สกัดโรคปากและเท้าเปื่อยด้วยชุดตรวจ

สกัดโรคปากและเท้าเปื่อยด้วยชุดตรวจ

นักวิจัย มก.พัฒนาชุดตรวจหาสัตว์ติดเชื้อแฝง ได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ เพื่อเฝ้าระวังและการควบคุมโรคปากและเท้าเปื่อย ลดความสูญเสียในการเลี้ยงสุกร -โคเนื้อและเพิ่มโอกาสในการส่งออกต่างประเทศ

นักวิจัย มก.พัฒนาชุดตรวจหาสัตว์ติดเชื้อแฝง ได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ เพื่อเฝ้าระวังและการควบคุมโรคปากและเท้าเปื่อย ลดความสูญเสียในการเลี้ยงสุกร -โคเนื้อและเพิ่มโอกาสในการส่งออกต่างประเทศ นักวิจัย มก.พัฒนาชุดตรวจหาสัตว์ติดเชื้อแฝง ได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ เพื่อเฝ้าระวังและการควบคุมโรคปากและเท้าเปื่อย ลดความสูญเสียในการเลี้ยงสุกร -โคเนื้อและเพิ่มโอกาสในการส่งออกต่างประเทศ

 
สุกรและโคเนื้อเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย ซึ่งสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรมากกว่า 968,294 ครัวเรือน รวมเป็นสุกรจำนวน 13.07 ล้านตัว และโคเนื้อจำนวน 4.53 ล้านตัว มีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาท ในขณะที่โคนม กระบือ แพะ และแกะ เป็นแหล่งโปรตีนและแรงงานที่จำเป็นต่อเกษตรกรรายย่อย


จากปัญหาสู่งานวิจัย


 ที่ผ่านมาการเลี้ยงสุกรในประเทศไทยประสบกับภาวะขาดทุนเป็นระยะจากภาวะโรคระบาดในสุกร และโค ปัญหาโรคติดเชื้อในสัตว์เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไม่สามารถผลิตสุกรและโคเนื้อให้เพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศและในการส่งออกเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากโรคปากและเท้าเปื่อย เป็นโรคระบาดที่รุนแรงและแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว พบในสัตว์กีบคู่ เช่น สุกร โคกระบือ แพะ และ แกะ ซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อย สัตว์ที่เป็นโรคจะมีตุ่มใสบริเวณซอกกีบ ไรกีบ เยื่อบุช่องปาก ลิ้น และเต้านม ตุ่มใสจะแตกออกซึ่งสัตว์จะเจ็บปวดและกินอาหารไม่ได้ กีบหลุดเดินไม่ได้ ในรายที่รุนแรงอาจถึงตาย สุกรเป็นสัตว์ที่เพิ่มจำนวนเชื้อและแพร่เชื้อ ในขณะที่โค กระบือ แพะ และแกะ ติดเชื้อ แสดงอาการ และเป็นพาหะ ซึ่งสามารถถ่ายทอดเชื้อไปยังสัตว์ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันและก่อให้เกิดการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย (foot and mouth disease virus: FMDV)

เพราะเป็นไวรัสที่มีการเปลี่ยนแปลงทางแอนติเจนและทางพันธุกรรมตลอดเวลาทำให้มีหลายสายพันธุ์ ชนิดที่มีการระบาดในประเทศไทยคือ O, A และ Asia1 เชื้อไวรัสมีความทนทานสามารถมีชีวิตอยู่ในซากสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และในดินเป็นเวลานาน ทำให้การควบคุมและกำจัดโรคนี้เป็นไปได้ยาก โรคปากและเท้าเปื่อยถูกกำหนดให้อยู่ในกลุ่มโรคระบาดร้ายแรงองค์การการค้าโลก จัดให้โรคปากและเท้าเปื่อยเป็นโรคในข้อบังคับในการค้าสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ ทำให้ประเทศที่มีการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยถูกกีดกันทางการค้าและการส่งออกสัตว์เศรษฐกิจและผลิตภัณฑ์สัตว์ไปยังประเทศอื่นๆ 

ในประเทศไทยมีรายงานโรคปากและเท้าเปื่อยตั้งแต่ปี 2501 และเกิดการระบาดอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบันมีการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยอย่างรุนแรง การแพร่ระบาดครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ และเกิดขึ้นต่อเนื่องมากกว่า 18 ครั้ง/เดือน ข้อมูลล่าสุดเมื่อต้นเดือนมี.ค. 2560 มีรายงานการระบาดอย่างต่อเนื่องของโรคปากและเท้าเปื่อยถึง 28 ครั้งในต้นเดือนมี.ค. 2560 สร้างความสูญเสียแก่อุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรและโคเนื้อ ไม่นับการสูญเสียโอกาสในการส่งออกสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ 

เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายในการป้องกันและรักษาโรค และไม่สามารถจำหน่ายและเคลื่อนย้ายสัตว์ที่เกิดโรคได้ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เกษตรกรต้องขาดทุน ซึ่งส่งผลให้ราคาเนื้อสัตว์ในท้องตลาดสูงขึ้น กระทบถึงผู้บริโภคและเศรษฐกิจในภาพรวม ซึ่งมีการศึกษาในหลายประเทศพบว่าความสูญเสียจากการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยอาจสูงถึง 0.3% ของ GDP 

สพ.ญ พรทิพภา เล็กเจริญสุข คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  อธิบายว่า สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อหรือการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยนั้นพบว่า 70% มาจากการเคลื่อนย้ายสัตว์  ดังนั้นการกักกันสัตว์ร่วมกับการตรวจคัดกรองเพื่อทำลายฝูงสัตว์ที่ติดเชื้อจะสามารถควบคุมการนำไวรัสเข้าประเทศไทยและเขตปลอดโรคได้ ชุดตรวจวินิจฉัยที่สามารถตรวจหาสัตว์ติดเชื้อแฝง ได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ และมีความไวสูง จะช่วยสนับสนุนงานด้านการตรวจเฝ้าระวังและการควบคุมโรคปากและเท้าเปื่อยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น


 ชุดตรวจคัดกรองสัตว์


สพ.ญ พรทิพภาและคณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงได้พัฒนาชุดตรวจคัดกรอง KUcheck-F FMDV-NSPELISA (mu3ABC  ELISA) เพื่อวินิจฉัยแยกสัตว์ที่ติดเชื้อออกจากสัตว์ที่ได้รับวัคซีน และได้รับทุนต่อยอดจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตรเพื่อพัฒนาชุดทดสอบเชิงพาณิชย์ ซึ่งชุดตรวจวินิจฉัย KUcheck-F FMDV-NSP ELISA เป็นเครื่องมือสำหรับตรวจคัดกรองสัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อยทั้งที่กำลังแสดงอาการและที่ติดเชื้อแฝงไม่แสดงอาการ โดยตรวจภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อโปรตีน NSP ของไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อย ซึ่งจะปรากฏในซีรัมของสัตว์ที่ติดเชื้อเท่านั้น


  ชุดตรวจ วินิจฉัยนี้สามารถตรวจซีรัมจากสัตว์กีบคู่ได้หลายชนิด เช่น โค กระบือ และสุกร สามารถวินิจฉัยแยกภูมิคุ้มกันของสัตว์ที่เกิดจากการติดเชื้อธรรมชาติออกจากที่เกิดจากการกระตุ้นด้วยวัคซีน  ชุดตรวจวินิจฉัย KUcheck-F FMDV-NSP ELISA ผ่านการทดสอบความน่าเชื่อถือตามหลักของ OIE มีความจำเพาะและความไวในการวินิจฉัยสูง ผ่านการทดลองใช้กับซีรัมจากภาคสนามโดยใช้ตรวจซีรัมสุกรจากฟาร์มที่มีการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย และการทดสอบซีรัมโคและสุกรจากภาคสนามที่ทราบประวัติการสัมผัส เชื้อ ซึ่งให้ผลตรงกับชุดตรวจอ้างอิง ผ่านการทดสอบระยะการใช้งานได้นานอย่างน้อย 1 ปี 

สพ.ญ พรทิพภา  กล่าวว่า  ชุดตรวจคัดกรองดังกล่าว เหมาะสำหรับใช้ตรวจคัดกรองสัตว์ก่อนนำเข้าคอมพาร์ทเมนต์และเขตปลอดโรค และใช้ตรวจคัดกรอง ณ ด่านกักกันสัตว์ก่อนนำสัตว์เข้าประเทศ เพื่อป้องกันการนำไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อยจากประเทศใกล้เคียงเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งในแต่ละปีประเทศไทยต้องใช้ชุดตรวจวินิจฉัยเพื่อคัดกรองสัตว์ที่ติดเชื้อไวรัสโรคปากและเท้าเปื่อย การเฝ้าระวังการระบาด และตรวจภูมิคุ้มกัน รวมประมาณ 36,500 ตัวอย่าง ดังนั้นต้องนำเข้าจากต่าง ประเทศปีละ 389 ชุด คิดเป็นเงิน 26,452,000 บาท/ปี 


ในการจัดตั้งคอมพาร์ทเมนต์ปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยจะต้องใช้ชุดตรวจดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีก 1,634 ตัวอย่าง ต่อคอมพาร์ทเมนต์ ต่อรอบการผลิต (1 รอบการผลิตประมาณ 6 เดือน) โดยกำหนดให้ความชุกของโรคในคอมพาร์ทเมนต์เท่ากับ 1 % เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีสุกรที่ติดเชื้อภายในคอมพาร์ทเมนต์ รวมเป็นเงิน 544,000บาท/คอมพาร์ทเมนต์/2 รอบการผลิต ซึ่งเป็นส่วนที่เกษตรกรจะต้องรับผิดชอบ ถ้าใช้ชุดตรวจ KUcheck-F FMDV-NSP ELISA (mu3ABC ELISA) ในการตรวจตัวอย่างจะทำให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณจำนวน 24,488,300 บาท/ปี ในขณะที่เกษตรกรจ่ายลดลง 456,910 บาท/ปี ชุดตรวจที่มีราคาถูกลงจะช่วยสนับสนุนให้การจัดตั้งคอมพาร์ทเมนต์ปลอดโรคประสบความสำเร็จ และเพิ่มโอกาสในการส่งออกสุกรและผลิตภัณฑ์