'แอร์เอเชีย-ไทยไลอ้อนแอร์'แข่งเปิดเส้นทางใหม่

'แอร์เอเชีย-ไทยไลอ้อนแอร์'แข่งเปิดเส้นทางใหม่

ธุรกิจสายการบินมีการแข่งขันดุเดือดในการเปิด “เส้นทางใหม่” เพื่อให้ครอบคลุมจุดหมายทั่วทั้งประเทศมากขึ้น “คู่ชิง” ที่เปิดศึกเส้นทางใหม่อย่างร้อนระอุหนีไม่พ้น “ไทยแอร์เอเชีย” และ “ไทยไลอ้อนแอร์” ที่ครองส่วนแบ่งเส้นทางในประเทศอันดับ 1 และ 2 ในปัจจุบัน

โดยปี 2560 ไทยแอร์เอเชีย เปิดตัวรวด “14 เส้นทาง” มีฝูงบินปัจจุบันอยู่ที่ 56 ลำ ส่วนน้องใหม่ ไทยไลอ้อนแอร์ เปิดตัวถึง “21 เส้นทาง” ตามกลยุทธ์กรุยทางสร้างการเติบโตด้วยเป้าหมายระยะยาวคือการขึ้นเป็นโลว์คอสท์ “เบอร์1” ของไทย ปัจจุบันมีฝูงบินสมทบต่อเนื่องรวม 31 ลำ

ทั้งนี้ ไทยแอร์เอเชียมีการขยายเส้นทางต่างประเทศเป็นหลัก 8 เส้นทาง โดยมีศูนย์กลางการบิน (ฮับ) หลัก ที่ดอนเมือง 4 เส้นทาง ได้แก่ ดานัง มัลดีฟส์ เฉินตู และ 2 เมืองในอินเดีย ได้แก่ ชัยปุระ และติรุจิรัปปัลลิ  ขณะเดียวกันยังตอกย้ำจุดแข็งเรื่องการกระจายฮับสู่ภูมิภาคด้วยการเปิดเส้นทางจากจุดหมายอื่นๆ ได้แก่ อู่ตะเภา-หางโจว และเพิ่มเส้นทางภูเก็ตสู่คุนหมิงและมาเก๊าด้วย

ส่วนเส้นทางใหม่ในประเทศ 6 เส้นทาง ที่ยังช่วยให้ไทยแอร์เอเชียครองตำแหน่งแชมป์มีการใช้ฐานปฏิบัติการที่ดอนเมืองเพียง 1 เส้นทาง สู่ระนองที่เปิดตัวท้ายสุดของปี ขณะที่เหลืออีก 5 เส้นทางล้วนเป็นการ “บินข้ามภาค”  ได้แก่ จากอู่ตะเภาสู่ภูเก็ตและอุบลราชธานี, เชียงใหม่-อุดรธานีและอุบลราชธานีและภูเก็ต-ขอนแก่น

ขณะที่ ไทยไลอ้อนแอร์รุก 3 เส้นทางในประเทศจากดอนเมืองไปยังตรัง, ขอนแก่น, พิษณุโลก แต่ที่ร้อนแรงกว่า คือ เส้นทางต่างประเทศ 18 เส้นทาง แบ่งเป็นจากดอนเมืองไปยังฮานอย, มุมไบ, ไทเป, กวางโจว, เฉินตู, ฉงชิ่ง, หนานจิง, หนานชาง, หางโจว, ซีอาน, เซี่ยงไฮ้, ฉางซาและเจิ้งโจว

พร้อมกันนี้ เริ่มขยับขยายสู่การบินออกจุดหมายอื่นๆ ได้แก่ เชียงใหม่สู่เฉินตูและกวางโจว, เชียงรายสู่ฉางซา, อู่ตะเภาสู่ฉางซาและหาดใหญ่ซีอานชิมลางอยู่ที่ 1-2เที่ยวบิน/วัน

หากสังเกตจากการขยายตัวของไทยไลอ้อนแอร์จะเห็นการเติบโตใน “จีน” อย่างเข้มข้นเนื่องจากมีการเปิดบินเข้าไปยังประเทศนี้ถึง 15 เส้นทาง จากทั้งหมด 21 เส้นทางใหม่ในปีนี้ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ต่างจากไทยแอร์เอเชียที่ประกาศว่าจะลดการเติบโตเส้นทางใหม่ในตลาดนี้ไปก่อนโดยหันไปเพิ่มความถี่เที่ยวบินที่มีอยู่

ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ปัจจุบันไทยแอร์เอเชียมีจุดบิน 14 เมืองรวมกว่า 22 เส้นทางในจีน ทั้งนี้เพื่อการสร้างสมดุลของตลาดในปี 2561 จะต้องหันไปเพิ่มสัดส่วนของตลาดอื่นๆ เช่น อินเดีย เพิ่มมากขึ้น เพื่อไม่ให้พึ่งพาตลาดจีนมากเกินไป โดยในส่วนของเส้นทางจีนที่มีการแข่งขันกันดุเดือดนั้น ไทยแอร์เอเชียไม่ได้ลดความสำคัญลงแต่สัดส่วนอาจจะลดลงเพราะตลาดอื่นเติบโตขึ้นมากกว่า

ทั้งนี้ส่วนแบ่งรายได้จากตลาดจีนในปัจจุบันอยู่ที่ 30% ในปัจจุบัน แต่ระยะ 4-5 ปี ต่อไปนี้ ต้องการให้ตลาดซีแอลเอ็มวีเพิ่มจาก 10% เป็น 15% เช่นเดียวกับอาเซียนอื่นๆ ที่ควรเพิ่มจาก 10% เป็น 15% ด้วยขณะที่อินเดียซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาด 2-3% ในปัจจุบันต้องก้าวมาเป็น 10%

ด้าน ปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบินนกแอร์ กล่าวว่า เส้นทางใหม่ในปีนี้นกแอร์มุ่งการเปิดตัวที่จีนเป็นหลักโดยเฉพาะการใช้ “อู่ตะเภา” เป็นศูนย์กลางการบินและมีถึง 10 เที่ยวบินสู่จีน ได้แก่ อี้ชาง, อิ๋นฉวน, ไห่โค่ว, หนานชาง, เปาโถว, ฉางซา, หลินยี่, จุนยี่, เหม่ยเสี้ยน, ต้าถง ซึ่งมีทั้งรูปแบบเที่ยวบินประจำและเช่าเหมาลำ (ชาร์เตอร์ไฟลต์) ด้วยความถี่ตั้งแต่ 1-4 เที่ยวบิน/สัปดาห์

ขณะที่การบินผ่านในเส้นทางอื่นๆเพิ่มเติมได้แก่แม่สอด (จ.ตาก)-ย่างกุ้ง และจากดอนเมืองไปยัง 3 เมืองในจีน ได้แก่ เจิ้งโจว, หนานทง และเหยียนเฉิง

ปี 2560 เป็นปีแห่งการปรับปรุงการดำเนินงานภายในและการเปลี่ยนแปลงหลายด้านสำหรับนกแอร์เพื่อพลิกฟื้นธุรกิจโดยวางกลยุทธ์ด้านการควบคุมต้นทุนและหันมาใช้งานเครื่องบินที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้นในปี 2561 จะยังไม่รับเครื่องบินเพิ่มเติม แต่จะเน้น “เพิ่มชั่วโมงการบิน” ให้เต็มศักยภาพแทนจาก เดือน ก.ย.2560 การใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 7 ชั่วโมงเท่านั้น เริ่มเพิ่มเป็น 10.5 ชั่วโมง ก่อนที่จะได้ราว 11 ชั่วโมงเศษในปี 2561 และการรับเครื่องใหม่อีกครั้งจะมีขึ้นในปี 2562 จำนวน 2 ลำ

ปี 2561 คาดว่าเส้นทางในประเทศจะยังมีการแข่งขันด้านราคาอยู่ แต่จะลดความรุนแรงลงเพราะสายการบินหันไปขยายตลาดเส้นทางต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะจีน ที่เป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพให้เก็บเกี่ยว และนกแอร์ก็ยังมีแผนเชิงรุกพร้อมเปิดตัวใหม่ๆ จากปัจจุบันมีการบินเข้าจีนแล้วกว่า 22 เส้นทาง

นอกจากนั้น การขยายตลาดต่างประเทศยังเป็นกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับการรับเครื่องบินใหม่ในอนาคตที่มีการสั่งซื้อเครื่องโบอิ้ง 737 แม็กซ์ ซึ่งมีจุดเด่นเรื่องการประหยัดพลังงานและรองรับเส้นทางระยะไกลได้คุ้มค่าซึ่งนกแอร์มีคำสั่งซื้อไว้ 8 ลำ

ด้านการขยายเส้นทางใหม่ของสายการบินจากไทยรายอื่นๆ ที่ใช้สุวรรณภูมิเป็นฐานปฏิบัติการ พบว่า ไทยสมายล์แอร์เวย์เปิดเส้นทางใหม่ 3 เส้นทางต่างประเทศไปยังเจิ้งโจว, เกาสง, หลวงพระบาง

บางกอกแอร์เวย์ส เปิด 3 เส้นทางจากสมุยไปยังกวางโจวและฉงชิ่ง รวมถึงกรุงเทพฯ ไปฟูโกว๊ก ขณะที่ไทยเวียตเจ็ทเปิด 2 เส้นทางจากกรุงเทพฯ ไปเชียงรายและดาลัด ขณะที่การบินไทยมีเส้นทางไฮไลท์่กรุงเทพฯ-เวียนนา