กล้วยผง-สีจากดิน วิทย์สร้างโอทอปอัจฉริยะ

กล้วยผง-สีจากดิน  วิทย์สร้างโอทอปอัจฉริยะ

กล้วยผงเพิ่มโปรไบโอติกของสมุทรสงครามแก้ปัญหากล้วยราคาต่ำ หรือผงสีย้อมธรรมชาติจากดินนาคาของอุดรธานี นอกจากเพิ่มมูลค่าให้สินค้าพื้นบ้านแล้วยังเพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตของชุมชน

กล้วยผงเพิ่มโปรไบโอติกของสมุทรสงครามแก้ปัญหากล้วยราคาต่ำ หรือผงสีย้อมธรรมชาติจากดินนาคาของอุดรธานี นอกจากเพิ่มมูลค่าให้สินค้าพื้นบ้านแล้วยังเพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตของชุมชนหรือวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่นได้ด้วย เป็นตัวอย่างความสำเร็จในการสร้างเอสเอ็มอีและโอทอปอัจฉริยะ จากโครงการทุนเครือข่ายวิสาหกิจนวัตกรรมของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช.

วิทยาศาสตร์เพื่อสังคมและเศรษฐกิจฐานราก ได้ผลิดอกออกผลจากการผลักดันวิสาหกิจชุมชนให้ใช้นวัตกรรมแก้ปัญหาท้องถิ่น เกิดเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่สร้างรายได้และเพิ่มคุณภาพชีวิต เป็นหนึ่งในนโยบายของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ตอบรับนโยบายรัฐบาลในการลดความเหลื่อมล้ำ

กล้วยผงแก้ปัญหาเกษตรกร

ในพื้นที่สมุทรสงครามเริ่มส่งเสริมการปลูกกล้วยน้ำว้าเขียวเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่น มีลักษณะสีเขียว ปลายจุกแหลม รสชาติเหมาะแก่การบริโภคทั่วไป แต่เมื่อชาวบ้านจากวิสาหกิจชุมชนบ้านสบายใจ สมุทรสงครามที่ปลูกกล้วยน้ำว้าเขียวเป็นรายได้หลักของท้องถิ่นพบว่า เริ่มมีการปลูกกล้วยเพิ่มทำให้มีโอกาสที่จะราคาตกและล้นตลาด อีกทั้งกล้วยสดมีอายุการเก็บรักษาสั้นเพียง 1 สัปดาห์ จึงมองหาวิธีที่จะเพิ่มมูลค่า

ในช่วงแรกวิสาหกิจชุมชนบ้านสบายใจ เข้าร่วมโครงการของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม โดยมีอาจารย์พิสุทธิ์ บุตรสุวรรณ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นที่ปรึกษา โจทย์คือ เครื่องดื่มในลักษณะกล้วยผงชงสำเร็จรูป ที่ใช้กล้วยเป็นวัตถุดิบหลักและให้คงกลิ่นกล้วยไว้เป็นเอกลักษณ์

แต่ปัญหาสำคัญของการผลิตกล้วยผง ด้วยวิธีการอบแห้งและบดแบบเดิมๆ คือ ละลายน้ำได้ยาก มีรสขม มีสีน้ำตาล และมีกลิ่นเหม็นหืน จึงขอรับทุนเครือข่ายวิสาหกิจนวัตกรรมของ สนช. นำเทคโนโลยีด้านอาหารนำมาปรับปรุงการละลายของผงกล้วย ทีมวิจัยใช้แป้งจากธัญพืช (มอลโทเดกซ์ทริน) ร่วมกับการออกแบบสูตรในอัตราส่วนที่เหมาะสม เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์กล้วยผงชนิดละลายทันทีหรือละลายดีที่สุดไม่ต่ำกว่า 85%

จุดเด่นของกล้วยผงคือ คุณค่าทางโภชนาการสูงจากอินนูลินและโอลิโกฟรุกโตส สารสำคัญที่ทำให้มีดัชนีน้ำตาลต่ำ และคุณสมบัติเป็นแป้งทนการย่อย ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นพรีไบโอติก เสริมการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์โพรไบโอติกช่วยให้ระบบย่อยอาหารทำงานได้ดี ผลิตเอนไซม์ย่อยสารอาหารและสารอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพ

ปัจจุบัน เครื่องดื่มกล้วยผงถูกต่อยอดเชิงพาณิชย์ภายใต้แบรนด์ ดีปาษณะ และนำไปทดลองตลาดเบื้องต้นในร้านขายของฝากที่ตลาดน้ำอัมพวาและห้างสรรพสินค้า พบว่า ผู้บริโภคตอบรับดีทั้งรสชาติ คุณค่าทางโภชนาการและราคาที่ยอมรับได้ นับเป็นการนำสินค้าท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์และเรื่องราวสร้างธุรกิจชุมชนได้อย่างยั่งยืน

สีย้อมผ้าจากดิน

ขณะที่วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้ามัดหมี่ย้อมสีครามธรรมชาติจากอุดรธานี ก็เป็นอีกหนึ่งแห่งที่ขอรับทุนเครือข่ายวิสาหกิจนวัตกรรม เมื่อต้องเผชิญปัญหาแข่งขันสูง จึงต้องปรับปรุงคุณภาพเพื่อให้แข่งขันได้โดยเฉพาะในเรื่องต้นทุนการผลิตโดยมี รศ.สุพรรณี ฉายะบุตร ศูนย์วิจัยวัสดุเพื่องานศิลปะและออกแบบ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นที่ปรึกษา

คณะวิจัยมองเห็นจุดแข็งจากภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่ปัญหาคือ กระบวนการผลิตใช้เวลานาน จากขั้นตอนการย้อมและเทคนิคที่ซับซ้อนและสีไม่สม่ำเสมอ จึงไม่ตอบความต้องการลูกค้าที่มีอยู่จำนวนมาก ดังนั้น วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทอผ้ามัดหมี่ย้อมสีครามธรรมชาติ จึงมีแนวคิดในการนำดินนาคา ซึ่งเป็นดินที่อยู่ในท้องถิ่นมาใช้เป็นสีย้อมให้เกิดความสม่ำเสมอ

การพัฒนาในครั้งนี้ เป็นการออกแบบระบบการผลิตสีผงธรรมชาติดูดซับด้วยดินนาคาสำหรับตกแต่งสิ่งทอ โดยใช้เทคโนโลยีการดูดซับสารให้สีธรรมชาติลงบนพื้นผิวของดินนาคา ได้เป็นสีย้อมธรรมชาติที่ละลายน้ำได้กว่า 20 เฉดสี สามารถใช้วิธีการย้อมเย็นไปประยุกต์ใช้ในงานย้อมและงานพิมพ์สิ่งทอได้หลากหลาย

ผลการทดลองการนำดินนาคามาเป็นตัวดูดซับสีย้อม ทำให้ผ้าที่ผ่านการย้อมให้สีสม่ำเสมอและคงทน เนื่องจากมีโครงสร้างที่ช่องว่างในการดูดซับสีได้ และสามารถปลดปล่อยออกมาในการย้อมสี ถือเป็นนวัตกรรมการผลิตผงสีดินที่เกิดเป็นธุรกิจใหม่ให้กับชุมชน