5 งานวิจัย‘กิน’ได้ สุขภาพดี

5 งานวิจัย‘กิน’ได้ สุขภาพดี

นวัตกรรมอาหารที่นักวิจัยไทยคิดค้นเพื่อสุขภาพคนไทย รับประทานได้แล้ววันนี้

“งานวิจัยขึ้นหิ้ง” คือ คำกล่าวที่มักใช้ปรามาสผลงานวิจัยพื้นฐานว่าไม่สามารถนำมาต่อยอดให้ใช้ประโยชน์ได้ ทั้งที่ความจริงแล้วมีผลงานวิจัยจำนวนไม่น้อยที่ได้รับการถ่ายทอดให้กับภาคเอกชน หรือแม้แต่ร่วมวิจัยกับภาคเอกชนจนผลิตเป็นสินค้านวัตกรรมออกสู่ตลาดมากมาย

ล่าสุด สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ออกมาแถลงผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2560 ว่า สามารถผลิตผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ จำนวน 578 ฉบับ มีผลงานที่ยื่นขอจดสิทธิบัตร 301 รายการ โดยถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่การใช้ประโยชน์จำนวน 255 โครงการ ให้กับ 311 หน่วยงาน สร้างรายได้จากงานวิจัยได้ถึง 1,961 ล้านบาท สร้างผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม 27,546 ล้านบาท เกิดการลงทุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของภาคการผลิตและบริการ จำนวน 9,456 ล้านบาท ซึ่งมีทั้งการรับจ้างวิจัย การร่วมวิจัย การขายสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตร รวมทั้งการให้คำปรึกษาต่างๆ ด้วย

ในจำนวนนี้มีผลงานวิจัยหลายชิ้นเป็นผลิตภัณฑ์ด้านอาหารที่พร้อมกินพร้อมขาย ภายใต้ฉายาสั้นๆ ว่า “งานวิจัยกินได้” ซึ่งเชื่อว่าผู้บริโภคอาจได้เคยรับประทาน แต่ไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิดอกออกผลมาจากความรู้ความสามารถของนักวิจัยไทย

ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวโภชนาการสูง

คนไทยกินข้าวเป็นอาหารหลักในแทบทุกมื้อ เพื่อให้ได้สารอาหารและพลังงานที่เหมาะสม โดย 'ข้าวขาว' เป็นข้าวที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ซึ่งแม้ว่าข้าวขาวจะให้พลังงานแต่ก็ยังขาดเส้นใยและสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพและป้องกันโรคต่างๆ อาทิ โรคเบาหวาน โรคไต โรคมะเร็ง เป็นต้น

ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สวทช. โดยหน่วยปฏิบัติการค้นหาและใช้ประโยชน์ยีนข้าว ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน วิจัยพัฒนาปรับปรุง 'พันธุ์ข้าวไรซ์เบอรี่' ข้าวเจ้าพันธุ์ใหม่ที่มีคุณสมบัติด้านโภชนาการสูง โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นข้าวเจ้าที่ได้รับการคัดเลือกและพัฒนาพันธุ์ โดยการผสมข้ามพันธุ์ระหว่าง ข้าวเจ้าหอมนิลกับข้าวขาวดอกมะลิ 105 โดยลักษณะเป็นข้าวเจ้าสีม่วงเข้ม รูปร่างเมล็ดเรียวยาว ข้าวมีความนุ่มนวลมาก ต้านทานต่อโรคไหม้ได้เป็นอย่างดี ปลูกได้ตลอดทั้งปี ให้ผลผลิตต่อไร่สูง คุณสมบัติเด่นด้านโภชนาการคือ มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ได้แก่ เบต้าแคโรทีน แกมมาโอไรซานอล วิตามินอี แทนนิน สังกะสี โฟเลต แถมมีดัชนีน้ำตาลต่ำ-ปานกลาง จึงมีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย และทำให้เกิดการสร้างคอลลาเจน ลดการอักเสบที่ผิวหนัง ช่วยลดริ้วรอยและชะลอความแก่ ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง และโรคสมองเสื่อมได้ 

นอกจากนี้ข้าวไรซ์เบอร์รี่ยังมีสรรพคุณช่วยควบคุมน้ำตาลและควบคุมน้ำหนักได้ เหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอ้วนอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่เป็นโรคโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก หากรับประทานข้าวชนิดนี้เป็นประจำก็จะทำให้ได้ธาตุเหล็กซึ่งเป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อระบบเลือด และช่วยบำรุงโลหิตและร่างกายให้แข็งแรงด้วย

ทั้งนี้ จากข้อมูลของกรมส่งเสริมการเกษตรพบว่า ในระหว่างฤดูปลูกนาปรัง 2558/2559 และฤดูนาปี 2559/2560 มีเกษตรกรปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่จำนวน 3,141 ไร่ โดยในกระบวนการผลิตมีการส่งเสริมการปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่แบบอินทรีย์ เพื่อให้ใด้ผลผลิตที่ปลอดภัยและยั่งยืน

แป้ง SAVA ฟลาวมันสำปะหลัง ไร้กลูเตน

ทุกวันนี้ทั่วโลกให้ความสำคัญต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารที่ปลอดกลูเตน (Gluten) สำหรับผู้ที่มีอาการแพ้กลูเตนมากขึ้น ซึ่งกลูเตนเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่พบได้ในข้าวสาลี ข้าวไรย์ และข้าวบาร์เลย์ วัตถุดิบที่นิยมนำมาใช้ทำผลิตภัณฑ์จำพวกขนมปัง พาย เค้ก เพราะเป็นตัวช่วยสำคัญให้ขนมปังฟูขึ้นและเนื้อนุ่ม รวมถึงยังพบกลูเตนได้ในเกี๊ยว แป้งทอดกรอบ มักกะโรนี สปาเกตตี ปลากระป๋อง กะทิสำเร็จรูป น้ำมันหอย ซอสถั่วเหลือง เป็นต้น โดยผู้ที่แพ้กลูเตนจะมีอาการท้องอืด ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีอาการชาตามแขนและขา

เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค ทีมวิจัยไบโอเทค สวทช. ได้ร่วมกับสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตผลทางการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร (KAPI) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนา ‘กระบวนการผลิตฟลาวมันสำปะหลังในระดับอุตสาหกรรม’ จากมันสำปะหลังชนิดขมที่มีปริมาณไซยาไนด์สูงจนได้เป็นฟลาวที่มีปริมาณไซยาไนด์ต่ำและปลอดภัยต่อการบริโภค สามารถนำไปใช้ทดแทนแป้งสาลีในผลิตภัณฑ์เบเกอรีปราศจากกลูเตนต่างๆ และช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับมันสำปะหลังที่เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศไทย

ฟลาวมันสำปะหลังที่ผลิตได้นี้ สามารถควบคุมคุณภาพด้านความหนืดให้มีคุณสมบัติที่ค่อนข้างสม่ำเสมอได้ ถึงแม้ว่าวัตถุดิบหัวมันสำปะหลังเริ่มต้นจะมาจากพันธุ์ที่แตกต่างกัน สามารถนำไปใช้ในผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวได้หลายชนิด และใช้ในผลิตภัณฑ์เบเกอรีต่างๆ ได้หลากหลาย เพื่อทดแทนฟลาวสาลีได้ในสัดส่วนร้อยละ 30-100 นอกจากนี้ การใช้ฟลาวมันสำปะหลังทดแทนฟลาวสาลีได้ทั้งหมดในสูตรส่วนผสมจะนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ที่มีมูลค่าสูง สำหรับผู้บริโภคที่แพ้โปรตีนข้าวสาลี หรือกลูเตน

ปัจจุบันได้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตฟลาวมันสำปะหลังในระดับอุตสาหกรรมให้กับ บริษัท ชอไชยวัฒน์อุตสาหกรรม จำกัด สำหรับผลิตจำหน่ายในเชิงพาณิชย์แล้ว โดยใช้ชื่อทางการค้าว่า SAVA แป้งอเนกประสงค์ ไร้กลูเตน ซึ่งถือเป็นเจ้าแรกในประเทศไทย ที่สำคัญแป้ง SAVA มีราคาขายถูกกว่าแป้งปราศจากกลูเตนในท้องตลาดด้วย

 ไส้กรอกไขมันต่ำ อร่อยได้ไม่อ้วน

ไส้กรอก ขึ้นชื่อว่าเป็นอาหารยอดนิยมของคนแทบทุกวัย แต่สำหรับคนรักสุขภาพแล้ว ไส้กรอกนั้นแทบจะเป็นอาหารต้องห้ามเลยทีเดียว เพราะมีปริมาณไขมันสูง ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สวทช. จับมือกับศูนย์วิจัยและพัฒนาเครือเบทาโกร เอาใจคนอยากสุขภาพดีที่ชื่นชอบไส้กรอก ด้วยการพัฒนา 'ไส้กรอกไขมันต่ำ' โดยพัฒนาวิธีรักษาคุณภาพเนื้อสัมผัสและรสชาติให้คล้ายคลึงกับไส้กรอกสูตรดั้งเดิม หรือไส้กรอกไขมันเต็มให้มากที่สุด นับเป็นนวัตกรรมการผลิตไส้กรอกเพื่อสุขภาพครั้งแรกของประเทศไทย

ดร.นิสภา ศีตะปันย์ หน่วยวิจัยโพลิเมอร์ เอ็มเทค สวทช. กล่าวว่า การพัฒนาไส้กรอกไขมันต่ำ ทีมวิจัยได้พยายามแทนที่ไขมันสัตว์ด้วยของผสมจากสารทดแทนไขมัน และนำศาสตร์เชิงรีโอโลยี (Rheology) ที่เชื่อมโยงกับลักษณะโครงสร้างภายในของอาหาร มาใช้ในการพัฒนาไส้กรอกไขมันต่ำให้มีลักษณะเนื้อสัมผัสและลักษณะปรากฏคล้ายสูตรดั้งเดิม เพิ่มความสามารถในการอุ้มน้ำ ตลอดจนการปรับสัดส่วนขององค์ประกอบจากเนื้อสัตว์ และองค์ประกอบอื่นๆ ในสูตร รวมถึงการปรับสภาวะในกระบวนการผลิต และนำมาทดสอบคุณสมบัติทางเนื้อสัมผัสและประสาทสัมผัสอีกด้วย

“ไส้กรอกไขมันต่ำที่พัฒนาขึ้นมีส่วนประกอบที่เป็นไฟเบอร์ หรือใยอาหารจากพืชมาใช้ทดแทนไขมันสัตว์ ซึ่งนอกจากมีปริมาณไขมันน้อยกว่า 4% (ไส้กรอกดั้งเดิมมีไขมัน 20-30%) แล้ว ยังให้พลังงานต่ำและมีปริมาณคอเลสเตอรอลต่ำอีกด้วย ที่สำคัญคือยังให้เนื้อสัมผัสและรสชาติของไส้กรอกไม่แตกต่างจากสูตรดั้งเดิม ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการทานไส้กรอกที่อร่อยและไม่ต้องกังวลกับไขมันอีกต่อไป ทั้งนี้ไส้กรอกไขมันต่ำได้มีการต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ไปแล้ว 7 อย่าง โดยมีวางจำหน่ายแล้วที่ซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำทั่วประเทศ”

ซุปข้นกึ่งสำเร็จรูปและเยลลี่ อาหารเพื่อผู้สูงอายุ

ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ซึ่งหนึ่งในปัญหาสำคัญของผู้สูงอายุ คือ อาหาร เพราะผู้สูงอายุมีปัญหาเรื่องการบดเคี้ยวอาหาร และการกลืน อีกทั้งยังมีภาวะเบื่ออาหาร ทานได้น้อย ทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ อาหารเพื่อผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ ITAP สวทช. ได้ร่วมมือกับภาคเอกชน สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญ ดร.สวามินี นวลแขกุล คณะอุตสาหกรรมเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมวิจัยพัฒนา ซุปข้นกึ่งสำเร็จรูป และเยลลี่สำหรับผู้สูงอายุได้สำเร็จ

ดร.สวามินี กล่าวว่า ซุปข้นกึ่งสำเร็จรูป เป็นผลงานที่ได้ร่วมวิจัยกับ บริษัท เพรชิเดนท์ไรซ์โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) เป็นอาหารที่ออกแบบเพื่อผู้สูงอายุที่ต้องรับประทานอาหารที่มีเนื้อสัมผัสอ่อน ผู้ที่เบื่ออาหารหรือทานอาหารได้น้อย รวมทั้งเป็นทางเลือกสำหรับผู้รักสุขภาพ โดยซุปข้นกึ่งสำเร็จรูปผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ ผสมโภชนเภสัชที่สำคัญซึ่งให้คุณประโยชน์ตามที่ออกแบบไว้ เพื่อสร้างเอกลักษณ์ของแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยซุปข้นกึ่งสำเร็จรูปที่กำลังจะวางขายมี 3 รสชาติ ได้แก่ ซุปข้นมัลติเกรนชาเขียวผสมโคเอนไซม์คิวเทน ซุปฟักทองผสมใบแปะก๊วย และซุปธัญพืชงาและมอลต์ผสมคอลลาเจน

“สำหรับผลิตภัณฑ์เยลลี่สำหรับผู้สูงอายุ บีมูนเจล เป็นผลงานวิจัยที่ร่วมกับ บริษัท เบนส์เวล คอร์ปอเรชั่น จำกัด พัฒนาขึ้นสำหรับผู้ป่วยและผู้สูงอายุ ที่มีปัญหาในการเคี้ยวและกลืนอาหาร โดยเยลลี่พัฒนามาจากเครื่องดื่มผงสูตรบีมูนเวล ซึ่งมีคุณสมบัติเด่นคือเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย เยลลี่ที่พัฒนาได้มีเนื้อสัมผัสนุ่มลื่น รับประทานได้ง่าย รสชาติอร่อย รวมทั้งยังเสริมโอเมก้า 3 (EPA) โปรตีน ใบแป๊ะก๊วยสกัด มีเส้นใยอาหาร แคลเซียม วิตามินและแร่ธาตุสูง ที่สำคัญเยลลี่นี้ยังปราศจากกลูเตน น้ำตาล และน้ำตาลแล็กโตสด้วย โดยปัจจุบันผลิตภัณฑ์เยลลี่สำหรับผู้สูงอายุ มี 4 รสชาติ คือ กาแฟ ข้าวโพด ชาเขียว และช็อคโกแลต นอกจากนั้นแล้วผลิตภัณฑ์ยังสามารถเก็บไว้ได้นาน พกพาสะดวก หวังว่าผลิตภัณฑ์อาหารที่พัฒนาขึ้นนี้จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้ผู้สูงอายุมีความสุขกับการรับประทานอาหาร และช่วยเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น”

โยเกิร์ตกรอบ ขนมสำหรับเด็กเล็ก

ทุกวันนี้ในต่างประเทศจะมีขนมสำหรับเด็กเล็กที่ดีต่อสุขภาพ แต่น่าเสียดายว่าในประเทศไทยขนมส่วนใหญ่มักจะเน้นไปที่รสชาติมากกว่าคุณค่าทางสารอาหาร ITAP สวทช. ได้ร่วมกับ บริษัท โจลี่-แฟมิลี่ จำกัด ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการแปรรูปผัก ผลไม้ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ พัฒนาผลิตภัณฑ์ 'โยเกิร์ตกรอบ' ขนมเพื่อสุขภาพสำหรับคนทุกวัย

โยเกิร์ตกรอบ พัฒนาขึ้นด้วยเทคโนโลยีอบแห้งแบบแช่แข็งสุญญากาศ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยในการถนอมผลิตภัณฑ์ให้มีคุณสมบัติ และคุณภาพใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมากที่สุด โดยโยเกิร์ตจะถูกทำให้เย็นจนแข็ง และอยู่ในบรรยากาศที่มีความชื้นต่ำ เกิดสภาวะน้ำแข็งระเหิด โดยไม่มีการละลาย จึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเคมีและกายภาพ รวมทั้งยังสามารถรักษาจุลินทรีย์ที่ยังมีชีวิตอยู่ ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์โยเกิร์ต กรอบที่มีรสชาติดี และเต็มไปด้วยคุณประโยชน์ทางโภชนาการ เหมาะสำหรับเด็กตั้งแต่อายุ 12 เดือนขึ้นไป โดยโยเกิร์ตกรอบนี้ ไม่เพียงเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่นอกจากอร่อยและมีประโยชน์สำหรับเด็กๆ แล้ว ยังเป็นสินค้าที่สร้างโอกาสทางการตลาด ช่วยเพิ่มมูลค่าการจำหน่ายโยเกิร์ตทั้งภายในและต่างประเทศด้วย

ทั้งหมดนี้คือ ตัวอย่างบางส่วนของงานวิจัยกินได้ฝีมือนักวิจัยไทยที่พร้อมกินพร้อมขาย เป็นนวัตกรรมอาหารที่ตอบโจทย์ทุกเพศทุกวัย ให้ได้รับประทานอาหารที่เหมาะสม รสชาติดี แถมได้คุณประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภคอย่างครบครัน