ชี้ลงสมัครส.ส.ต้องลงทะเบียน ก่อนหาเสียงผ่านสื่อโซเชียล

ชี้ลงสมัครส.ส.ต้องลงทะเบียน ก่อนหาเสียงผ่านสื่อโซเชียล

โฆษก กมธ. เผยร่างพ.ร.ป.ส.ส. ปรับแก้รอบแรกเสร็จแล้ว ให้ กกต. ลงทะเบียนผู้สมัคร ก่อนหาเสียงผ่านโซเชียล ห้ามเผยผลเอ็กซ์ซิทโพลก่อนปิดหีบ

นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ฉบับดังกล่าวว่า ที่ประชุมพิจารณาเสร็จทั้ง 178 มาตราในรอบแรกแล้ว รวมถึงเชิญ สนช. ที่เสนอคำแปรญัตติมาชี้แจงและอภิปรายให้ที่ประชุม ทั้งนี้คาดว่าหลังจากวันที่ 12 มกราคม กมธ.ฯ จะทำรายงานเพื่อส่งให้ประธานสนช. พิจารณาบรรจุเป็นวาระประชุมได้ สำหรับการปรับแก้ไขนั้นมีสาระสำคัญ คือ การคืนเงินค่าสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. กมธ.ฯ สนช. เห็นว่าควรแก้ไข โดยไม่ต้องคืนเงินค่าสมัครให้กับพรรคการเมือง ตามเงื่อนไขที่กรธ. กำหนดว่าหากผู้สมัครในเขตใดที่ได้คะแนนเลือกตั้งเกินร้อยละ5 ต้องคืนเงินค่าสมัคร เพราะมองว่ารัฐต้องลงทุนและใช้งบประมาณเพื่อจัดการเลือกตั้งหลักหมื่นล้านบาท รวมถึงกรณีคืนเงินอาจสร้างภาระทางธุระการให้กับสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้

นายทวีศักดิ์ กล่าวด้วยว่า การสำรวจและเผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นต่อการตัดสินใจเลือกผู้สมัคร ซึ่ง กมธ.ฯ ผ่อนปรนให้สามารถทำได้ตามหลักที่เคยปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่จะมีหลักปฏิบัติคือองค์กรหรือหน่วยงานที่ทำสำรวจความเห็นต้องเป็นองค์กรซึ่งมีที่มาที่ไป, มีระเบียบวิธีปฏิบัติ โดยไม่มีผลในทางชี้นำการตัดสินใจของประชาชน หรือมีเจตนาไม่สุจริต โดยการทำสำรวจต้องยุติภายในเวลา 18.00 น. ก่อนวันเลือกตั้ง1วัน ขณะที่การเผยแพร่ขณะที่การสำรวจความเห็นหลังจากการเข้าคูหาเลือกตั้ง (เอ็กซ์ซิทโพล) นั้น ร่างพ.ร.ป.กำหนดให้ทำได้ แต่ห้ามเผยแพร่ผลจนกว่าจะถึงเวลาปิดหีบลงคะแนน

โฆษก กมธ.ฯ กล่าวต่อว่า​ การหาเสียงเลือกตั้ง ร่างพ.ร.ป. กำหนดสาระให้ กกต. กำหนดวิธีการหาเสียงเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงความเท่าเทียม เป็นธรรม ของทุกพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็นพรรคขนาดใหญ่ หรือ ขนาดเล็ก ซึ่งการหาเสียงผ่านทางสถานีโทรทัศน์ และวิทยุ กกต. จะเป็นผู้กำหนดให้ ทั้งนี้ที่ประชุมยังพิจารณาถึงวิธีการหาเสียงรูปแบบใหม่ ผ่านทางสื่ออิเล็คทรอนิกส์ ซึ่งพบรายละเอียดจำนวนมาก ดังนั้นจึงกำหนดให้ กกต. เป็นผู้ออกระเบียบและข้อกำหนดเพิ่มเติม โดยกมธ.มีข้อเสนอแนะตามการหารือจากเจ้าหน้าที่ ว่า การหาเสียงผ่านทางสื่ออิเล็คทรอนิกส์ต้องมีขั้นตอนให้ผู้สมัคร ส.ส.ลงทะเบียน เพื่อแจ้งตัวตนและช่องทางสื่ออิเล็คทรอนิกส์ที่ใช้ ขณะที่การโพสต์ข้อความต้องให้ยุติการโพสต์ใหม่ หรือโพสต์ซ้ำ ก่อนถึงวันเลือกตั้ง 3 วัน ขณะที่การเผยแพร่ต่อ นั้น กกต. จะเป็นผู้กำหนดวิธีหรือรายละเอียดอีกครั้ง

นายทวีศักดิ์ กล่าวด้วยว่าสำหรับบทเฉพาะกาลที่เกี่ยวกับการออกพระราชกฤษฎีกาวันเลือกตั้งนั้น กำหนดว่าหลังจากที่ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้ ให้ กกต. ออกพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง ภายใน 90 วัน และแม้จะกำหนดไว้ดังกล่าวจะไม่มีผลต่อการขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วันหลังจากพ.ร.ป. จำนวน4 ฉบับมีผลบังคับใช้ ส่วนกรณีที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเขียนเนื้อหาเพื่อขยายวันบังคับใช้ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.​จากเดิมให้มีผลวันถัดจากที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไปเป็นมีผลอีก 3 เดือนนั้นในทางหลักการทำได้แต่ต้องมีคำอธิบาย อย่างไรก็ดีจนถึงขณะนี้กมธ.ฯ สนช. ไม่มีประเด็นดังกล่าวหารือต่อที่ประชุม