เหยื่อแชร์ร้องกองปราบถูกโกงแชร์ สูญเงินกว่า12ล้าน

เหยื่อแชร์ร้องกองปราบถูกโกงแชร์ สูญเงินกว่า12ล้าน

เหยื่อแชร์ลูกโซ่ร้อง ปอศ.โวยถูกท้าวแชร์ออนไลน์เชิดเงินกว่า 12 ล้านบาท

เมื่อ‪เวลา ‪15.30 น. วันที่ 8 ม.ค.61 ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) น.ส.น้ำฝน บุปผา อายุ 26 ปี อาชีพธุรกิจส่วนตัว พร้อมด้วยผู้เสียหายแชร์ลงทุนบ้านศศิรวม 10 คน ได้เดินทางเข้าพบ พ.ต.ท.สุณัฐพล นิรมิตศุภเชษฐ์ รอง ผกก.(สอบสวน) กก.5 บก.ปอศ. เพื่อร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับ น.ส.อ้อม ซึ่งเปิดแชร์บ้านศศิ ผ่านแอพลิเคชั่นไลน์ หลอกให้ร่วมลงทุนมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 12 ล้านบาท

น.ส.น้ำฝน เปิดเผยว่า คดีนี้มีผู้เสียหายจากทั่วประเทศที่มอบอำนาจมาให้รวมกว่า 30 คน มูลค่าความเสียหายประมาณ 20 ล้านบาท สืบเนื่องจากตนได้เข้าร่วมลงทุนแชร์ผ่านไลน์ชื่อ “บ้านศศิ” จากการชักชวนจากเพื่อนสมัยเรียนชื่อ น.ส.อ้อม เริ่มร่วมลงทุนตั้งแต่วันที่ ‪10 ต.ค.60 โดยน.ส.อ้อมบอกว่า หากลงทุน จำนวนตั้งแต่ 10,000 บาท จะได้รับผลตอบแทนร้อยละ 10 ต่อ 7 วัน ดังนั้น จึงลงทุนไปประมาณ 5 แสนบาท เพราะเห็นว่าได้ผลตอบแทนดีและไม่ต้องรอนาน อีกทั้งยังเป็นเพื่อนร่วมรุ่นสมัยเรียนมัธยมศึกษาย่านลาดกระบัง

ทั้งนี้ เมื่อถามว่าจะเอาเงินดังกล่าวไปทำอะไร โดยน.ส.อ้อม ได้ระบุว่า จะนำเงินที่ได้ลงทุนไปใช้ปล่อยดอกให้คนกู้ต่อ และนำผลกำไรมาจ่ายให้ จึงไว้ใจและยอมร่วมลงทุนด้วย ซึ่งในกลุ่มไลน์ดังกล่าวมีสมาชิกที่ถูกชักชวนต่อกันมาจำนวน 129 คน นอกจากนี้ น.ส.อ้อม มักชักชวนผ่านทางข้อความส่วนตัวของแต่ละคน เพื่อหลอกให้ร่วมลงทุนในกลุ่มย่อย โดยจะปันผลกำไรให้ทุก 3-7 วันด้วย

น.ส.น้ำฝน กล่าวอีกว่า ระหว่างที่ร่วมลงทุน ตนและสมาชิกในกลุ่มไลน์อีกหลายคนยังไม่เคยได้ผลกำไร หรือถอนเงินต้นคืนเลย จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.60 ซึ่งเป็นช่วงใกล้ปีใหม่ มีสมาชิกถอนเงินต้นและผลกำไรมาก ทางน.ส.อ้อม ได้ส่งข้อความทางกลุ่มไลน์ไม่ให้สมาชิกถอนเงินต้น และให้ช่วยลงทุนเพิ่มเพื่อพยุงให้กลุ่มอยู่รอด ผู้เสียหายจึงทยอยส่งข้อความไปสอบถาม ซึ่งในช่วงเช้า น.ส.อ้อม ยังมีการเคลื่อนไหวตอบข้อความอยู่ จนกระทั่งช่วงเย็นวันเดียวกัน ก็ไม่ได้ตอบข้อความพร้อมกับหายไปเลย โดยทางกลุ่มผู้เสียหาย ได้บอกว่า หากไม่ได้รับเงินคืนจะไปแจ้งความดำเนินคดี แต่ก็กลับถูกข่มขู่จากญาติของ น.ส.อ้อม ว่าจะแจ้งความกลับ

เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ได้สอบปากคำผู้เสียหายและรับเรื่องไว้ตรวจสอบ โดยขอให้กลุ่มผู้เสียหายรวบรวมหลักฐานมาให้เพิ่มเติมอีกครั้ง หลังจากนั้นจะพิจารณาว่าเข้าหลักเกณฑ์ดำเนินคดีของบก.ปอศ. ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน และความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 หรือไม่ หากไม่เข้าหลักเกณฑ์จะให้ผู้เสียหายเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่เกิดเหตุต่อไป