โหนพี่ตูน คุยเรื่องรัฐสวัสดิการ

โหนพี่ตูน คุยเรื่องรัฐสวัสดิการ

ไม่ต้องพูดพร่ำทำเพลง จั่วหัวกันแบบชัดๆ วันนี้ผมจะขอโหนพี่ตูนสักหน่อย แต่คงไม่โหนเพื่อจะประชาสัมพันธ์ตัวเอง เพียงแต่อยากจะโหนพี่ตูนเพื่อพูดเรื่องที่มันน่าจะอยู่เบื้องหลังปรากฏการณ์ “ก้าว” ของพี่ตูน

เอากันแบบตรงไปตรงมา ผู้อ่านคงยอมรับว่า การเข้าถึงบริการทางสาธารสุขในประเทศของเรามีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพของบริการที่แสนจะเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท ตัวเลขจากองค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย ระบุว่า

หมอในกรุงเทพฯ 1 คนดูแลผู้ป่วยในน้อยกว่า 1,000 คน แต่หมอ 1 คนในภาคอีสานดูแลคนไข้ 5,000 คน 

นอกจากนี้ ยังติดปลายนวมด้วยเรื่องสิทธิในการเข้าถึงที่แสนจะแตกต่างราวฟ้าห่างดินระหว่างประชาชนที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับสวัสดิการด้านสุขภาพแบบครอบคลุมมากกว่าทั้งยังเผยแผ่ไปถึงคู่สมรสและครอบครัว

ถึงกระนั้นก็เถอะ แต่ประชาชนอย่างเราๆ ก็รู้สึกรับได้มาตลอดกับภาวะที่ว่า ด้วยเหตุผลว่าเจ้าหน้าที่รัฐนั้นเขาทำงานเพื่อประชาชน หรือมันเป็นกิจการของรัฐที่ยังผลประโยชน์แก่ประเทศชาติโดยรวม เราจึงรับได้โดยไม่ตั้งคำถามว่าทำไมสิทธิของเจ้าหน้าที่รัฐด้านการักษาพยาบาลมันถึงมากกว่าสิทธิของประชาชน

แม้ว่าเงินที่ใช้ในการจัดการเหล่านั้นจะมาจากภาษีของประชาชนก็ตาม

โหนพี่ตูน คุยเรื่องรัฐสวัสดิการ

ปีกลาย เราใช้เงินในการดูแลสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของเจ้าหน้าที่รัฐเฉลี่ยแล้วตกคนละ 14,000 บาทต่อคน

ซึ่งมากกว่าสวัสดิการรักษาพยาบาลของประผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม( 3,160 บาทต่อคน ) และประชาชนในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (3,109 บาทต่อคน)

เห็นหรือไม่ครับว่า การบริการสาธารณสุขเรามีปัญหา และมันเป็นสาเหตุให้พี่ตูนต้องออกมาวิ่ง จากใต้สุดของประเทศไปจนเหนือสุดของประเทศ

เอาเข้าจริง พูดอย่างถึงที่สุด ผมก็เชื่อว่า ท่านผู้อ่านเองก็พึงเข้าใจอยู่แล้วว่า การวิ่งของพี่ตูนคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาระบบหรือบริการสาธารณสุขได้ทั้งระบบ ก็เขาบอกอยู่ปาวๆ ว่าจะช่วยแค่ 11 โรงพยาบาล ไม่ได้จะวิ่งเพื่อระดมเงินบริจาคเพื่อแก้ไข้หรือปฏิรูปปัญหาทั้งระบบ

การปฏิรูปไม่ใช่เป้าหมายในการวิ่งของพี่ตูนครับ อาจจะเป็นเป้าหมายของคนอื่น ผมเข้าใจดีว่ามันคนละเรื่องกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะไม่พูดเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิ่งของพี่ตูน

พื้นฐานที่สุดคือ การมองกลับไปถึงสาเหตุเบื้องต้นว่า ทำไมพี่ตูนถึงต้องวิ่ง และถ้าการวิ่งแก้ได้แค่ส่วนหนึ่ง สิ่งต้องพูดคุยกันต่อคือจะทำอย่างไรสาเหตุต้นตอของปัญหา ถึงจะถูกแก้ไขได้

เรื่องหนึ่งที่เราต้องคุยคือระบบสวัสดิการด้านสุขภาพที่ถ้วนหน้า และเท่าเทียม คือคนไทยทุกคนมีหลักประกันที่จะเข้าถึงบริการด้านสุขภาพในคุณภาพ มาตรฐานและราคาที่เท่ากัน เคลียร์กันสั้นๆ ว่า มันต้องมีให้เท่ากันก่อน ส่วนใครพอใจหรือมีปัญญาความสามารถที่จะไปใช้บริการในที่ที่แพงกว่า หรือมีบริการเสริมที่ดีกว่าก็เป็นเรื่องส่วนบุคคล

ถ้าเราจะเรียกสิ่งนี้ว่า รัฐสวัสดิการ (ด้านสุขภาพ) อย่างที่หลายๆ ประเทศในแถบนอร์ดิก (เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน)

ใช้ นั่นคือ เกิดฟรี ป่วยฟรี ตายฟรี ก็น่าจะเป็นตุ๊กตาของระบบสวัสดิการด้านสุขภาพ (ในฝัน) ที่เราอยากให้รัฐจัดให้

พูดแบบนี้ก็จะมีคนเริ่มเถียงกลับมาทันทีว่า “เรามีเงินไม่พอ”

หรือ “ต้องเก็บภาษีเพิ่ม” “ภาษีอัตราก้าวหน้า” ซึ่งเป็นวาทกรรมที่ทำให้คนชั้นกลางจำนวนหนึ่งหวาดกลัว และไม่เอารัฐสวัสดิการ

โหนพี่ตูน คุยเรื่องรัฐสวัสดิการ

ผมได้ยิน อ.เดชรัตน์ สุขกำเนิด พูดในหลายเวทีว่า จริงๆ แล้วประเทศเรามีเงินครับ แต่เราใช้เงินไปในสิ่งที่ประชาชนไม่ได้รับผลประโยชน์ด้วย

“ถ้าประเทศเป็นบริษัทและเจ้าหน้าที่รัฐเป็นลูกจ้างของบริษัท ประชาชนก็คือผู้ถือหุ้นนะครับ เพราะประชาชนเป็นคนจ่ายเงินภาษีเพื่อให้ประเทศนี้อยู่ได้ แต่ทำไมบอร์ดบริหาร (รัฐบาล) ถึงจัดสวัสดิการดูแลลูกจ้างดีกว่าผู้ถือหุ้น อันนี้เป็นคำถามที่ผมคิดว่า เราถามได้”

อ.เดชรัตน์ พูดในเวที “รัฐสวัสดิการกับสังคมไทย : เสียงจากคนชายขอบ” ที่ แผนงานเสริมสร้างศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและสุขภาพ (นธส.) จัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมา

ในฐานะที่พี่ตูนก็เป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่ง ผมถือว่า ประเสริฐแล้วสำหรับสิ่งที่พี่ตูนได้ทำในครั้งนี้ นอกจากการช่วยเฉพาะหน้าในเชิงปรากฏการณ์ให้ 11 โรงพยาบาล พี่ตูนได้ช่วยเปิดประเด็นปัญหาของระบบสาธารสุขและปัญหาของระบบสวัสดิการ ให้สังคมไทยได้ถกเถียง และปะทะสังสันธ์ทางความคิดอย่างแพร่หลาย ซึ่งเรื่องนี้เป็นคุณูปการที่สำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้าง

เพราะถ้าเราสามารถเปลี่ยนหรือปฏิรูปที่โครงสร้างด้วยการสถาปนาความคิดเรื่องรัฐสวัสดิการได้สำเร็จ เราคงไม่ต้องรบกวนพี่ตูนมาเหน็ดเหนื่อยอีกในครั้งต่อไป

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ในคอลัมน์ เล่ารอบตัว เซคชั่นจุดประกาย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 26 ธันวาคม 2560