5 วันปีใหม่เสียชีวิต 317 ราย 'ศรีสะเกษ' แชมป์!!

5 วันปีใหม่เสียชีวิต 317 ราย 'ศรีสะเกษ' แชมป์!!

"ศปถ."สรุปยอด 5 วันช่วงปีใหม่เกิดอุบัติเหตุ 3,056 ครั้ง เสียชีวิต 317 ราย เจ็บ 3,188 คน "ศรีสะเกษ" แชมป์ตายมากสุด

ที่ศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงสรุปผลการดำเนินงานของ ศปถ.ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 ว่า วันที่ 1 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นวันที่ 5 ของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” เกิดอุบัติเหตุ 677 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 71 ราย ผู้บาดเจ็บ 696 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 47.27 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 26.00 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.45 รถปิคอัพ 5.18 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,011 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,092 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 782,166 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 138,279 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 39,875 ราย ไม่มีใบขับขี่ 38,178 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ อุดรธานี 38 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ร้อยเอ็ด และกรุงเทพมหานคร จังหวัดละ 5 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด คือ อุดรธานี 39 คน

นพ.โอภาส แถลงอีกว่า สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 5 วัน (วันที่ 28 ธันวาคม 2560 –วันที่ 1 มกราคม 2561 ) เกิดอุบัติเหตุรวม 3,056 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 317 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 3,188 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตมี 9 จังหวัด ได้แก่ ชัยนาท ตรัง ตาก นครนายก นราธิวาส น่าน ยะลา ระนอง และหนองบัวลำภู จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด คือ อุดรธานี 114 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด คือ ศรีสะเกษ 13 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด คือ อุดรธานี 118 คน

ผู้สื่อข่าวถามว่า สธ.มีมาตรการในช่วงการเดินทางกลับของประชาชนอย่างไรบ้าง นพ.โอภาส กล่าวว่า ใช้มาตรการเดิมกับช่วงขาไป โดยเน้นการคุมเข้มความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะและการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ของพนักงานขับรถ ตลอดจนเตรียมความพร้อมระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินให้เข้าถึงและส่งต่อผู้ประสบอุบัติเหตุได้อย่างรวดเร็ว หากมีการโทรแจ้งเบอร์ 1669 เจ้าหน้าที่ต้องเข้าไปถึงที่เกิดเหตุภายใน 10 นาที รวมทั้งจัดเตรียมระบบสื่อสารแจ้งเหตุ ทีมแพทย์ พยาบาล อาสาสมัครกู้ชีพกู้ภัย อุปกรณ์เครื่องมือให้พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ กรณีเกิดอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน

"นอกจากนี้ สธ.ร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ดำเนินการเจาะเลือดตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของผู้ขับขี่ที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนและบาดเจ็บรุนแรงหรือเสียชีวิต หากผู้ขับขี่ไม่สามารถตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์โดยวิธีเป่าทางลมหายใจได้ ซึ่งตลอดช่วง 5 วัน มีผู้ที่ถูกส่งไปเจาะเลือดแล้วทั้งหมด 1,069 ราย เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี 179 ราย รู้ผลแล้ว 190 ราย โดยพบว่ามีผู้ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกฎหมายกำหนด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จำนวน 101 ราย ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี 10 ราย"