จับเมาขับพุ่ง ศาลสั่งคุมประพฤติ6,677คดี ชี้เจ็บ-ตายลดลง

จับเมาขับพุ่ง ศาลสั่งคุมประพฤติ6,677คดี ชี้เจ็บ-ตายลดลง

ยอดเมาแล้วขับ7วันอันตราย ศาลสั่งคุมประพฤติ 6,677 คดี ชี้สถิติเจ็บ-ตายลดลง พบคนทำผิดซ้ำอื้อ อาจต้องส่งเข้าครอสเลิกสุรา

กรมคุมประพฤติ - 8 ม.ค.61 นายประสาร มหาลี้ตระกูล อธิบดีกรมคุมประพฤติ แถลงยอดคดีที่ศาลสั่งคุมประพฤติตามพ.ร.บ.จราจรทางบก 7 วันอันตรายในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 ว่า มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 3,841 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 423 ราย มีคดีที่เข้าสู่กระบวนการคุมประพฤติจากสำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ 119 แห่ง จำนวนทั้งสิ้น 6,677 คดี เป็นคดีทำผิดกฎจราจร ขับรถขณะเมาสุรา 6,030 คดี ร้อยละ 90.31เปอร์เซ็นต์ ขับเสพและอื่นๆ 602 คดี หรือร้อยละ 9.01 และขับรถประมาท 45 คดี ซึ่งพื้นที่ที่มีการถูกคุมประพฤติมากที่สุดคือ จ.สุรินทร์ 448 คดี กรุงเทพ 354 คดีและมหาสาคาม 269 คดี

นอกจากนี้ยังพบว่า มีผู้ถูกคุมประพฤติในคดีขับรถขณะเมาสุราและขับรถประมาทที่พ้นโทษในช่วงปี 2558-2560 กลับมากระทำผิดซ้ำสูงขึ้น 99 ราย ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกศาลสั่งคุมประพฤติช่วงเทศกาลปีใหม่ ได้มีการกำหนดระยะเวลาคุมประพฤติ 1-2 ปี ทำงานบริการสังคมเฉลี่ย 21 ชม. (ต่ำสุด 12 ชม สูงสุด 72ชม.) มีกำหนดรายงานตัว 4 ครั้ง และเงื่อนไขอื่นๆ ทั้งการอบรมจราจร พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ ห้ามเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยครั้งนี้ศาลมีคำสั่งพักใบอนุญาตจำนวน 295 ราย

จากสถิติ คดีเมาแล้วขับในปี 61 เพิ่มสูงขึ้นกว่าปี 60 ซึ่งเป็นผลมาจากการเข้มงวดในการตรวจจับ สะท้อนจากตัวเลขผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บที่มีจำนวนน้อยลงจากปีก่อน ตัวเลขการจับกุมคนเมาแล้วขับที่สูงขึ้นไม่ได้สะท้อนว่ามีคนดื่มเหล้าเพิ่มมากขึ้น แต่ชี้ให้เห็นถึงความเข้มงวดของภาครัฐ หลังจากนี้จะนำข้อมูลดังกล่าวไปหารือเพื่อวางมาตรการป้องกันอุบัติเหตุเมาแล้วขับในช่วงสงกรานต์ต่อไป อธิบดีกรมคุมประพฤติกล่าว

อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการกลุ่มผู้กระทำความผิดซ้ำและกลุ่มผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในคดีขับรถขณะเมาสุรา จะให้ทำงานบริการสังคม โดยเน้นการดูและช่วยเหลือเหยื่อเมาแล้วขับที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง และหากมีพฤติกรรมติดสุราก็จะส่งตัวให้กรมสุขภาพจิตนำเข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลด ละ เลิก ดื่มสุรา หรือเข้าครอสเลิกสุรา ซึ่งกรมคุมประพฤติจะทำแบบประเมินความเสี่ยงว่ากลุ่มไหนควรได้รับการดูแลอย่างไร โดยแบบประเมินความเสี่ยงจะใช้กับผู้ถูกคุมประพฤติทุกกลุ่มที่ศาลมีคำสั่ง นอกจากนี้ ยังมีมาตรการนำกำไลอิเล็คทรอนิคส์มาใช้ควบคุมความประพฤติของทุกกลุ่มและทุกฐานความผิด คาดว่าจะสามารถนำมาใช้ได้เดือน พ.ค. 61 แต่ปัญหาขณะนี้คือผู้ถูกคุมประพฤติมีมากกว่ากำไลอิเล็คทรอนิคส์ ดังนั้น ต้องรอคำสั่งศาลว่าจำเป็นต้องใช้กำไลกับผู้ถูกคุมประพฤติรายใดบ้าง

ด้านนายเจษฎา แย้มสบาย (ผู้พิการ) ตัวแทนเครือข่ายเมาแล้วขับ กล่าวว่า ตนเป็นเหยื่อของผู้ขับรถขณะเมาสุรา ทั้งที่ตนไม่เคยดื่มเหล้า หรือสูบบุหรี่ แค่จอดรถติดไฟแดงแล้วถูกคนเมาขับรถมาชน จนทำให้กลายเป็นผู้พิการนานกว่า 15 ปี จากที่เคยทำงานมีรายได้หลักแสนบาทต่อเดือน ต้องรับสภาพการช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อยู่บ้านเป็นภาระครอบครัว อีกทั้งยังต้องรับประทานยาต่อเนื่องมีค่าใช้จ่ายยาวันละ 100 บาท หากเป็นคนพิการตั้งแต่เกิดก็คงทำใจได้ แต่มาเป็นคนพิการเพราะถูกกระทำจากสังคมนักดื่ม ส่วนตัวอยากให้รัฐบาลผลักดันหรือมีโครงการให้ ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อเมาแล้วขับได้รวมตัวกันออกมาทำกิจกรรมรณรงค์สร้างจิตสำนึก และให้ผู้ถูกคุมประพฤติทำงานจิตอาสาช่วยเหลือผู้พิการนอกเหนือจากการช่วยเหลือผู้ป่วยที่โรงพยาบาล เพราะเป็นโครงการที่ดีทำให้รับรู้ความรู้สึกของเหยื่อที่ถูกกระทำ ขณะที่ผู้พิการได้ประโยชน์ที่มีคนมาช่วยดูแล ปัจจุบันคนพิการในกทม.ที่เป็นเหยื่อเมาแล้วขับมีเพิ่มมากขึ้นกว่า 1,000 ราย บางรายเป็นผู้ป่วยติดเตียงใช้ชีวิตลำบากมาก เดินทางออกนอกบ้านก็ลำบาก รถแท็กซี่ไม่อยากรับ ตนก็เลือกเป็นจิตอาสาเข้ามาช่วยคนป่วยทั้งที่ตนเองเป็นคนพิการ เพื่อทำให้รู้สึกว่าชีวิตยังมีค่า และอยากเตือนผู้ที่เมาแล้วขับว่า หากดื่มเหล้าเมาอย่ามาขับรถ

ทางด้านนายพักดี สอนประเทศ ผู้ถูกคุมประพฤติจากคดีเมาแล้วขับ กล่าวว่า หลังถูกศาลสั่งคุมประพฤติ ตนไมได้กลับไปดื่มสุราอีกเลย เมื่อได้ออกมาทำกิจกรรมร่วมกับผู้พิการที่เป็นเหยื่อเมาแล้วขับทำให้รู้สึกสงสาร บางรายพิการจนมือใช้การไม่ได้ต้องคอยป้อนอาหาร ทำให้สำนึกผิดและคิดว่าตนเองโชคดีที่ไม่เกิดอุบัติเหตุจนกลายเป็นคนพิการ และโชคดีที่ไม่ได้ขับรถไปชนใคร เมื่อเข้าไปทำงานบริการสังคมช่วยเหลือผู้พิการพฤติกรรมการใช้ชีวิตก็เปลี่ยนไป เลิกดื่มเหล้าและไม่เที่ยวเด็ดขาด โดยครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ตนถูกจับและคุมประพฤติในคดีเมาแล้วขับ