การจัดการแรงงานดิจิทัล ท้าทายธุรกิจยุค 4.0

การจัดการแรงงานดิจิทัล  ท้าทายธุรกิจยุค 4.0

สถานการณ์ตลาดแรงงานในประเทศไทยคืออีกหนึ่งความท้าทายของภาคธุรกิจภายใต้การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล

เบอร์นาด โซโลมอน หัวหน้าฝ่ายแอพพลิเคชั่นประจำประเทศมาเลเซีย ออราเคิล คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า หลายประเทศทำการวิจัยและพัฒนาคนร่วมกับเทคโนโลยี แต่ก็ยังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานในสายงานที่กำลังเป็นที่ต้องการ 

ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยจะต้องร่วมมือกันพัฒนาระบบทรัพยากรมนุษย์ในองค์กรให้สอดคล้องกับเป้าหมายการนำประเทศเข้าสู่ยุคดิจิทัล ที่รัฐบาลชูนโยบายสำคัญอย่างไทยแลนด์ 4.0, อุตสาหกรรม 4.0 โมเดลเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรม เทคโนโลยี และการบริการระดับสูง เพื่อผลักดันการเติบโตของรายได้ในประเทศให้สูงขึ้นภายใน 5 ปีข้างหน้า

เขากล่าวว่า การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศสู่จุดหมายดังกล่าว ด้านประเด็นท้าทายต่อตลาดแรงงานและการจ้างงานในอนาคตของไทย อย่างหนึ่งคือผลกระทบจากนโยบาย 4.0 ซึ่งส่งผลต่อรูปแบบการจ้างงาน รูปแบบการทำงาน และเกิดอาชีพใหม่ๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนจึงต้องปรับบทบาทในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีผลิตภาพสูงและเป็นแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัล

สรรหาคนคุณภาพ

โซโลมอนเปิดมุมมองว่า หนึ่งในแนวทางปฏิบัติเพื่อทำให้โลกยุคดิจิทัลและการจัดการด้านทรัพยากรมนุษย์สอดรับกันได้อย่างลงตัว รวมถึงการปรับเปลี่ยนหน่วยงานที่มีคนเป็นศูนย์กลาง คือ "การลงทุนทางด้านซอฟต์แวร์" ซึ่งในที่นี้ไม่ใช่การทดแทนคน แต่เป็นการช่วยเหลือและเปลี่ยนแปลงธุรกิจในเรื่องของการสรรหา การรักษาบุคลากรและการมอบรางวัลให้แก่พนักงานที่มีความสามารถ 

ด้วยเหตุนี้ บริษัทในประเทศไทยหลายๆ แห่ง จึงต้องหันมาพัฒนาตัวเองให้ทันยุคทันสมัย ภายใต้โลกที่เต็มไปด้วยการเชื่อมต่อแบบดิจิทัล มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าเป็นตัวกำหนดให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบของการทำธุรกิจให้ทันสมัยในทุกวิถีทาง

"นอกจากเครื่องมือ ยังต้องอาศัยผู้คนที่มีความสามารถ ดังคำกล่าวที่ว่า ความสำเร็จขององค์กร ล้วนเกิดจากความสำเร็จของบุคลากร เป็นข้อเท็จจริงที่เห็นได้ชัดโดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมไอทีและโทรคมนาคม" 

ปัจจุบัน ตลาดแรงงานเต็มไปด้วยการแข่งขันและความต้องการคนมีฝีมือ ในไทยนั้นถือว่าขาดผู้เชี่ยวชาญสายงานด้านการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) และการออกแบบประสบการณ์ของผู้ใช้ (User Experience Design) ซึ่งเป็นอีกความท้าทายอันใหญ่หลวงที่เข้ามาขวางกั้นความสำเร็จของธุรกิจ

นอกจากนี้ สิ่งหนึ่งที่ถือได้ว่าเป็นความท้าทายขององค์กรในยุคปัจจุบัน คือ การรักษาและพัฒนาความสามารถของพนักงาน สิ่งสำคัญอยู่ที่ความก้าวหน้าของอาชีพการงานและการจัดการความสำเร็จ ซึ่งเป็นแนวทางที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้บุคลากรที่มีศักยภาพได้เดินต่อไปสู่การเป็นผู้นำพร้อมกับบทบาทที่ดียิ่งขึ้น

ฉะนั้น คงปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบทรัพยากรมนุษย์ยุคดิจิทัลนั้นต้องอาศัยคนเป็นศูนย์กลาง รวมถึงการรักษาพนักงานที่มีศักยภาพให้อยู่ในแถวหน้าของการผลักดันองค์กรให้เติบโตไปพร้อมๆ กัน

ดึงเทคโนฯเสริมแกร่ง

ออราเคิลเผยว่า งานที่มีความท้าทายสูงมักตามมาด้วยผลตอบแทนอันดีงาม การที่องค์กรสามารถรักษาบุคลากรที่มีฝีมือไว้ได้ ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับผลตอบแทนที่พนักงานได้รับ บริษัททั้งหลายต่างแข่งขันกันเพื่อสรรหาและรักษาพนักงานที่ฝีมือดีเอาไว้ อีกหนึ่งแนวคิดที่สามารถปฏิบัติได้จริง คือการตอบแทนพนักงานด้วยรางวัลที่อยู่บนความยุติธรรม ความแม่นยำและประสิทธิภาพในการทำงาน 

อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงสู่โลกดิจิทัลได้สร้างระบบทรัพยากรมนุษย์ยุคใหม่และปฏิวัติรูปแบบการทำงาน ไม่ใช่แค่เพียงในประเทศไทย แต่ยังแพร่หลายไปทั่วโลก ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการที่ระบบทรัพยากรมนุษย์สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับคอนเซ็ปต์ของสถานที่ทำงานและเตรียมพร้อมกับการรับเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ได้อย่างรวดเร็ว

สำหรับการลงทุนทางเทคโนโลยีมี 4 โซลูชั่นที่ควรนำมาใช้ ได้แก่ การใช้ผู้ที่มีศักยภาพเป็นศูนย์กลาง การใช้ข้อมูลให้เป็นประโยชน์ สังคมการทำงานและความร่วมมือ รวมถึงเทคโนโลยีบนมือถือและการมีส่วนร่วมของพนักงาน

พร้อมระบุ ภาพรวมการทำงานที่เน้นผู้ที่มีความสามารถ ข้อมูลทางธุรกิจและกลยุทธ์ทางสังคมคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์จะต้องอาศัยความช่วยเหลือจากเทคโนโลยีในการพัฒนาประสบการณ์ของพนักงาน ด้วยวิธีที่เป็นได้มากกว่าการจัดการ แต่ยังช่วยเสริมสร้างพลังให้แก่บุคลากร

โดยการปฏิบัติงานที่อยู่บนความรวดเร็วจะทำให้พนักงานมีส่วนร่วมและปรับตัวได้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยสร้างระบบทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ