อ่าน 2018

อ่าน 2018

ปีนี้จะวงการหนังสือจะสั่นสะท้านกันไปแค่ไหน หรือว่าใครบ้างที่รอดและร่วง มาดูกันว่าปีหน้าการอ่านและวงการนี้จะเป็นไปอย่างไร เพราะนี่คือยุคสมัยที่หนังสือไม่ใช่สื่อเดียวที่อ่านได้

            เป็นอีกปีที่คนในวงการหนังสือและสื่อสิ่งพิมพ์จำนวนไม่น้อยต้องบ่นอุบกับการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัยแห่งการอ่านจากกระดาษสู่หน้าจอและในรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย จนกระทั่งเกิดการบาดเจ็บล้มตายไปนักต่อนัก ซึ่งก็เหมือนฉายหนังซ้ำเรื่องเดิมวนลูปอยู่อย่างนี้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนอดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วปีหน้าฟ้าใหม่ การอ่าน 2018 จะเดินไปทางไหนกันแน่

 

  • ทำหลายทาง = ยังรุ่ง

            e-book เคยถูกพูดถึงในฐานะ ‘ตัวการ’ ที่อาจจะทำให้การอ่านและวงการน้ำหมึกต้องพลิกโฉม จากวันนั้นที่คำว่า e-book เป็นที่รู้จักจนบัดนี้ กลับกลายเป็นว่าการเติบโตของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้ครึกโครมในประเทศไทยมากนัก คือราว 3 - 5 เปอร์เซ็นต์มาตลอด อย่างในต่างประเทศโดยเฉพาะแถบอเมริกาและยุโรปก็โตไวในช่วงแรกและชะลอตัวในช่วงหลังนี้ด้วย ทว่า ปีที่ผ่านมาในบ้านเรา e-book มียอดขายโตขึ้นมากกว่า 1 เท่าตัว หรือราว 17 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ยังไม่ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมอย่างมีนัยสำคัญมากนัก เพราะฐานเดิมที่ค่อนข้างต่ำนั่นเอง

            แต่ คิม จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการบริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด กลับชวนให้ไปมองที่การเติบโตของระบบ e-library ซึ่งเห็นได้ชัดจากการที่มีหลายบริษัทติดต่อเข้ามาที่นานมีบุ๊คส์เพื่อซื้อหนังสือ e-book เข้า e-library ของพวกเขา เธอบอกว่าน่าติดตามต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร

            ทว่าที่คิมบอกได้ทันทีคือในปี 2560 ที่กำลังจะผ่านไป บริษัทให้ความสำคัญกับการสื่อสารการตลาดมากขึ้น ปรับบทบาทการทำงานให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนไปมากขึ้น เช่น การปรับบทบาทจาก ‘บรรณาธิการ’ เป็น ‘โปรดิวเซอร์’ ที่นอกจากการบรรณาธิการหนังสืออย่างเดียว ก็ให้ความสำคัญการออกแบบรูปลักษณ์ เนื้อหา การสื่อสารการตลาด รวมไปถึงยอดขายมากขึ้น นั่นก็เพราะว่าคลื่นลมที่วงการนี้กำลังเผชิญทั้งแรงและน่าจะยังไม่จบ รายได้คือสิ่งที่จะจุนเจือให้อยู่กันต่อไปได้นั่นเอง

            “เรายังพัฒนาทักษะของฝ่ายขายให้เป็น ‘ที่ปรึกษาด้านการเรียนรู้’ เพื่อรับฟัง วิเคราะห์ความท้าทายของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว โรงเรียน องค์กร หรือมูลนิธิต่างๆ และออกแบบ Solutions ให้ตอบโจทย์อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นองค์รวมมากขึ้น เพราะนานมีบุ๊คส์ไม่ได้ทำหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่มี 4 กลุ่มสินค้าและบริการเข้าด้วยกัน คือ หนังสือ, นวัตกรรมการเรียนรู้ เช่น หลักสูตรต่างๆ ระบบติวเตอร์ออนไลน์ ระบบเรียนรู้ดิจิทัล และสื่อการเรียนรู้สำหรับเด็ก, บริการด้านการเรียนรู้ เช่น ค่ายสำหรับเด็กและเยาวชน บริการรับจ้างจัดค่ายสำหรับโรงเรียน และ Learning Space กับ Learning Center ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจคือ Learning Space อย่าง Rain Tree Residence เขาใหญ่ ช่วยกระตุ้นให้คนอยากอ่านหนังสือมากขึ้น เช่น หนังสือบางเล่มขายยากเย็น เช่น วรรณกรรมรางวัลโนเบลของ มั่วเหยียน ดั่ง เรื่องลำนำกระเทียม แต่พอมีแขกเข้าไปพักในห้อง ‘มั่วเหยียน’ ได้อ่าน quote หรือเรื่องน่าสนใจที่เราตกแต่งห้องพัก ได้ลองอ่านหนังสือที่เราวางไว้ยั่วน้ำลาย ก็ทำให้อยากอ่านต่อ จนมาซื้อที่ front desk” ผู้บริหารสาวกล่าว

            ในสายตาของคิม ปี 2560 ที่ดิจิทัลไล่บี้สื่อกระดาษจึงยังไม่ใช่โค้งมรณะของวงการนี้ ในทางกลับกันเธอมองว่าคนไทยกำลังค่อยๆ หวนกลับมาเห็นความสำคัญของการอ่านหนังสือมากขึ้นกว่าเดิมด้วย จึงคาดว่าหนังสือดียังมีโอกาสเติบโต

            ซึ่งเธอย้ำว่า “แต่เราต้องทำงานอย่างชาญฉลาดมากขึ้น บริษัทของเราเองยังกล้าวางแผนออกหนังสือใหม่เต็มที่ แต่เพิ่มกระบวนการคัดกรองต้นฉบับให้ลุ่มลึกขึ้น”

 

  • ปรับให้ ‘ปัง’ หรือไม่ปรับแล้ว ‘พัง’

            เมื่อ e-book ยังไม่น่ากลัวนัก แต่ช่วงหลายปีมานี้สื่อดิจิทัลอื่นๆ เช่น เฟซบุ๊ค, ทวิตเตอร์, บล็อก ฯลฯ กลับมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการอ่านชัดเจนกว่า เรื่องแบบนี้ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ก็ตามติด และพร้อมปรับตัวโดยส่งเสริมให้สมาชิกปรับแล้วรอดไปด้วยกัน

            “เราต้องถามว่าคนอ่านนั้นอยู่ที่ไหน ถ้าคนอ่านไม่ได้เดินถนนแล้ว แต่เขาอยู่บนคอนโด ถ้าคุณไม่บุกขึ้นไปบนคอนโดแล้วคุณจะขายได้อย่างไรเมื่อคุณยังแบกะดินอยู่ เมื่อคนอ่านมีวิถีชีวิตอยู่ในออนไลน์ ในโลกโซเชียล เราต้องตามไปหาเขาถึงจะขายได้” สุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เปรียบเทียบให้ แล้วอธิบายต่อว่าที่พูดแบบนี้ไม่ได้หมายความว่าร้านหนังสือไม่สำคัญ ตรงกันข้ามเลยคือสมาคมฯตั้งใจสนับสนุนตลอด เพราะร้านหนังสือคือจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของระบบนิเวศหนังสือ เพียงแต่ในยุคที่ต่อท้ายด้วยเลข 4.0 ใครไม่ปรับตัวย่อมต้อง ‘แพ้คัดออก’

            นายก PUBAT บอกว่าตอนนี้ร้านหนังสือใหญ่ๆ ตอนนี้ปรับตัวกันมากแล้ว เช่น บีทูเอส นายอินทร์ ซีเอ็ด และอื่นๆ อยู่ที่ว่าใครคิดได้เร็วและทำได้ก่อนก็เท่านั้น ส่วนสำนักพิมพ์ก็ถึงเวลาเปิดประตูสู่โลกออนไลน์

            “เราพยายามบอกให้เพื่อนสำนักพิมพ์ปรับตัวเพื่อรู้วิธีการขายใหม่ ถ้าคุณจะขายผ่านร้านหนังสืออย่างเดียวอาจจะขายได้ แต่ยังมีอีกตลาดหนึ่งที่คุณยังไม่เคยไป ถ้าคุณไปก็จะยิ่งอยู่รอดได้”

            คำถามที่หลายคนชอบถามกันว่าหนังสือจะตายหรือไม่? สุชาดาตอบว่า ก่อนอื่นต้องดูคำว่าหนังสือและสิ่งพิมพ์ ต้องกำหนดมาให้ชัดเจนว่าหมายถึง หนังสือพิมพ์, หนังสือเล่ม หรือนิตยสาร อย่างนิตยสารต้องอยู่ด้วยโฆษณา พอเศรษฐกิจไม่ดีโฆษณาก็ไม่เข้า ถึงแม้เศรษฐกิจดีแต่โลกเข้าสู่โซเชียลเน็ตเวิร์ก โฆษณาก็จะไหลไปที่อื่น เช่น เพจหรือยูทูบ จึงมีหลายปัจจัยที่ทำให้นิตยสารสักเล่มอยู่หรือไป

            “ในปีหน้าจึงมองว่าตลาดจะไปทางออนไลน์มากขึ้นอีก แต่คนยังอ่านหนังสือเล่มอยู่แน่นอน หนังสือยังไม่ตายหรอก เพียงแต่กระบวนการซื้อการขายมันเปลี่ยนวิธีการไป ตราบใดที่ร้านหนังสือเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงตัวเอง เช่น บีทูเอสสร้างคอมมิวนิตี้ มีการเปิดตัวหนังสือ ให้สำนักพิมพ์ไปทำกิจกรรมในร้านหนังสือ นี่คือการปรับตัวให้มีความเคลื่อนไหว และเขาก็ทำเรื่องออนไลน์ด้วย ไม่ใช่แค่ขายหน้าร้าน คือ คุณอยากเป็นไดโนเสาร์หรือแมลงสาบ ไดโนเสาร์กับแมลงสาบเกิดในยุคเดียวกัน แต่ทุกวันนี้ไดโนเสาร์สูญพันธุ์ไปแล้ว แต่แมลงสาบตัวเล็กๆ ยังอยู่ได้ เพราะปรับตัว”

            หรืออย่างร้านหนังสืออิสระบางร้านที่โตวันโตคืนก็เป็นโมเดลที่น่าสนใจ เช่น ร้านหนังสือเดินทาง, ร้านหนังสือก็องดิด, ร้านหนังสือซอมบี้บุ๊คส์ เป็นต้น คือโจทย์ที่สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯจะถอดรหัสในปีหน้าว่านอกจากเสน่ห์และเอกลักษณ์ของร้านหนังสือเหล่านี้แล้วมีอะไรอีกบ้าง

 

  • We will survive

            “คิดว่าดิจิทัลทำลายวงการหนังสือไหมครับ?” เป็นคำถามสั้นๆ ที่ โตมร ศุขปรีชา ย้อนถามกลับมาถึงคนในวงการนี้ และเมื่อไตร่ตรองแล้วคำตอบคงจะทำนองว่า “อาจไม่ได้ทำลาย แต่มีผลกระทบ” และผลกระทบนี้เองที่นักเขียนนักคิดคนนี้จะอธิบายให้ฟัง

            โตมร บอกว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจดี ราว 10 กว่าปีที่แล้ว ในวงการหนังสือมีหนังสือประเภทหนึ่งที่คนเขียนไม่ใช่นักเขียน อาจจะเป็นแม่ชี, ดารา, นักธุรกิจ หรือนักเล่นหุ้น ซึ่งหนังสือเหล่านี้เฟื่องฟูมากจนเปรียบได้กับผิวน้ำที่มีชั้นหนาเตอะ เมื่อมองลงมากว่าจะเจอหนังสือประเภทวรรณกรรมหรือประเภทที่ค่อนข้างจริงจังจะต้องดำดิ่งลงไปควานหาลึกมาก

            กระทั่งถึงช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ความจริงจึงกระจ่างแจ้ง...

            “ตั้งแต่ช่วงเศรษฐกิจไม่ดีและบวกกับช่วงดิจิทัลมาเป็นแรงกระแทกใหญ่ที่มากระทบผิวน้ำชั้นบนๆ ที่เคยขายดีมากๆ จนกระจาย แต่พวกกลุ่มที่อยู่ใต้น้ำ ที่เคยขายได้ไม่มากมายนักก็ยังขายได้เท่านี้ ไม่ได้ลดลง และอาจจะเพิ่มขึ้นด้วยนิดหน่อย ซึ่งพอพวกข้างบนลดลงทำให้เราเห็นชัดมากขึ้น เพราะฉะนั้นในงานหนังสือที่ผ่านมาครั้งหลังๆ คนจะบ่นว่ารายได้รวมน้อยลง (ยกเว้นครั้งล่าสุดที่ตัวเลขเพิ่มขึ้น) แต่ในเวลาเดียวกันหนังสือพวกนี้ทำไมยังอยู่กันได้ ไม่เห็นหายไปเลย แต่ไอ้ที่เคยขายดีๆ ทำไมบ่นกันจังว่าจะตาย ก็เพราะพวกนี้ (กลุ่มวรรณกรรม) ทำได้แค่นี้ และพอกับแค่นี้ คือมุ่งมั่นที่จะทำหนังสือแบบนี้ ในแบบของตัวเองออกมา

            ตอนนี้ถ้าถามผมก็จะบอกว่า ดิจิทัลมาก็ดีสิ สมมติเราจะอ่านเรื่องแฉ เราก็ไปอ่านดราม่าแอดดิก เพราะแฉได้เร็วกว่าหนังสือแฉ หรือถ้าเราจะอ่านวิธีเล่นหุ้นเราก็ไปติดตามบล็อกของคนที่เป็นเซียนหุ้น ซึ่งเขาก็จะให้ข้อมูลที่ฉับพลันทันทีได้มากกว่า เพราะฉะนั้นหนังสือพวกนี้ก็จะหายไป พอหายไปก็เคลียที่ทางให้หนังสือแปลดีๆ วรรณกรรมดีๆ เรื่องสั้น ต่างๆ นานา ให้คนได้เห็น ผมเลยมองว่าปีหน้ามันหน้าจะดีขึ้นมากกว่าที่จะไม่ดี”

            กลุ่มหนังสือวรรณกรรมและที่ค่อนข้างจริงจังเฉพาะกลุ่ม น่าจะเบาใจไปได้บ้าง แต่สำหรับกลุ่มที่คาบเกี่ยวกับคอนเทนต์ในสื่อดิจิทัล เช่น ที่ต้องอิงกับสถานการณ์ นิยายเป็นตอนๆ เหล่านี้โตมรชี้ให้เห็นว่าสะเทือนหนักเหมือนที่เป็นมาแน่นอน อย่างกรณีของนิตยสารระดับท็อปของไทยที่จะลาแผงเมื่อหมดปี 2560 นี้ เพราะ หนึ่ง คนทำหนังสืออายุมากขึ้นจนถึงเวลาพักผ่อน และสอง ถ้านิตยสารยังทำรายได้มหาศาลก็คงยังทำต่อไปเรื่อยๆ ทว่านี่คือขาลงที่ต้องสู้หนักและเหนื่อย การปิดคือทางออก

            “ที่เป็นขาลงเพราะเราไม่จำเป็นต้องเดินไปซื้อสิ่งนั้นมาอ่านเป็นตอนๆ แล้ว แต่เราแค่คลิกก็จะเจอนิยายเป็นตอนๆ ได้ในออนไลน์ นิยายวาย (ชายรักชาย) นิยายรัก มีเด็กรุ่นใหม่เขียนเรื่องเหล่านี้เต็มไปหมด และคล้ายๆ สกุลไทยหรือสตรีสาร คือ ตอนใหม่จะมาทุกวันพุธหรือพฤหัส จึงเป็นพันธะสัญญาระหว่างคนเขียนกับคนอ่าน คนทั่วไปที่ชอบอ่านนิยายแบบนี้ก็จะไปอ่านในออนไลน์ แล้วพอไปได้ระยะหนึ่ง มันอาจจะหนามากด้วยซ้ำ เขาอาจพิมพ์เป็นเล่มแล้วขายได้อีก ได้เงินจากการคลิกอ่านด้วย

            อีกอย่างคนอ่านเลือกได้ว่าจะอ่านเรื่องนี้ ไม่อ่านเรื่องนี้ ถ้าซื้อนิตยสารสมมติสกุลไทย บางเรื่องไม่ชอบก็ต้องเสียเงินซื้อ นี่คือเทรนด์การอ่านออนไลน์ที่น่าจะมา”

            นอกจากนี้ในหนังสือกลุ่มที่ไม่ต้องอิงสถานการณ์ เช่น รวมเรื่องสั้น นิยายดีๆ นิยายแปล ประวัติศาสตร์ พวกนี้ก็จะกลับมาขายดี เพราะกลุ่มนี้ที่ไม่เกี่ยวกับกระแส Current จะยืนหยัดได้ท่ามกลางการถูกปัดเป่าไปโดยปัจจัยทางเศรษฐกิจและกระแสสังคม ซึ่งหนังสือและนิตยสารเฉพาะกลุ่ม ก็เป็นอีกประเภทที่เขามั่นใจมากว่าจะรอดและไปได้ไกลมากด้วย เช่น นิตยสารนาฬิกา ซึ่งโตมรยกให้เป็นกรณีศึกษาเลยทีเดียว

            “สมมติผู้ผลิตนาฬิกาออกมาใหม่ กลไกแบบใหม่ มันโฆษณาตัวเองเฉยๆ คนก็จะไม่ค่อยเชื่อถือ มันยังต้องการสถาบันอะไรบางอย่างมารองรับ ซึ่งมากกว่าบล็อกเกอร์เฉยๆ นาฬิกาแพงๆ ราคาหลักล้าน มันไม่เหมือนกับเรื่องความสวยความงาม ที่ลิปสติกแท่งหนึ่งหลักร้อยแล้วก็รีวิวกันไปได้ แต่นาฬิกามันต้องการคนที่รู้มากๆ คือ ใครจะเอานาฬิกาเรือนละหลายล้านมาใส่ทดสอบเพื่อบอกว่าเป็นอย่างไร มันจึงต้องเป็นสถาบัน นิตยสารนาฬิกาจึงอยู่ได้ เพราะเป็นตัวกลาง และน่าเชื่อถือ คอยบอกสังคมเล็กๆ ของคนเล่นนาฬิกาได้”

            ท่ามกลางความท้าทายแบบนี้ ทิศทางการอ่าน, การผลิต, การซื้อ, การขาย น่าจะต้องเคลื่อนไหวไปอีกมาก ก็ที่อย่างผู้คร่ำหวอดในวงการทั้งหลายบอกไว้ ใครปรับตัวได้ก็ย่อมมีชัยไปกว่าครึ่ง...หวังใจว่าปีหน้าทุกคนจะปรับตัวได้และอะไรต่อมิอะไรก็จะดีขึ้น เพราะโตมร กำชับว่า “ปีหน้าตัวจริงจะอยู่ได้ คือ คนที่มีแนวทางของตัวเอง คนที่รู้ว่าตัวเองจะขายอะไร”

            ...แล้วคุณล่ะ รู้ตัวเองหรือยัง?