มอง 'เทรนด์ไอทีปี 61’ ผ่านเลนส์ ‘สุเทพ อุ่นเมตตาจิต’

มอง 'เทรนด์ไอทีปี 61’  ผ่านเลนส์ ‘สุเทพ อุ่นเมตตาจิต’

อุตสาหกรรมไอทีปี 2561 ยังมีสิ่งที่น่า "จับตามอง” จำนวนมาก จากเทคโนโลยีที่ไหลบ่าเข้ามาไม่หยุด ทั้งสัญญาณยังเป็นบวก ด้วยทุกธุรกิจและการใช้ชีวิตกำลังมุ่งสู่ “ดิจิทัล” ผลักดันด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก และการเปลี่ยนผ่านประเทศสู่ “ไทยแลนด์ 4.0”

“สุเทพ อุ่นเมตตาจิต” กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทจีเอเบิล เปิดมุมมองว่า นโยบายประเทศไทย 4.0 กระตุ้นให้การลงทุนด้านไอทีในปี 2560 มีความคึกคักมากขึ้น ขณะเดียวกันส่งผลต่อเนื่องมาถึงปี 2561 คาดว่า ตลาดไอทีจะยิ่งมีความน่าสนใจ โดยมีไฮไลต์คือ เทคโนโลยี “แมชีน เลิร์นนิง”  และ "บล็อกเชน" 

ในภาพรวม 10 เทรนด์เทคโนโลยีที่น่าจับตามองสำหรับองค์กรทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยในปี 2561 ประกอบด้วย เทคโนโลยีที่จะมีผลต่อธุรกิจและชีวิตส่วนตัวอย่างมาก 3 อันดับแรกได้แก่ ระบบปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ), แอพพลิเคชั่นวิเคราะห์ อัจฉริยะ และเครื่องใช้อัจฉริยะ(Intelligent Things)

ขณะที่ เทคโนโลยีเด่นอันดับที่ 4 คือ เทคโนโลยีดิจิทัล ทวิน (Digital Twin) ที่จะเปลี่ยนข้อมูลทรัพย์สินจริงขององค์กรให้กลายเป็นทรัพย์สินเสมือนจริงในโลกดิจิทัล เพื่อให้องค์กรสามารถนำเอไอมาใช้วิเคราะห์ประกอบการตัดสินใจแบบเรียลไทม์

ขณะที่ อันดับที่ 5 เทคโนโลยีคลาวด์ขั้นสูง (Edge Computing) ที่ทำให้คลาวด์มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตามมาด้วยอันดับที่ 6 เทคโนโลยีรับคำสั่งด้วยการสนทนา (Conversational Platforms) ซึ่งทำให้ระบบสามารถรับคำถามหรือคำสั่งจากภาษามนุษย์ เช่น รับคำสั่งด้วยเสียง หรือการพิมพ์ในรูปแบบแชท แล้วแปลงเป็นชุดคำสั่งคอมพิวเตอร์เพื่อทำงานโดยอัตโนมัติ ซึ่งหนึ่งในรูปแบบที่คนไทยรู้จักกันดีก็คือแชทบอท (Chatbot) 

สุเทพเชื่อว่า ต่อไปจะได้เห็นการโต้ตอบระหว่าง คอมพิวเตอร์กับมนุษย์ในรูปแบบการให้บริการต่างๆ เช่น ด้านการขนส่ง ด้านบริการหลังการขาย การนัดหมาย การรับเปลี่ยนคืนสินค้า นอกจากนั้น การสนทนาผ่านการแชทจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Open Conversation โดยมีรายงานวิจัยพบว่า เมื่อเทียบกับช่องทางอื่นๆ แล้ว ผู้ใช้บริการจะเปิดใจอย่างแท้จริงเมื่อพูดถึงสินค้า บริการ และแบรนด์ผ่านการแชท

อันดับที่ 7 คือกลุ่มเทคโนโลยีเสมือนจริง (Immersive Experience) ทั้งเวอร์ชวล เรียลริตี้(วีอาร์), อ็อกเมนเต็ด เรียลริตี้ (เออาร์) และ มิกซ์ เรียกริตี้ (เอ็มอาร์) ที่จะกลายมาเป็นช่องทางการแสดงผลข้อมูลและเปลี่ยนแปลงวิธีการที่ผู้คนรับรู้สิ่งต่างๆ ในโลก 

ส่วนอันดับที่ 8 คือ บล็อกเชน ตามมาด้วย อันดับ 9 “Event Driven” ที่จะทำให้ธุรกิจสามารถตอบสนองกับเหตุการณ์ได้เร็วขึ้นเพราะการตรวจพบสิ่งผิดปกติหรือข้อผิดพลาดที่รวดเร็วกว่าเดิมด้วยเอไอ สุดท้ายอันดับที่ 10 ระบบ “Continuous Adaptive Risk and Trust” ซึ่งรวมความปลอดภัยเข้ากับการพัฒนาแอพพลิเคชั่นขององค์กร

ธุรกิจต้องปรับตัว

ผู้บริหารกลุ่มบริษัทจีเอเบิล อธิบายเพิ่มเติมว่า เทคโนโลยีไฮไลต์อย่าง ระบบเรียนรู้อัจฉริยะของเครื่องจักรหรือ แมชีน เลิร์นนิง และดีฟเลิร์นนิง จะเข้ามามีบทบาทในการวิเคราะห์มากยิ่งขึ้น อีกทางหนึ่งบล็อกเชนไปเกี่ยวข้องกับระบบการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money)

“การที่เราจะทำให้เครื่องจักรหรือระบบเกิดการเรียนรู้หรือพัฒนาตัวเองตลอดเวลา เป็นเรื่องนี้น่าสนใจมาก การนำบล็อกเชนมาใช้งานเริ่มเห็นกันแล้วในรูปแบบสกุลเงินดิจิทัล แต่ยังมีข้อจำกัด คือเรื่องระบบแบบแผนการนำมาใช้ที่เป็นรูปธรรม ซึ่งควรจะมีองค์กรกลางเข้ามาดูแลด้านนี้โดยเฉพาะ”

เขากล่าวว่า องค์กรธุรกิจสามารถปรับใช้ 2 เทรนด์เทคโนโลยีที่มาแรงเหล่านี้ ได้หลากหลายโดยเฉพาะเทคโนโลยีบล็อกเชน ที่ไม่ได้เหมาะสำหรับระบบเงินดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังใช้ได้กับทุกระบบงานที่ต้องการเชื่อมข้อมูลหลายส่วนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการทำงานให้ทั้งภาครัฐและเอกชน

อีกทางหนึ่ง ธุรกิจยุคใหม่ต้องขยับตัวตามผู้บริโภค นอกจากการติดตามเทคโนโลยีไฮไลท์สำหรับองค์กรแล้ว ต้องติดตามเทคโนโลยีที่จะเกิดการนำไปใช้ในระดับผู้บริโภคด้วย ซึ่งเทคโนโลยีที่คาดการณ์ว่าจะเข้าถึงประชาชนคนไทยได้มาก 5 เทคโนโลยี คือ ระบบการค้นหาด้วยภาพหรือด้วยเสียง (Visual Search / Voice Search) ระบบแชทบอทที่รองรับการให้บริการประชาชนผ่านการคุยด้วยแชท สกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) เทคโนโลยีจำลองเลียนแบบเสมือนจริง (Counterfeit Reality) และสุดท้ายคือ เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT)

ในระดับของประชาชนทั่วไป เทคโนโลยีที่คนจะเริ่มเรียนรู้และเอามาใช้มากขึ้นจะเป็นการใช้แอพพลิเคชั่นที่ให้ความสะดวกสบาย เช่น โซเชียลมีเดียที่จะลงลึกให้บริการเพิ่มเติมได้มากขึ้น ระบบการค้นหาด้วยภาพหรือด้วยเสียง (Visual Search / Voice Search) ระบบแชทบอทที่รองรับการให้บริการประชาชนผ่านการคุยด้วยแชท หรือระบบชำระเงินออนไลน์ทั้งหลาย 

รวมถึงบริการด้านความบันเทิงที่สามารถมอบประสบการณ์แปลกใหม่ก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้น อย่างเทคโนโลยีเสมือนจริง หรือ 3มิติ จะถูกนำมาใช้ทั้งในด้านความบันเทิงและธุรกิจ ขณะนี้มีหลายบริษัทเริ่มเอามาใช้ เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ให้ลูกค้าใส่แว่น 3มิติ เข้าชมสถานที่ เพื่อให้รู้สึกเหมือนอยู่ในสถานที่จริง ทำให้สามารถมองเห็นมุมที่แตกต่างในแต่ละพื้นที่

ยุค ‘คลาวด์-ไอโอที’

สำหรับ เทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในปี 2560 และองค์กรในประเทศไทยได้ปรับมาใช้งานจริง คือ คลาวด์ ทั้ง พับบลิกคลาวด์ และไพรเวท คลาวด์ ขณะเดียวกัน บริษัทซอฟต์แวร์ก็พยายามจำหน่าย “ซอฟต์แวร์ แอส อะเซอร์วิส” บนคลาวด์ จุดนี้พบว่าหลายบริษัทตอบรับและใช้บริการกันอย่างแพร่หลาย เช่นเดียวกับดาต้าเซ็นเตอร์ ที่หลายบริษัททำธุรกิจจากศูนย์ข้อมูลบนคลาวด์ได้มากขึ้น

นอกจากนี้ ที่เห็นได้ชัดคือ การทำงานร่วมกัน (Work Collaboration) และแอพพลิเคชั่นหลักขนาดใหญ่อย่างอีอาร์พี ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่บนคลาวด์ เป็นเทรนด์ที่พูดถึงกันมา 5-6 ปี แล้ว แต่เริ่มใช้กันมากขึ้นในประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้

สำหรับเทคโนโลยีที่ถูกพูดถึงรองลงมา คือเทคโนโลยีด้านการวิเคราะห์บนบิ๊กดาต้าทั้งหลาย หลังจากขยายตัวชัดเจนตั้งแต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ทำให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้สูงขึ้น เพราะช่วยองค์กรในการบริหารจัดการ วางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจ เพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาด ต่อยอดจากธุรกิจหลักที่ทำอยู่ และสามารถลดต้นทุนการทำงานได้ชัดเจน

นอกจากนี้ เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (ไอโอที) ก็เป็นอีกเทคโนโลยีที่คนไทยพูดถึงมากขึ้น ในเรื่องนี้เชื่อว่าปี 2561 ไอโอทีจะเป็นเทคโนโลยีมาแรง แม้ขณะนี้จะยังไม่มีความพร้อมในภาพรวม แต่มีโอกาสจะเติบโตมากขึ้นในประเทศไทย 

ปัจจุบัน มีบางกลุ่มอุตสาหกรรมได้นำเทคโนโลยีไอโอทีเข้ามาใช้เพื่อการพัฒนาสินค้าและการบริการแล้วอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่เริ่มปล่อยคอนเซ็ปต์สมาร์ทโฮมสู่ตลาด

วางเป้าหมายชัดเจน

สุเทพกล่าวว่า นอกจากทำความเข้าใจความต้องการลูกค้าแล้ว ต้องเข้าใจเป้าหมายของตนเองด้วย ที่ผ่านมาปัญหาที่พบบ่อยเวลาได้พูดคุยกับผู้บริหารหรือลูกค้า เพื่อเข้าไปช่วยองค์กรต่างๆ ทำ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นคือ การที่องค์กรยังไม่เข้าใจความต้องการของตัวเองอย่างแท้จริง

“ก่อนจะตอบคำถามได้ว่าเทคโนโลยีไหนดี ต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า อยากจะให้องค์กรทรานส์ฟอร์มเป็นอะไรและไปในทิศทางไหน นับเป็นเรื่องท้าทายในทุกๆ บริษัท และการจะเข้าใจความต้องการได้ดีขึ้น องค์กรต้องรู้จักและทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้าให้ดีขึ้นก่อน”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่อยากฝากถึงวงการไอที ทั้งระดับองค์กร และ ผู้ใช้เทคโนโลยี คืออยากให้คนไทยพัฒนาตัวเอง ให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมใหม่ๆ มากกว่าการบริโภคสื่อโซเชียลมีเดียเพราะจะสามารถช่วยให้ภาคธุรกิจเติบโต เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

“เป็นเรื่องท้าทายสำหรับธุรกิจองค์กร ที่ต้องโฟกัสในการดำเนินธุรกิจให้มีผลกำไรและเติบโต ในขณะเดียวกันก็ต้องศึกษาและทำความเข้าใจกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันไม่มีสูตรสำเร็จแน่นอนว่าองค์กรควรปรับตัวอย่างไร แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุดก็คือทุกองค์กรต้องเริ่มปรับตัวและมองหาพาร์ทเนอร์มาร่วมสร้างโอกาส”