‘มาม่า’ฝ่าตลาดอิ่มตัวชูนวัตกรรมเจาะนิชมาร์เก็ต

‘มาม่า’ฝ่าตลาดอิ่มตัวชูนวัตกรรมเจาะนิชมาร์เก็ต

ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศไทยมูลค่า 16,000-17,000 ล้านบาท แม้จะยังมีอัตราการขยายตัวแต่อยู่ในสภาพถดถอยอย่างต่อเนื่อง เป็นที่ยอมรับในภาวะ “อิ่มตัว” และโอกาสเติบโตในระดับไม่เกิน 5%

 “มาม่า” ในฐานะผู้ทำตลาดมายาวนานและครองมาร์เก็ตแชร์สูงสุด 46-47%  วางกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจท่ามกลาง “ทางเลือก” ในการบริโภคมากมายและหลากหลาย รวมทั้งแรงกระเพื่อมจากเทรนด์สุขภาพด้วย “นวัตกรรม” พร้อมมุ่งสู่ “นิชมาร์เก็ต” ​และสร้างการเติบโต “นอกบ้าน”

พิพัฒ พะเนียงเวทย์ รองประธานกรรมการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปตรามาม่า กล่าวว่า โอกาสการเติบโตของตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปในประเทศอยู่ในระดับไม่เกิน 5%  การรักษาความเป็นผู้นำตลาดของ “มาม่า” จะใช้  นวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา (R&D) และสร้างตลาดเฉพาะ (Niche Market) มากขึ้น  

รวมไปถึงการขยายตลาดพรีเมียม ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังมีการเติบโตสูง 26%  ท่ามกลางบะหมี่สำเร็จรูปแบบซองทั่วไป และแบบถ้วย (คัพ) ทรงตัว ปัจจุบันภาพรวมกลุ่มสินค้าพรีเมียม  มีสัดส่วน 10% ของตลาดรวม 

การเติบโตของกลุ่มพรีเมียม ระดับราคา 40-50 บาท เป็นผลจากการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจากต่างประเทศ อาทิ เกาหลี ญี่ปุ่น เข้ามาจำนวนมากและมีการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคที่นิยมความแปลกใหม่

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้บริษัทได้มีการปรับโครงสร้างธุรกิจในเครือ หลัง บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เข้าซื้อหุ้นธุรกิจอาหาร 3 บริษัทในเครือ ได้แก่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)  บริษัท เพรซิเดนท์ไรซ์โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตข้าวต้มกึ่งสำเร็จรูปมาม่า และเส้นหมี่ขาว เส้นก๋วยเตี๋ยวมาม่า และบริษัท เพรซิเดนท์ เบเกอรี่  จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ฟาร์มเฮ้าส์ ซึ่งจะมีการซินเนอร์ยีเพื่อต่อยอดและขยายตลาดได้อย่างมีศักยภาพมากขึ้น 

“ธุรกิจมุ่งปรับตัวเน้น R&D พัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เมนูใหม่ ต่อยอดจากความเชี่ยวชาญ เช่น ข้าว เฮลธ์ตี้ ให้พลังงาน ที่ผ่านมามี 2-3 เมนูใหม่ต่อปี จากนี้จะเพิ่มมากกว่า 3 เมนูขึ้นไป”

ขณะเดียวกัน “ตลาดต่างประเทศ” ถือเป็นโอกาสแห่งอนาคตจะถูกให้ความสำคัญมากขึ้น  ปัจจุบัน  มีโรงงาน 4 แห่ง  ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา บังกลาเทศ และฮังการี ซึ่งจะมีการขยายกำลังการผลิตและขยายตลาดใหม่

โดยเฉพาะโรงงานฮังการี ป้อนตลาดยุโรป มีโอกาสทางการตลาดสูง เป็นการบ้านชิ้นใหญ่!!  จากปัจจุบันทำตลาดประเทศเยอรมนีเป็นหลัก ภายใต้แบรนด์ ไทยเชฟ สามารถขยายกำลังผลิตได้อีก 100%

โรงงานเมียนมา ในย่างกุ้งปัจจุบันใช้กำลังผลิต 60-70%  เตรียมขยายโรงงานแห่งที่ 2 ในมัณฑะเลย์ ลงทุนราว 200 ล้านบาท บนที่ดิน 10 ไร่ คาดเดินสายการผลิตได้ต้นปี 2562  ขณะนี้อยู่ระหว่างรอใบอนุญาติก่อสร้าง คาดเรียบร้อยภายในเดือน ม.ค.นี้ 

สำหรับโรงงานกัมพูชา อยู่ในพนมเปญ มีแผนซื้อที่ดินเพื่อขยายโรงงาน (ปัจจุบันเช่าที่ดิน)  รองรับการขยายตลาดในอนาคต ซึ่งชาวกัมพูชาชื่นชอบสินค้าไทยอย่างมาก

ขณะที่โรงงานบังกลาเทศ ยังมีผลประกอบการขาดทุน เป็นตลาดที่ “ผิดจากคาดการณ์” ซึ่งเดิมมองโอกาสธุรกิจจากฐานประชากรขนาดใหญ่ 160-170 ล้านคน แต่พบว่าผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ  

“เวลาเข้าไปทำตลาดจะเปรียบเทียบราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกับราคาอาหารจำหน่ายริมถนน หากมีความแตกต่างกันมากจะเป็นโอกาสสำหรับบะหมี่สำเร็จรูป ส่วนใหญ่แต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกันระดับหนึ่ง แต่บังคลาเทศเป็นตลาดแปลกออกไป บะหมี่สำเร็จรูปกับอาหารริมถนนราคาเท่ากัน”

นับเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญในการเปิดตลาดต่างประเทศ มองปัจจัย “ฐานประชากร” อย่างเดียวไม่ได้ และด้วยฐานผู้บริโภคขนาดใหญ่ดึงดูดผู้ประกอบการเข้าไปตั้งโรงงานมากถึง 23 แห่ง การแข่งขันสูง  

ดังนั้นขณะนี้ยังไม่มีแผนลงทุนเพิ่มในบังกลาเทศ โดยอยู่ระหว่างพิจารณาปรับแผน ซึ่งมองการเจาะตลาด “อินเดีย” แต่ไม่ง่ายนัก ด้วยข้อจำกัดของกฎหมาย

อีกหนึ่งธุรกิจร่วมทุนพันธมิตรญี่ปุ่นที่มีแนวโน้มการขยายตัวที่ดี “โคราคุเอ็น ราเมน” ร้านราเมนที่มีเครือข่ายสาขามากที่สุดในญี่ปุ่น กว่า 500 แห่ง สำหรับในไทยปัจจุบันเปิดบริการ 2 สาขา เอกมัย และเจพาร์ค ศรีราชา สร้างยอดขาย 30 ล้านบาทต่อปี

ในปี 2561 จะขยายอีก 3 สาขา ลงทุน 10-15 ล้านบาทต่อสาขา เดือน ก.พ. เปิดที่โครงการเดอะพาร์ค  เม.ย.แฟชั่นไอส์แลนด์ และ ต.ค. เทอร์มินอล 21 พัทยา นอกจากนี้มีแผนแตกไลน์  “คีออส เกี๊ยวซ่า” ซึ่งก่อนหน้านี้เคยทดลองทำตลาดผ่านงานอีเวนท์ต่างๆ มีผลตอบรับที่ดี เชื่อว่าจะสามารถขยายสาขาได้มากและรวดเร็ว  

ส่วนธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นทงคัทซึ “ซาโบเตน” มีสาขาให้บริการ 6 แห่ง จะมีการขยายสาขาเพิ่มเช่นกัน

สำหรับ ผลประกอบการปี 2561 “มาม่า” ตั้งเป้าหมายส่วนแบ่งการตลาด 48% ขยับจาก 46-47%  โดยปี 2560 มีรายได้รวม 10,651 ล้านบาท เติบโต 3.04% จากปี 2559 มีรายได้รวม 10,337 ล้านบาท  เป็นรายได้ในประเทศ 80% และส่งออก 20% (ไม่รวมโรงงาน) 

ขณะที่ “โรงงานต่างประเทศ” ในปี 2560 มียอดขายจากโรงงานเมียนมา  650 ล้านบาท กัมพูชา 300 ล้านบาท  ฮังการี 250 ล้านบาท และบังกลาเทศ 50 ล้านบาท