ททท.อัดแคมเปญดันรายได้เมืองรอง 3.5 แสนล้าน

ททท.อัดแคมเปญดันรายได้เมืองรอง 3.5 แสนล้าน

ททท.ปูพรมแคมเปญ 7 กิจกรรมตลอดปี 2561 กระตุ้นเที่ยว 55 เมืองรอง ตั้งเป้าปลายปีสร้างรายได้สะพัด 3.5 แสนล้านบาท ขยับสัดส่วนเพิ่ม 5% เป็น 35% เทียบจังหวัดหลัก สานต่อนโยบายกระจายเศรษฐกิจชุมชน หวังหนุนตลาดในประเทศสะพัดแตะ 1 ล้านล้านบาทครั้งแรก

หลังจากรัฐบาลประกาศมาตรการลดหย่อนภาษีท่องเที่ยว ใน 55 จังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวต่ำกว่า 3.5 ล้านคนต่อปี  โดยนักท่องเที่ยวสามารถนำค่าใช้จากการท่องเที่ยวในเมืองรองมาคิดเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อลดหย่อนภาษีได้ตามจริงสูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท มาตรการมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.2560

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า พร้อมเปิดตัวแคมเปญ “อะเมซิ่ง ไทยแลนด์ โก โลคัล” หรือ เที่ยวท้องถิ่นไทย ชุมชนเติบใหญ่ เมืองไทยเติบโต  เพื่อสนับสนุนนนโยบายมาตรการภาษีการท่องเที่ยวเมืองรอง ด้วยการใช้การท่องเที่ยวลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ พร้อมกระจายนักท่องเที่ยวลงสู่การท่องเที่ยวชุมชน

          โดย ททท.ในฐานะที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการตลาด จะใช้ 7 กิจกรรมหลักในการขับเคลื่อน  แบ่งเป็น 5 กิจกรรมกระตุ้นดีมานด์ และ 2 กิจกรรมเตรียมความพร้อมด้านซัพพลาย ต่อเนื่องตลอดปีให้สอดคล้องกัน เมื่อสำเร็จคาดว่าจะช่วยยกระดับรายได้จากเมืองรอง ที่ปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วนรายได้ราว 30% เทียบเมืองหลัก เพิ่มขึ้นเป็น 35% ได้ในช่วงปลายปี 2561

รายได้ท่องเที่ยวไทยแตะ“ล้านล้าน”

ในปี 2561 ตั้งเป้ารายได้ท่องเที่ยวไว้ 3 ล้านล้านบาท จากการเดินทาง 160 ล้านคนครั้ง โดยในจำนวนดังกล่าวจะเป็นครั้งแรกที่ตลาดในประเทศสร้างรายได้แตะ 1 ล้านล้านบาท หลังจากในปี 2560 ที่ผ่านมามีแนวโน้มทำรายได้ราว 9-9.5 แสนล้านบาท 

ดังนั้นหากสัดส่วนรายได้เมืองรองเพิ่มเป็น 35% ตามเป้า ก็จะทำให้รายได้รวมเพิ่มเป็น 3.5 แสนล้านบาทด้วย ซึ่งตามการวางแผนแคมเปญ“โก โลคัล” จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเดินทางเพิ่มราว 10-13.5 ล้านคน สร้างรายได้จากกิจกรรมต่างๆ เป็นเม็ดเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาทเข้าไปหมุนเวียนในพื้นที่เมืองรองโดยตรง

ชู“อี-คูปอง”กระตุ้นตลาด

ด้านกิจกรรมไฮไลท์ที่พร้อมขับเคลื่อนตั้งแต่ราวปลายเดือน ม.ค.นี้เป็นต้นไป เริ่มจาก 1.“เอ็นจอย โลคัล” ซึ่งจะใช้กลยุทธ์นำเทคโนโลยีแอพพลิเคชั่นเข้าถึงนักท่องเที่ยว เปิดตัวการใช้งานที่ให้ข้อมูลท่องเที่ยวเมืองรองโดยตรง ที่มีระบบให้นักท่องเที่ยวเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) ตลาดคนไทยที่มีกว่า 90% ได้วางแผนท่องเที่ยวในแอพพลิเคชั่นได้ทันที เป็นแพลตฟอร์มให้ผู้ประกอบการที่ต้องการเข้าร่วม มานำเสนออี-คูปองเพื่อให้ผู้ใช้ดาวน์โหลดส่วนลดบริการต่างๆ ในพื้นที่เมืองรองได้ทันที

นอกจากนั้น พร้อมระบบการสะสมคะแนน TAT Point ในแอพพลิเคชั่นเพื่อนำมาชิงรางวัลใหญ่ และ มีเป้าหมายให้รางวัลใหญ่และเล็กที่จะทำให้เกิดการเดินทางต่อเนื่อง เช่น ที่พัก, ตั๋วเครื่องบินในประเทศ, หรือรางวัลชิมอาหารในร้านมิชลินของไทย เพื่อตอกย้ำจุดขายด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) รูปแบบการได้คะแนนนั้น ยิ่งเป็นเมืองรองที่ห่างไกลโอกาสก็จะได้รับคะแนนสูง และเปิดโอกาสให้คะแนนที่หลากหลาย 

ทั้งนี้ นอกจากผลพวงด้านการสร้างแรงจูงใจแล้ว สิ่งที่ได้ตามมาคือการสะสมข้อมูลพื้นฐานนักท่องเที่ยว นำมาซึ่งการบริหารจัดการ“บิ๊กดาต้า” ที่นำมาซึ่งข้อมูลย้อนกลับมาปรับปรุงการทำงานส่งเสริมตลาดให้มีประสิทธิภาพสูง

เจาะบริษัทจดทะเบียนดันกลุ่มไมซ์

กิจกรรมที่ 2. SET in the Local กระตุ้นกลุ่มตลาดไมซ์ผ่านบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์, การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมแห่งประเทศไทย เพราะเป็นนิติบุคคลที่สามารถนำค่าใช้จ่ายในเมืองรองมาหักลดหย่อนภาษีได้ 100% โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายกลุ่มองค์กรและเยาวชน เบื้องต้นตกลงร่วมมือกันในหลักการแล้ว และต่อไป ททท.จะนำเสนอความพร้อม 27 ชุมชนท่องเที่ยวให้กับแผนกพัฒนาทรัพยากรบุคคลพิจารณา นำไปสู่การจัดทริปประชุมสัมมนาหรือกิจกรรมซีเอสอาร์ เน้นการเดินทางในช่วงวันธรรมดาเพื่อกระจายความหนาแน่นจากการท่องเที่ยวของกลุ่มคนทั่วไปในช่วงสุดสัปดาห์

กิจกรรมที่ 3 Local Link ร่วมมือกับบริษัทนำเที่ยวหรือตัวแทนจำหน่ายได้รับสิทธิพิเศษ ซึ่งเป็นกลุ่มที่นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการเพื่อลดหย่อนภาษีตามมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองได้โดยตรง โดย ททท.ให้การสนับสนุนเมื่อมีกลุ่มเดินทางเข้าไป เช่น สนับสนุนค่าอาหาร เป็นต้น และช่วยเหลือด้านการรวบรวมคัดกรองชุมชนทั่วประเทศที่มีศักยภาพพร้อมขาย

ชูคู่มือ“โกโลคัล”ดันกลุ่ม FIT

ส่วนกลุ่ม FIT จะจัดทำคู่มือ “โกโลคัล” ในรูปแบบเล่ม 1 หมื่นฉบับ และสำหรับดาวน์โหลดผ่านดิจิทัล นำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวเมืองรองหลายรูปแบบ ตามบุคลิกที่เป็นไฮไลท์ของแต่ละเส้นทาง เช่น เน้นธรรมชาติ, เส้นทางจักรยาน, เที่ยวชายแดน, เน้นการผจญภัย, เส้นทางทัวร์ชิมอาหาร โดยแบ่งกลุ่มตามความพร้อม 3 กลุ่มคือ A : Additional ได้แก่ ท่องเที่ยวเชื่อมโยงเมืองหลักและเมืองรอง สำหรับเมืองรองที่ยังต้องพึ่งพากระแสหรือการเดินทางที่สะดวกจากเมืองหลัก, B : Brand New ได้แก่ 55 จังหวัดในมุมที่มีความพร้อมยกเป็นจุดเด่นของตัวเอง และ C : Combination หรือ ท่องเที่ยวเชื่อมโยงระหว่างเมืองรองและเมืองรองด้วยกัน เพื่อสร้างความน่าสนใจเพิ่มเติม

กิจกรรมที่ 4 Eat Local ประชาสัมพันธ์อาหารถิ่น (Locallicious) อาหารอร่อย อาหารห้ามพลาด ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น ผ่านกิจกรรม Eat Local Week ในทุกภาค พร้อมร่วมกับพันธมิตรส่งเสริมให้มีการขายรายการนำเที่ยวประเภท Local Food Tours การเยี่ยมชมแหล่งผลิต แหล่งวัตถุดิบด้านอาหาร และกิจกรรมที่ 5.Our Local สนับสนุนกิจกรรมชุมชน บนพื้นฐานของวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ท้องถิ่น กระจายทุกพื้นที่ ทุกสัปดาห์ และ ททท.จะเข้าสนับสนุนเมืองรองให้มีส่วนร่วมในประเพณีไทยที่เป็นเวิลด์อีเวนต์ เช่น สงกรานต์ ในปีนี้จะขยับไป 5 เมืองที่ไม่ใช่จุดหมายหลัก ใช้หลักการเดียวกับในช่วงเคาท์ดาวน์ปีใหม่ที่ผ่านมา ที่เริ่มไปสนับสนุนเมืองรอง เช่น กาญจนบุรี และสกลนคร กระตุ้นการรับรู้นักท่องเที่ยวเพิ่ม

จัดกิจกรรมเสริมแกร่งชุมชน

ด้าน 2 กิจกรรมสุดท้าย เตรียมความพร้อมด้านซัพพลายประกอบด้วย กิจกรรมที่ 6. Local Heroes - Towards GSTC (Global Sustainable Tourism Council) และ B2D (Business to Digital) กิจกรรม Mobile Clinic เพื่อการพัฒนาคน สร้างเสริมความเข้มแข็งของชุมชนจากองค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อ ให้ชุมชนเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งทางภูมิทัศน์และการแข่งขันในอนาคต พร้อมทั้งสนับสนุนวิทยากร นักวิชาการ ศิลปิน ผู้มีชื่อเสียงผลงานการสร้างสรรค์ออกแบบ และแนะนำแหล่งทุน และกิจกรรมที่ 7.Local Strength ร่วมมือเชิงบูรณาการกับภาครัฐและเอกชน สร้างความเข้มแข็งในห่วงโซ่อุปทาน และสินค้าพร้อมขาย พัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) ในแหล่งท่องเที่ยว สนับสนุนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในธุรกิจบริการและการท่องเที่ยว (Travel Tech & Start-up Business in services) เพื่อส่งเสริมการขายเข้าเมืองรอง

“วีระศักดิ์” ชง ครม.ขยายพื้นที่เมืองหลัก

นายยุทธศักดิ์ กล่าวด้วยว่า นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยังได้มอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไปพิจารณาพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาประกาศขยายขอบเขตออกไปอีก เนื่องจากหลังการประกาศออกมา ได้รับความคิดเห็นจากบางพื้นที่ในเมืองหลักที่ไม่เข้าเกณฑ์ เช่น ประจวบคีรีขันธ์ ที่ระบุว่าปัจจุบันการท่องเที่ยวกระจุกตัวอยู่ที่อำเภอหัวหิน แต่อำเภออื่นๆ ได้รับประโยชน์น้อยอยู่แล้ว แต่การประกาศครอบคลุมทั้งจังหวัดทำให้เสียโอกาส เช่นเดียวกับนครราชสีมา ที่ไม่ใช่ทุกอำเภอที่ได้รับความนิยม ดังนั้น ก็จะต้องมาศึกษาในรายละเอียดอีกครั้ง รวมถึงการเร่งขยายโฮมสเตย์ในชุมชนให้เข้ามามีส่วนร่วมเพิ่มเติมด้วย จากปัจจุบันมีโฮมสเตย์ภายใต้การรับรองมาตรฐานกรมการท่องเที่ยว ที่เข้าข่ายลดหย่อนภาษีได้ยังไม่ถึง 100 รายทั่วประเทศ

ส่วนกรณีที่นักท่องเที่ยวกังวลว่า ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ค่าอาหาร หรือที่พักขนาดเล็ก อาจจะไม่รวมในการลดหย่อนภาษีนั้น ททท.เสนอแนะให้ใช้บริการท่องเที่ยวในประเทศที่จดทะเบียนถูกต้อง ซึ่งปกติจะเปิดขายทัวร์เสริมแบบวันเดย์ทริปหรือการเที่ยวในช่วงสั้นๆ สำหรับกลุ่ม FIT ที่เดินทางเองเข้าไปในพื้นที่ นอกจากจะได้ความสะดวกในการเดินทางแล้ว ยังนำใบเสร็จจากการใช้บริการมาลดหย่อนภาษีได้ เพราะค่าอาหารจะถูกรวมไว้ในโปรแกรมแล้ว และยังเป็นการช่วยเหลือธุรกิจนำเที่ยวที่ส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีด้วย