'แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย' อ่อนแรงร่วงตกหาดราไว

'แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย' อ่อนแรงร่วงตกหาดราไว

ชาวบ้านราไว พบ "แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย" อ่อนแรงบนชายหาด ก่อนนำตัวส่งสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา อนุบาลก่อนปล่อยสู่ธรรมชาติ

เมื่อวันที่ 4 ม.ค.61 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากนายนายธีธัช ดำอุดม หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงาว่าที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา ต.ตากแดด อ.เมืองพังงา ทางเจ้าหน้าที่ได้รับตัวแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยตัวเต็มวัยน้ำหนักประมาณ 8 กิโลกรัม ความกว้างของปีกกางออกประมาณ 3 เมตร มีลักษณะสีน้ำตาล ตามตัวมีลายจากชาวบ้านที่พบว่าตกในพื้นที่ ต.ราไว จ.ภูเก็ต ที่มีอาการอ่อนแรงนำเข้าอนุบาลและดูแลรักษา ที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา โดยทางเจ้าหน้าที่จะให้อยู่ในกรงขนาดใหญ่มีการให้อาหารตามธรรมชาติผสมยาปฏิชีวนะเพื่อให้ร่างกายแข็งแรงซักระยะหนึ่งต่อจากนั้นจะส่งตัวแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย ไปยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จ.นครปฐม เพื่อนำไปฟื้นฟูดูแลให้แข็งแรง และฝังชิพใต้ปีกก่อนจะปล่อยกลับสู่ถิ่นเดิม

นายสมโชค สุขอินทร์ เจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา กล่าวว่า แร้งสีน้ำตาลหิมาลัย มีแหล่งอาศัยในประเทศทิเบต จีน และอินเดีย ซึ่งแร้งสีน้ำตาลตัวดังกล่าวว่าที่ทางเจ้าหน้าที่ได้รับมาดูแลหลังจากชาวบ้านใน ต.ราไวย์ จ.ภูเก็ต พบว่าตกอยู่บริเวณชายหาดมีอาการอ่อนเพลีย โดยทางชาวบ้านได้นำไปดูแลก่อนจะแจ้งให้ทางนายธีธัช ดำอุดม หัวหน้าสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา และเจ้าหน้าที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา ไปรับมาดูแลต่อ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้รับมารักษาโดยให้วิตามินผสมกับน้ำและอาหารในช่วงแรก และทางเจ้าหน้าที่ได้ให้กินซี่โครงไก่แบบสับละเอียด เพื่อเพิ่มแคลเซียม ซึ่งแร้งสีน้ำตาล หิมาลัย น่าจะอพยพหนีหนาวมาเป็นฝูงและบินจนอ่อนแรงเลยพลัดตกหลงฝูง หลังจากนี้ทางเจ้าหน้าที่จะส่งไปยังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จ.นครปฐม ไปฟื้นฟูก่อนปล่อยสู่ถิ่นกำหนด

สำหรับแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยจัดเป็นแร้งหรืออีแร้งที่มีขนาดใหญ่รองมาจากแร้งดำหิมาลัยที่สามารถพบได้แถบเทือกเขาหิมาลัย จะกระจายพันธุ์อยู่ตามแถบเทือกเขาของภูมิภาคเอเชียกลางไปจนถึงจีนและไซบีเรีย โดยปกติจะอาศัยอยู่ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 600-2,500 เมตร เวลาบินหากินจะบินไปจนถึงระดับ 4,500 เมตร หรือสูงกว่านี้ จะหากินเพียงลำพังหรือพบเป็นฝูงเล็ก ๆ เพียง 2-3 ตัว โดยจะหากินตามช่องเขาหรือทางเดินบนเขา หรือบินตามฝูงสัตว์เพื่อรอกินซากของสัตว์ที่ตาย

ส่วนหัวและลำคอมีขนอุยสีขาว ขนแผงคอสีน้ำตาลอ่อนมีลายขีดสีขาว ลำตัวสีน้ำตาลออกเหลืองหรือสีกากีอ่อน ใต้ท้องสีน้ำตาลอ่อนกว่าด้านหลัง ก้านขนแต่ละเส้นจะมีลักษณะเป็นสีขาวเด่นออกมาจากพื้นสีลำตัว เมื่อยังเล็ก นกวัยอ่อนจะมีสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ มีลายสีขาวบนก้านขนอย่างเห็นได้ชัดเจนกว่านกวัยโต มีขนปีกและขนหางสีดำ ขนหางมีทั้งหมด 14 เส้น มีขนาดลำตัวยาวประมาณ 110 เซนติเมตร ปีกเมื่อกางออกยาวได้ถึงเกือบ 3 เมตร น้ำหนักประมาณ 8-12 กิโลกรัม มีฤดูผสมพันธุ์ระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน รังมีขนาดใหญ่โดยทำจากเศษกิ่งไม้หรือวัสดุอื่นๆ ทำรังบนหน้าผาสูง ทำรังเดี่ยวหรือรวมกันเป็นหลายรังประมาณ 5 - 6 รังในที่เดียวกัน ตัวเมียจะวางไข่เพียงครั้งละ 1 ฟอง แร้งสีน้ำตาลหิมาลัยไม่ใช่นกประจำประเทศไทย แต่เป็นนกอพยพที่ฤดูหนาวจะบินลงใต้มาอาศัยอยู่ยังประเทศไทยเพราะมีอากาศที่อบอุ่นกว่า สถานะอนุรักษ์ในประเทศไทย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535