จุฬาฯ รับลูกโปรเจคสเปียเฮดหลัง'สวทน.'ชงงบ2.9 พันล้าน

จุฬาฯ รับลูกโปรเจคสเปียเฮดหลัง'สวทน.'ชงงบ2.9 พันล้าน

สวทน. เร่งสปีดโปรเจคสเปียร์เฮดของบรัฐ 2.9พันล้านหนุนจุฬาฯ ผนึกเอกชน รับลูกส่ง 4 โปรเจคยักษ์ วัคซีนไอกรน นวัตกรรมอาหาร หุ่นยนต์ กระดูกเทียมสั่งตัดหวังได้หนุนแจ้งเกิด

ตามที่นายกรัฐมนตรีสั่งการให้หน่วยงานกำกับดูแลงานวิจัยของประเทศ เร่งผลักดันให้งานวิจัยต้องใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่ใช่งานวิจัยขึ้นหิ้งและสามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งคลอดมาตรการกระตุ้นและส่งเสริมการทำวิจัย ที่สามารถเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจ สังคมและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะป็น โครงการทาเลนท์โมบิลิตี้ หรือโครงการจับคู่นักวิจัยเพื่อภาคเอกชนไทย เพื่อกระตุ้นนักวิจัยไปทำงานกับภาคเอกชน มาตรการยกเว้นภาษี 300% สำหรับค่าใช้จ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมให้เอกชนไทยลงทุนวิจัยและพัฒนา


แม้ว่าตัวเลขการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจาก 20,684 ล้านบาท เป็น 26,800 ล้านบาทในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี อย่างไรก็ตามยังไม่เพียงพอกับสภาพการแข่งขันทางธุรกิจที่เข้มข้นในปัจจุบันล่าสุด สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวนช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีมติให้จัดทำกลไกสนับสนุนภาคธุรกิจเอกชนลงทุนทำโครงการวิจัยขนาดใหญ่ระดับบิ๊กอิมแพคต่อภาคเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน พร้อมทั้งจัดเตรียมงบสนับสนุนผ่านทางแผนงานบูรณาการพัฒนาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งแยกเป็น 2 ส่วนคือ แผนงานสเปียเฮด 30% และแผนงานบูรณาการ (แผนงานปกติ) 70% ซึ่งเป็นการสนับสนุนงานวิจัยพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อประเทศ


สเปียร์เฮด โปรแกรม (Spearhead program) เป็นแผนงานวิจัยและนวัตกรรมขนาดใหญ่ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้สูงในสาขาเป้าหมายของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและวัดผลได้ และสนับสนุนการพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ ในประเทศไทย ตามยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี เริ่มตั้งแต่ ปี2560 -2579

2.9 พันล้านขยับเศรษฐกิจ

กิติพงค์ พร้อมวงค์ ฐานะเลขานุการ สวนช., เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) หน่วยงานหลักดูแลแผนงานสเปียเฮด เตรียมเสนอ ครม.ขออนุมัติงบ 2,900 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2562 เพื่อผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมในมหาวิทยาลัยที่มีลักษณะและศักยภาพสูงตามแผนงานสเปียเฮด จำนวน 15 โปรแกรม และโปรแกรมย่อย 42 โปรแกรม
ที่ผ่านมา รัฐบาลให้การสนับสนุนผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยสู่ภาคอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งโปรเจคสเปียร์เฮดก็เป็นหนึ่งโครงการที่รัฐบาลเข้ามาช่วยสนุนโครงสร้างพื้นฐาน และการเงิน ให้กับมหาวิทยาลัยทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม โดยในแต่ละโครงการต้องมีผลลัพธ์หรือผลผลิตออกมาเมื่อดำเนินโครงการไปแล้วภายใน 2- 3 ปี


สำหรับด้านการแพทย์ รวมถึงเมื่อสิ้นสุดการดำเนินงานจะต้องเกิดผลงานที่พร้อมใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งภาคเอกชนต้องร่วมลงทุน 20% ของมูลค่าการลงทุนในโครงการ ยกเว้นทาง ด้านการแพทย์และยาอาจใช้เวลา 4-5ปี ถึงจะเริ่มเห็นผล ในปีที่ผ่านมามีการจัดประกวดและคัดเลือกจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งแต่ละโครงการมูลค่าไม่เท่ากัน ทางการแพทย์อาจสูงกว่าด้านอื่น เพราะต้องมีการทดสอบกับคนเฉพาะช่วงทดสอบต้องใช้เงินถึง 100 ล้านบาท


ในกลุ่มเกี่ยวกับการเกษตร จะมีการนำเซนเซอร์ลักษณะต่างๆ เข้ามาใช้ในสมาร์ทฟาร์ม หรือการพัฒนาซอฟต์แวร์รับสัญญาณจากดาวเทียมเพื่อช่วยดูแลฟาร์ม การทำยาชีววัตถุหรือ ยาไบฟาร์มาซูติคอล วัคซีน และการพัฒนาแพลตฟอร์มทางด้านอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT) นอกจากนั้นมีการพัฒนาหุ่นยนต์ทางด้านการแพทย์ และอุตสาหกรรม หรือการสกัดส่วนผสมจากพืชและสัตว์มาใช้เป็นส่วนผสมอาหารที่มีฟังก์ชั่นตามที่ตลาดต้องการ ฯลฯปัจจุบันมีเอกชน 83 รายเข้ามาร่วมลงทุนในโครงการนี้ โดยรัฐบาลจะเริ่มจ่ายเงินงวดแรก ต.ค.2561


จุฬาฯส่ง 4 โปรเจคนำร่อง


จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับภาคเอกชนได้ยื่นข้อเสนอขอรับการสนับสนุนจากแผนงานสเปียเฮด 4 โครงการ ได้แก่ การพัฒนาและผลิตวัคซีนไอกรนชนิด ไร้เซลล์แบบรีคอมบิแนนท์ที่ผลิตโปรตีนแอนติเจนที่มีความเป็นธรรมชาติแต่ปราศจากความเป็นพิษ จึงไม่ต้องใช้สารเคมีเพื่อขจัดความเป็นพิษและมีประสิทธิภาพแข่งขันกับต่างประเทศได้ ร่วมกับบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย จำกัด,
การสกัดสารอาหารฟังก์ชั่นจากพืชและจุลินทรีย์เพื่อผลิตอาหารและเครื่องดื่มฟังก์ชั่นที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โครงการนี้ร่วมกัน 6 บริษัท, การพัฒนาหุ่นยนต์ดินสอ มินิรุ่น 2 และ 4 เพื่อช่วยประเมิน ดูแล ฟื้นฟูบริการผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ร่วมกับบริษัท ซีที เอเชีย โรโบติกส์ จำกัด และโครงการกระดูกเทียมที่ออกแบบด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติและผลิตจากไทเทเนียม ร่วมกับบริษัท เมติคูลี่ จำกัด
แผนงานสเปียเฮดจึงเป็นการนำงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเข้ามาสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบาย ประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล ที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากภาคเอกชนในการร่วมลงทุน เพื่อนำนวัตกรรมออกสู่เชิงพาณิชย์ทั้งในและต่างประเทศ


********

‘สเปียเฮด’ กลไกขยับไทยแลนด์4.0 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับงานวิจัยของชาติอย่างมากและถือเป็นวาระแห่งชาติอย่างแท้จริงที่จะนำงานวิจัยมาขับเคลื่อนประเทศ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 สั่งยกเครื่องระบบวิจัยเมื่อปี 2559 โดยยุบรวมบอร์ดวิจัยแห่งชาติและบอร์ดนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ แล้วตั้งเป็น “สภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ” (สวนช.) หรือเรียกกันว่าซูเปอร์บอร์ดวิจัย
นายกรัฐมนตรีมานั่งเป็นประธานซูเปอร์บอร์ดวิจัยด้วยตัวเอง แล้วให้เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เป็นเลขานุการร่วม
ผลพวงต่อเนื่องจากภารกิจของซูเปอร์บอร์ดวิจัยคือ การรื้อระบบสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อแก้ปัญหาความซ้ำซ้อนของหน่วยงานให้ทุน และสามารถผลักดันให้มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จึงเป็นที่มาของ “สเปียเฮด” (Spearhead program) ซึ่งเป็นกลไกสนับสนุนงานวิจัยสู่เอกชน แต่จะต้องแผนงานวิจัยและนวัตกรรมขนาดใหญ่ ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้สูงในสาขาเป้าหมายของประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและวัดผลได้
ดังนั้น ลักษณะโครงการวิจัยตามแผนงานนี้ต้องมีมูลค่าอย่างน้อย 100 ล้านบาทตลอดทั้งแผนงาน อีกทั้งจะต้องมีความเป็นไปได้ทางการตลาด มีความเป็นไปได้ด้านเทคโนโลยี การผลิตและมาตรฐานคุณภาพของผลิตภัณฑ์ มีผู้ประกอบการที่พร้อมจะลงทุนให้เกิดการผลิตและจำหน่าย
งานที่จะดำเนินงานต้องอยู่ใน Technology Readiness Level ขั้นต่ำที่ระดับ 5 มีผลลัพธ์หรือผลผลิตที่ชัดเจนเมื่อดำเนินโครงการไปแล้วภายใน 2 ปี และ 3 ปีสำหรับด้านการแพทย์ รวมถึงเมื่อสิ้นสุดการดำเนินงานจะต้องเกิดผลงานที่พร้อมใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์อย่างเต็มรูปแบบ
ส่วนหน่วยงานร่วมดำเนินการต้องประกอบด้วยเอกชนอย่างน้อย 1 รายและหน่วยงานวิจัยที่สามารถรับงบประมาณจากภาครัฐได้อย่างน้อย 1 หน่วยงาน ทั้งยังกำหนดให้ภาคเอกชนต้องร่วมลงทุน ไม่น้อยกว่า 20% ของมูลค่าแผนงาน โดยเป็น in-cash อย่างน้อย 10% และต้องมีเอกสารยืนยันจากภาคเอกชน
ท้ายที่สุดแล้วคาดหวังว่ากลไกนี้จะช่วยให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางและก้าวสู่การเป็นกลุ่มรายได้ระดับสูง ตรงตามเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรี และยุทธศาสตร์การวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ 20 ปี (ปี 2560-2579)