ชีวภัณฑ์สูตร4อิน1 ตอบโจทย์เกษตรอินทรีย์

ชีวภัณฑ์สูตร4อิน1 ตอบโจทย์เกษตรอินทรีย์

นักวิจัยธรรมศาสตร์โชว์ 2 งานวิจัยรางวัลระดับอินเตอร์จากงานแฟร์เกาหลี เตรียมขยายสเกลการผลิตจากแล็บสู่ระดับอุตสาหกรรมปุ๋ยละลายช้า-แผ่นกันแผลกดทับจากเมือกเห็ด

นักวิจัยธรรมศาสตร์โชว์ 2 งานวิจัยรางวัลระดับอินเตอร์จากงานแฟร์เกาหลี เตรียมขยายสเกลการผลิตจากแล็บสู่ระดับอุตสาหกรรม เผยผลงานเม็ดชีวภัณฑ์สูตรละลายช้าสามารถต่อยอดส่งออกอินเดีย ขณะที่แผ่นปิดป้องกันแผลกดทับจากเมือกเห็ดต่อยอดจากเครื่องสำอางเมือกเห็ดซึ่งเปิดตัวเมื่อที่ผ่านมา อยู่ระหว่างการทดลองและทดสอบประสิทธิภาพ ตั้งเป้าปีหน้าสามารถผลิตใช้กับอาสาสมัครในสถานพยาบาล

เมือกเห็ดป้องกันแผลกดทับ

ดุสิต อธินุวัฒน์ หัวหน้าทีมวิจัย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิจัยใช้ประโยชน์เมือกเห็ดหอมในรูปแบบซีรั่มมาสก์หน้า หลังจากวิจัยพบสารสำคัญที่ทำให้เกิดความชุ่มชื้นกับผิว จากนั้นนำไปเปิดตัวสร้างช่องทางการรับรู้ผ่านนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์ในประเทศต่างๆ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เกาหลี สนับสนุนการออกบูธโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ส่วนตลาดในไทยได้จดสิทธิบัตรภายใต้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเปิดตัวในรูปแบบของสตาร์ทอัพนวัตกรรม


ด้วยคุณสมบัติที่สร้างความชุ่มชื้นเซลล์ผิว กลายเป็นที่มาของผลงานแผ่นปิดป้องกันแผลกดทับ เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยติดเตียงที่มีแผลกดทับ โดยนำเมือกเห็ดหอม สาหร่ายแดงที่มีคาราจิแนนมาขึ้นรูปตามขนาดที่ต้องการ ขึ้นอยู่กับว่าจะนำไปใช้กับอวัยวะส่วนใด เช่น ข้อต่อ ข้อเท้า ข้อมือ ข้อศอก ข้อนิ้ว ซึ่งเป็นจุดที่เสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับ ล่าสุดด้รับรางวัลเหรียญทอง ในงานโซล อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวนชั่น แฟร์ 2017 และรางวัลสเปเชียล ไพรซ์ จากซีเรีย


“ช่วงแรกพัฒนาเป็นแผ่นสี่เหลี่ยม แต่หลังจากทดสอบพบว่า รองรับน้ำหนักได้ไม่ดี จึงเปลี่ยนมาเป็นทรงกลมเหมือนโดนัท เมื่อวางลงไปบนผิวหนังจะละลายปลดปล่อยสารสำคัญออกจากแผ่นที่กักเก็บสารด้วยอนุภาคนาโน ทำให้เกิดความชุ่มชื้นและป้องกันเชื้อแบคทีเรียที่จะทำให้เกิดแผลกดทับ จึงเป็นนวัตกรรมเพื่อการป้องกัน ไม่ใช่เพื่อรักษา”


เหตุที่เลือกใช้เห็ดหอมเพราะมีเมือกมากและอุดมด้วยสารสำคัญที่ต้องการ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองในปฏิบัติการก่อนที่นำไปทดสอบคนไข้ คาดว่าต้องใช้ระยะเวลา 6 เดือน- 1ปี จะสามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์เพื่อใช้ในโรงพยาบาล หรือผลิตออกจำหน่าย เหมาะกับกลุ่มที่ผิวแพ้ง่าย มีอายุการใช้งาน 4 ชั่วโมง ตามเวลาพลิกตัวผู้ป่วย

ชีวภัณฑ์สูตร 4 อิน 1

ผลงานถัดมาคือ ชีวภัณฑ์สูตรละลายช้าชนิดเม็ด ที่ใช้เวลาพัฒนา 1 ปีเริ่มจากการศึกษาชีววิทยาของเชื้อแบคทีเรียหรือจุลินทรีย์ พบว่าจะอยู่ในที่ชื้น หากทำเป็นน้ำจะเกิดปัญหาการพองตัว ขนส่งลำบาก หากพัฒนาเป็นผง อัตราการรอดชีวิตต่ำทำให้ประสิทธิภาพลดลง จึงจำกัดให้อยู่ในเม็ดกลมเล็กที่มีรูพรุน วิธีการใช้งานคือ โรยบนดินหรือหว่านลงน้ำ จากนั้นเชื้อแบคทีเรียจะว่ายออกมาตามรูพรุน เพื่อปลดปล่อยสารปฏิชีวนะออกมาฆ่าเชื้อโรค และเข้าไปยึดหรือครอบครองพื้นที่ก่อนที่เชื้อโรคจะเข้าเพื่อป้องกันไว้ก่อน รวมทั้งส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช เนื่องจากแบคทีเรียสามารถผลิตฮอร์โมนกระตุ้นให้พืชโตเร็ว และประโยชน์ถัดมาคือ กระตุ้นภูมิต้านทานให้พืช


ชีวภัณฑ์ดังกล่าวพัฒนามาจากเชื้อ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ ไตรโคเดอร์มา มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อราและแบคทีเรีย นิยมใช้กับไม้ผล ระยะหลังนำมาใช้ในนาข้าว, ซูโดโมแนสฟูเอสเซน ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและกระตุ้นให้พืชสังเคราะห์ฮอร์โมนออกมาทำให้โตเร็วขึ้น เหมาะกับพืชผักตระกูลกะหล่ำ, และจุลินทรีย์ที่ช่วยด้านการสังเคราะห์แสงในนาข้าว ทำให้รากดักจับสารอาหารดีขึ้น


ทั้งนี้ จุดเด่นของผลิตภัณฑ์คือ ละลายช้า ประหยัดต้นทุน ประสิทธิภาพสูง ใส่ครั้งเดียวอยู่นาน 6 เดือน จากเดิมใช้ทุกสัปดาห์ ทำให้ต้องเสียค่าจ้างแรงงาน อายุการเก็บรักษานาน 1 ปี และยังสามารถนำมาผสมกันได้ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับพืช ถือเป็นทางเลือกใหม่ให้เกษตรกรตามเทรนด์โลกที่นิยมใช้ชีวภัณฑ์ เพราะกระแสการบริโภคเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและสุขภาพควบคู่กัน ล่าสุดได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการด้านผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำนับเป็นครั้งแรกที่ผลิตภัณฑ์สำหรับพืชจากงานวิจัย จะขยายสเกลสู่ระดับอุตสาหกรรมส่งออกไปประเทศอินเดีย ก่อนที่จะทำตลาดในประเทศ