DTAC - ซื้อ

DTAC - ซื้อ

ดีล 2.3 กิกะเฮิร์ซที่คืบหน้าต่อเนื่อง ลดความจำเป็นที่ต้องเข้าประมูลคลื่นของกสทช.

กสทช. ได้อนุมัติแผนธุรกิจคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซให้กับทีโอทีและ DTAC ในขณะเดียวกันทีโอทีและ ADVANC ได้ทำการเซ็นสัญญาคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ซอย่างเป็นทางการ เราประเมินว่าสองปัจจัยข้างต้นถือว่าเป็นพัฒนาเชิงบวกที่จะนำไปสู่การเซ็นสัญญาคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซอย่างเป็นทางการในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 การเซ็นสัญญาคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซที่จะเกิดขึ้น จะส่งผลให้ DTAC ไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงหรือลดการพึ่งพิงการประมูลคลื่นความถี่ของกสทช.ที่จะมาถึงในเดือนพ.ค.ปีนี้ และคาดว่าจะ
นำไปสู่บรรยากาศของการประมูลที่มีการแข่งขันด้านราคาที่ลดลง DTAC ยังคงเป็นหุ้นที่เราชอบมากที่สุดในกลุ่มไอซีที โดยมูลค่าหุ้นของ DTAC ถือว่าถูกที่สุดในกลุ่มผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยอัตราส่วน EV/EBITDA ปี 2561 อยู่เพียงแค่ 4.6 เท่า

กสทช. อนุมัติดีลคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซเปิดทางไปสู่การเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการในขั้นตอนต่อไป

เราเชื่อว่าการที่กสทช. อนุมัติแผนธุรกิจคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซให้กับทีโอทีและ DTAC ในการเข้าใช้คลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซของทีโอที และการเซ็นสัญญาคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตอย่างเป็นทางการระหว่างทีโอทีและ ADVANC ถือว่าเป็นสัญญาณเชิงบวกต่อ DTAC เนื่องจากเป็นการส่งสัญญาณว่าการเซ็นสัญญาคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซอย่างเป็นทางการมีแนวโน้มเกิดขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 ภายใต้สมมติฐานหากว่าไม่มีการแก้ไขร่างสัญญาเพิ่มเติมอีก เราคาดว่าสำ นักอัยการสูงสุดจะส่งความเห็นกลับไปยังทีโอที และหลังจากนั้นทีโอทีจะทำการเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการกับ DTAC ในขั้นตอนต่อไป และเนื่องจากดีลคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซระหว่าง DTAC กับทีโอทีถือว่าไม่แตกต่างมากนักจากดีลคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ซระหว่าง ADVANC กับทีโอที เราจึงมองว่าสำนักอัยการสูงสุดไม่น่าที่จะมีประเด็นแก้ไขตัวสัญญาอย่างมีนัยสำคัญ

ลดการพึ่งพิงการประมูลคลื่นความถี่ใหม่ของกสทช.

ภายใต้สมมติฐานที่ว่า DTAC สามารถเซ็นสัญญาคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซกับทีโอทีอย่างเป็นทางการได้ภายในครึ่งแรกของปี 2561 เราประเมินว่า DTAC จะมีความกดดันลดลงเพื่อที่จะชนะการได้คลื่นความถี่ใหม่จากการประมูลของกสทช. เพื่อที่จะทดแทนคลื่นความถี่ที่จะหายไปหลังจากหมดอายุของสองสัญญาสัมปทานในเดือนก.ย. 2561 DTAC จะมีจำนวนคลื่นความถี่ในมือเท่ากับ 60 เมกะเฮิร์ซหลังจากหมดอายุสัญญาสัมปทานขึ้นมาเทียบเท่ากับ ADVANC และทรูมูฟเอชซึ่งมีจำนวนคลื่นความถี่ในมือ55 เมกะเฮิร์ซเท่ากันสำหรับแต่ละราย ในกรณีนี้ เราประเมินว่า DTAC จึงอยู่ในสถานะที่ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบเพื่อที่จะให้ได้มาสำหรับคลื่นความถี่ของกสทช.ที่จะเปิดประมูลในเดือนพ.ค.นี้

อัพไซด์ต่อ EBITDA สำหรับปี 2560 ภายใต้สมมติฐานที่ไม่มีคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซในปี 2560

เราประเมินว่าเป้าหมาย EBITDA ปี 2560 ณ ปัจจุบันของ DTAC (ซึ่งอย่างน้อยเท่ากับปี 2559) ถือว่ามีอัพไซด์เนื่องจากการเลื่อนเซ็นสัญญาคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซที่ล่าช้าออกไปเป็นช่วงครึ่งแรกของปี 2561 เนื่องจาก EBITDA งวดเก้าเดือนแรกของปี 2560 เติบโต 7.2% YoY และประมาณการ EBITDA ไตรมาส 4/60 ของเราซึ่งคาดว่าจะเติบโต 15% YoY ส่งผลให้เราคาดว่า EBITDA ปี 2560 มีแนวโน้มเติบโต 9% YoY (หลังจากที่คำนวณเอาประมาณการค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซออกไปจากประมาณการก่อนหน้านี้ซึ่งคาดว่าจะบันทึกในไตรมาส 4/60) นอกจากนี้ประมาณการงบลงทุนมีแนวโน้มที่จะอยู่ที่กรอบล่างของเป้างบลงทุนของบริษัทที่ตั้งไว้ที่ 1.7-2 หมื่น
ล้านบาทสำหรับปี 2560

คาดกำไรหลักไตรมาส 4/60 เติบโตก้าวกระโดด

เราคาดกำไรสุทธิไตรมาส 4/60 ที่ 375 ล้านบาท เพิ่มขึ้นก้าวกระโดด 1,146% แต่ลดลง 38% QoQ หากไม่รวมรายการอัตราแลกเปลี่ยนและรายการพิเศษอื่นๆ เราคาดกำไรหลักในไตรมาสนี้ที่ 380 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 125% YoY แต่ลดลง 24% QoQ กำไรหลักที่เติบโตก้าวกระโดด YoY เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่ลดลง ขาดทุนจากธุรกิจขายเครื่องโทรศัพท์ที่ลดลง (เงินอุดหนุนค่าเครื่องโทรศัพท์ที่ให้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น) และรายได้บริการที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่กำไรหลักลดลง QoQ เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านการตลาดที่เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล ค่าเสื่อมราคาชองโครงข่ายและค่าใช้จ่ายด้านโครงข่ายที่เพิ่มขึ้น