พยาบาลหญิงในคุกชาย...หัวใจเธอน่ากราบ!

พยาบาลหญิงในคุกชาย...หัวใจเธอน่ากราบ!

เจาะลึกเปิดประเด็น! พยาบาลหญิงในคุกชาย...หัวใจเธอน่ากราบ!

ปัญหา “นักโทษล้นคุก” เป็นปัญหาที่อยู่คู่กับกระบวนการยุติธรรมไทยมาตลอดหลายปี แต่ในมุมกลับกัน ยังมีอีกหนึ่งปัญหาที่ไม่ค่อยถูกพูดถึง คือภาวะขาดแคลนเจ้าหน้าที่ที่ดูแลด้านความเป็นอยู่และสุขภาพของผู้ต้องขัง

เจ้าหน้าที่ที่เรารู้จักกันดี คือ “ผู้คุม” หรือ “พัศดี” แต่หลายคนอาจยังไม่ทราบว่ามี “พยาบาล” ที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมงอยู่ในเรือนจำด้วยเช่นกัน

อย่างที่ทัณฑสถานเกษตรอุตสาหกรรมเขาพริก จังหวัดนครราชสีมา มีพยาบาลหญิง 3 คน ทำหน้าที่ตรวจสุขภาพให้ผู้ต้องขังที่มีอยู่ภายในเรือนจำมากกว่า 4,000 คน หรือเฉลี่ยอัตราส่วนผู้ต้องขังที่พยาบาลทั้ง 3 คนต้องดูแลสุขภาพ อยู่ที่ 1 ต่อ 1,387

บูรพา สุขเกษม พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ หรือที่ผู้ต้องขังเรียกเธอว่า “หมอบูล” บอกกับทีมล่าความจริงว่า ที่ผู้ต้องขังเรียกเธอว่าหมอ เพราะว่าพยาบาลในเรือนจำแต่ละแห่งจะทำหน้าที่ทั้งหมอและพยาบาลในเวลาเดียวกัน ทั้งการประเมินอาการคนไข้ และรักษาอาการป่วยด้วยประสบการณ์ความรู้ เนื่องจากภายในเรือนจำไม่มีห้องตรวจเลือดหรือเครื่องเอกซเรย์ใดๆ แตกต่างจากโรงพยาบาลทั่วไป หากอาการของผู้ต้องขังไม่หนักจริงๆ ก็จะไม่มีการนำตัวส่งโรงพยาบาล

ชีวิตของพยาบาลที่ใครๆ ก็รู้ว่างานหนักขนาดไหน แต่ถึงอย่างไรก็ไม่มีทางหนักเท่าการเป็นพยาบาลในเรือนจำ "หมอบูล เล่าว่านอกจากการทำหน้าที่ในช่วงเวลาราชการตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 4 โมงเย็นแล้ว พยาบาลทั้ง 3 คนยังต้องสลับกันเข้าเวรในช่วงเวลากลางคืนด้วย หากมีผู้ต้องขังเจ็บป่วยในยามวิกาล พวกเธอต้องรีบมาดูอาการทันที

เธอเล่าอีกว่า ตอนแรกที่เข้ามาทำหน้าที่อยู่ในเรือนจำ รู้สึกกลัวตลอดเวลา เพราะผู้ต้องขังทั้งหมดเป็นผู้ชายตัวใหญ่ๆ มีแต่รอยสักเต็มตัวไปหมด แต่ก็ต้องทำงานทุกวันเพราะเป็นหน้าที่ และสุดท้ายก็คุ้นเคย แม้งานจะหนักและเสี่ยงอันตราย แต่รายได้ของพยาบาลวิชาชีพอย่างพวกเธอกลับน้อยนิด หากเทียบกับความเสี่ยงในการทำหน้าที่กับผู้ต้องขังซึ่งมีจำนวนมากกว่าเจ้าหน้าที่หลายเท่าตัว ทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าชีวิตของพวกเธอแขวนอยู่บนเส้นด้าย

“คนที่จะมาเป็นพยาบาลในเรือนจำจะต้องมีความเสียสละ เพราะรายได้จะต้องลดลงแน่นอน ต่างจากโรงพยาบาลข้างนอก เพราะมีค่าล่วงเวลาหรือเงินสนับสนุนต่างๆ ให้ แต่พยาบาลในเรือนจำจะได้ค่าเวรแค่ 500 บาท บางทีต้องเข้าเวรตลอด 24 ชั่วโมง และทำงานภายใต้ความหวาดกลัว เพราะเรือนจำไม่ใช่สถานที่ที่น่าอภิรมย์ เราเป็นพยาบาลผู้หญิง แต่ต้องดูแลผู้ต้องขังชาย และการเข้าเวรก็จะเข้าแบบเรียกเมื่อไรก็ต้องมาเมื่อนั้น ค่าล่วงเวลาก็อยู่ที่ 50 บาท ถ้ารักษาไม่ถึง 1 ชั่วโมงก็จะไม่ได้เงิน หากจะมาอยู่เรือนจำก็เลิกคิดถึงจำนวนเงินได้เลย” หมอบูล กล่าว

เช่นเดียวกับ จุรีรัตน์ แพ่งจันทึก พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ ซึ่งเป็นหัวหน้าสถานพยาบาลเรือนจำเขาพริก บอกว่า จำนวนผู้ต้องขังที่มีมากขึ้นทุกวัน แต่พยาบาลหรือแม้แต่ผู้คุมกลับมีจำนวนน้อย ไม่ได้อัตราส่วนที่เหมาะสม ที่ผ่านมามีพยาบาลที่ทำงานในเรือนจำจำนวนไม่น้อย ทำเรื่องขอย้ายกลับไปอยู่โรงพยาบาลทั่วไปที่บ้านเกิดของตัวเอง เพราะรู้สึกถึงความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ ประกอบกับเงินสนับสนุนต่างๆ ที่ดูจะน้อยเกินไปกับความเสี่ยงในการปฏิบัติหน้าที่ทุกๆ วัน

“การทำงานในเรือนจำชายมีความเสี่ยงอย่างมาก เพราะด้วยความแตกต่างระหว่างเพศ ทำให้ผู้ต้องขังบางคนมองเราตั้งแต่หัวจรดเท้า ที่สำคัญเราต้องทำหน้าที่ตรวจผู้ต้องขังแบบตัวถึงตัว จึงอาจจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นได้” จุรีรัตน์ บอก

“ล่าความจริง” ยังได้รับข้อมูลที่น่าตกใจสำหรับอัตราส่วนพยาบาลกับจำนวนผู้ต้องขังในเรือนจำความมั่นคงสูง เช่น เรือนจำกลางราชบุรี มีผู้ต้องขัง 8,259 ต่อพยาบาล 3 คน เรือนจำกลางระยอง ผู้ต้องขัง 7,085 ต่อพยาบาล 3 คน เป็นต้น

เมื่อจำนวนผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นจากความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานต้นน้ำของกระบวนการยุติธรรม ฉะนั้นปลายน้ำของกระบวนการอย่างกรมราชทัณฑ์ ก็ควรได้รับการสนับสนุนเรื่องผู้ปฏิบัติงานให้เพียงพอ เพื่อภารกิจ “คืนคนดีสู่สังคม” ป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ อันจะเป็นการลดจำนวนผู้ต้องขังลงได้ในระยะยาวนั่นเอง