอนเตอร์ (Raconteur) พบว่า 68% ของบริษัทผู้ผลิตอ้างว่าบริการภิวัฒน์ “ได้รับการจัดตั้งมาเป็นอย่างดีและให้ผลตอบแทนที่ดี” และ “อยู่ระหว่างการดำเนินการและกำลังได้รับความสนใจและการสนับสนุนอย่างเหมาะสมจากผู้บริหาร” 

อย่างไรก็ตาม มีเพียงสัดส่วน 1 ใน 3 ของบริษัทผู้ผลิตเท่านั้นที่ได้รับผลตอบแทนจากบริการภิวัฒน์ เนื่องจากผู้ผลิตที่ยังไม่ได้ใช้โมเดลที่มีบริการเป็นศูนย์กลางกำลังสูญเสียรายได้และแนวทางใหม่ๆ ในการพัฒนาข้อเสนอสำหรับผลิตภัณฑ์ของตน ดังนั้นเพื่อก้าวสู่ความสำเร็จในการตอบสนองความต้องการของลูกค้าและความต้องการที่กำลังเพิ่มมากขึ้น บรรดาผู้ผลิตจะต้องมองหาโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เพื่อร่นระยะเวลาในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด ครอบคลุมตั้งแต่การนำความคิดจากการออกแบบไปผลิตเป็นสินค้าและนำออกขายในตลาดให้ได้โดยเร็วที่สุด เรื่องนี้ เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น ไอโอที จะเข้ามาเติมเต็มความสมบูรณ์ได้มากขึ้น

ก้าวใหม่พิมพ์3มิติ 

บอร์นคาดการณ์ไว้ด้วยว่า ปี 2562 ความตื่นเต้นเกี่ยวกับการพิมพ์สามมิติจะหมดไป แต่ผลประโยชน์ที่แท้จริงจะเห็นอย่างเด่นชัดมากขึ้น เช่นเดียวกับ ไอโอที พิมพ์ 3 มิติกำลังจะก้าวสู่ก้าวใหม่ที่มีอัตราการเติบโตเพิ่มมากขึ้น นอกเหนือไปจากเรื่องขนาดการพิมพ์ที่ต้องร้อง “ว้าว” เมื่อได้เห็นในครั้งแรก โดยการเปลี่ยนแปลงจะเริ่มต้นในปี 2561 นี้

"เรากำลังเห็นพัฒนาการที่กำลังก้าวไปในทิศทางนั้น ด้วยความสามารถในการปรับขยายของโซลูชั่นการพิมพ์ 3 มิติที่ดียิ่งขึ้น ยุคใหม่ของบริษัทด้านการพิมพ์ 3 มิติกำลังก้าวเข้าสู่การผลิตที่แต่เดิมมีผู้ผลิตแม่พิมพ์ฉีดขึ้นรูปครองตลาดอยู่ มาเป็นระบบอัตโนมัติที่เชื่อมโยงระหว่างกันได้ดีขึ้นและเร็วขึ้น ส่งผลให้ลดขั้นตอนการทำงานทั้งก่อนและหลังที่ต้องใช้เวลามาก และเป็นอุปสรรคสำคัญในการผลิตที่ผ่านมา"