'ประยุทธ์'เปลี่ยนสถานะ แฝงนัยสืบทอดอำนาจ เตือนอย่าใช้ม.44

'ประยุทธ์'เปลี่ยนสถานะ แฝงนัยสืบทอดอำนาจ เตือนอย่าใช้ม.44

นักวิชาการชี้ "พล.อ.ประยุทธ์" เปลี่ยนสถานะ แฝงนัยสืบทอดอำนาจ เตือนอย่าใช้ม.44 หวั่นเลือกตั้งไม่เป็นธรรม หรือใช้อำนาจอย่างไม่เป็นกลางเพื่อสนับสนุนพรรคการเมือง

นายโคทม อารียา นักวิชาการอิสระ กล่าวว่าหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศต่อสาธารณะยอมรับสถานะความเป็นนักการเมือง เป็นการส่งสัญญาที่ชัดเจน ทั้งการยอมรับในบทบาทนักการเมือง ซึ่งที่ผ่านมานายกฯ ปฏิเสธความจริงเรื่องดังกล่าวตั้งแต่เข้าบริหารราชการแผ่นดินหลังการยึดอำนาจ และเป็นการแปลงโฉมผ่านวาทกรรมเพื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งการแปลงโฉมดังกล่าวถือเป็นการประกาศการสืบทอดอำนาจผ่านตัวตนที่ชัดเจน หลังจากก่อนหน้านี้ คสช. วางการสืบทอดอำนาจแบบแฝง ผ่านกติกา และระเบียบต่างๆ เช่น รัฐธรรมนูญ, พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ, คำสั่ง คสช., สมาชิกวุฒิสภา จำนวน 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้ของคสช. เป็นต้น

"จากพฤติกรรมของ คสช. หรือ พล.อ.ประยุทธ์ สะท้อนให้เห็นเจตนาที่จะสืบทอดอำนาจต่อไปอย่างชัดเจน แต่ตอนนี้ผมประเมินไม่ได้ว่า บิ๊กตู่ จะกระโดดลงสู่สนามการเมืองหรือไม่ แต่เมื่อเขาเปลี่ยนวาทกรรม โดยให้ตัวเองมีสถานะเป็นนักการเมือง สะท้อนว่าเขาคลายมุมมองต่อนักการเมืองที่โกงกิน คอร์รัปชั่น สร้างความวุ่นวายลง และอาจเป็นไปได้ว่าต่อไปเขาอาจร่วมมือหรือสนับสนุนพรรคการเมือง ทั้งทางตรง หรือทางอ้อมต่อไป " นายโคทม กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงข้อควรระวังของพล.อ.ประยุทธ์ในบทบาทการเมืองช่วงเดินหน้าสู่โรดแม็พเลือกตั้ง 2561 นายโคทม กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการไม่ใช้อำนาจ ทั้งจากมาตรา 44 หรืออำนาจบริหาร เพื่อทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นธรรม หรือใช้อำนาจอย่างไม่เป็นกลางเพื่อสนับสนุน ช่วยเหลือพรรคการเมืองใดให้ได้เปรียบในการเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี เมื่อมองถึงการเลือกตั้งเพื่อขับเคลื่อนไปสู่การคืนประชาธิปไตยให้ประเทศแล้ว สิ่งที่ คสช. ควรคำนึงที่สุด คือ การนำทหารกลับเข้ากรม-กองด้วย