'กกร.' หนุนรัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน

'กกร.' หนุนรัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน

"กกร." หนุนรัฐบาลปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน ย้ำ!! ควรปรับในอัตราที่ไม่เท่ากันทั้งประเทศ ยันไม่ก้าวก่าย แต่ต้องปรับให้เหมาะสม - เป็นธรรม

นายกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และ ประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยในงาน "แถลงจุดยืนต่อการปรับอัตราค่าจ้างแรงงานของประเทศไทย" ว่า ในวันนี้ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ สมาคมธนาคารไทย ได้แถลงจุดยืนเห็นด้วยกับทางภาครัฐที่จะปรับอัตราค่าจ้างแรงงาน แต่ควรปรับขึ้นในอัตราที่ไม่เท่ากันทั่วประเทศ เนื่องจากให้คำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่เป็นหลัก โดยคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดที่ประกอบด้วย ผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง ผู้ว่าราชการจังหวัด แรงงานจังหวัด ธนาคารแห่งประเทศไทย พาณิชย์จังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด และ สำนักงานสถิติจังหวัด พิจารณากำหนดอัตราค่าจ้างแรงงาน โดยทางกกร.จะไม่เข้าไปก้าวก่ายถึงการกำหนดอัตราค่าจ้าง

"อย่าให้ผมต้องพูดเรื่องตัวเลขเลย เพราะจะเป็นการก้าวก่าย ถ้าอยากได้ตัวเลขต้องไปถามคณะอนุกรรมการ ซึ่งเราแสดงจุดยืนไปแล้วว่าเห็นด้วย แต่ขอให้ขึ้นในอัตราที่เหมาะสม เป็นธรรม และ ไม่ควรขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ เพราะบางพื้นที่ไม่ได้เอื้อต่อการขึ้นค่าแรง เนื่องจากกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจะเป็นเอสเอ็มอี และ เกษตรกร เพราะตอนนี้ค่าเงินบาทก็แข็งค่ามากกว่า 10% ค่าน้ำมันก็มีแนวโน้มสูงขึ้นแตะ 80 เหรียญต่อบาร์เรล ถ้าต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกผู้ประกอบการจะแย่" นายกลินท์ กล่าว

สำหรับการปรับอัตราค่าจ้างแรงงานประจำปีต้องคำนึงถึงผลกระทบที่ตามมาอย่างรอบด้าน เช่น ผลกระทบผู้ประกอบการ SME และ ภาคการเกษตร โดยจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 60 มีการจ้างงานหรือผู้มีงานทำจำนวนทั้งสิ้น 37.72 ล้านคน แบ่งเป็น ผู้มีงานทำในภาคเกษตรจำนวน 12.05 ล้านคน ภาคการผลิตจำนวน 14.79 ล้านคน และ ภาคบริการและการค้าจำนวน 10.88 ล้านคน