ขยายปมร้อน ได้อะไร?... ร่าง พ.ร.ป. ป.ป.ช. ฉบับใหม่

ขยายปมร้อน ได้อะไร?... ร่าง พ.ร.ป. ป.ป.ช. ฉบับใหม่

ขยายปมร้อน  ได้อะไร?... ร่าง พ.ร.ป. ป.ป.ช. ฉบับใหม่

หลังจากถกกันมานาน  เมื่อวาน(25 ธ.ค ) ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ก็ผ่านความเห็นชอบจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขั้นตอนต่อไปก็จะส่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาต่อไปว่าเนื้อหาของร่างกฎหมายของสนช.ขัดต่อเจตนารมณ์หรือไม่

แล้ว..เราได้อะไรบ้างจาก ร่างกฎหมาย ป.ป.ช. ฉบับใหม่

อันแรกเลย ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯของบุคคลซึ่งอยู่กินฉันสามีภรรยา แม้ว่าไม่ได้จดทะเบียนสมรมด้วย ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 100 จากเดิมไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯของสามีหรือภรรยานอกสมรส 

สำหรับความสัมพันธ์ของชายหญิงแบบไหนที่ถือว่าอยู่กินกันฉันสามีภรรยานั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะเป็นผู้กำหนดต่อไป 

แต่หากจำกัดความง่ายๆ ก็คือ ชายหญิงที่กินอยู่หลับนอนกันเป็นประจำเยี่ยงสามีภรรยา อยู่บ้านเดียวกัน ใช้ชีวิตร่วมกัน มีการอุปการะซึ่งกันและกัน

แต่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินของ“กิ๊ก” ซึ่งเป็น คู่นอน ,ชู้ หรือ เพื่อนต่างเพศที่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งมากกว่าเพื่อนทั่วไป 

ต้องยอมรับว่ากลไกใหม่ที่สร้างขึ้นนี้ ช่วยป้องกันและตรวจสอบการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินที่ทุจริตหรือได้มาโดยมิชอบ ได้ดีขึ้นในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม วิธีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินนั้น ยังมีอีกหลายวิธี เช่น โอนทรัพย์สินไปให้บุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้ว,ให้บุคคลอื่นถือทรัพย์สินแทน ,ซุกเงินสดไว้ในบ้าน ,ฝังเงินสดหรือทรัพย์สินไว้ใต้ดิน  แม้ว่าวิธีการนี้จะค่อนข้างโบราณ แต่ก็อย่ามองข้าม  เห็นได้จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 มีการประเมินว่า มีเงินที่ถูกฝังดินหายไปถึง 1.4 ล้านล้านบาท

ต่อมาก็คือ การได้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน ซึ่งดำรงตำแหน่งมาประมาณ 2-3 ปี แล้ว อยู่ต่อไปจนกว่าจะครบวาระ เนื่องจากบทเฉพาะกาลมาตรา 178 ของร่าง พ.ร.ป. ป.ป.ช. ฉบับใหม่นี้  บัญญัติว่า ให้ประธานกรรมการ ป.ป.ช. และกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อน วันที่ พ.ร.ป. ฉบับนี้ใช้บังคับ ยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปจนกว่าครบวาระ .... ทั้งที่มีกรรมการ ป.ป.ช. บางคนขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ตาม

การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน ได้ต่ออายุ ไม่ต้องถูก“เซ็ตซีโร่”หรือ“รีเซ็ตใหม่”  ก็มีผลดีี เนื่องจากปัจจุบัน มีคดีที่คั่งค้างอยู่ที่ ป.ป.ช. จำนวนมาก การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบันได้ทำงานต่อ ก็จะมีความต่อเนื่องในการทำคดี เพราะหากเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ชุดใหม่  ก็ต้องมาเสียเวลาในการศึกษาสำนวนคดีในแต่ละเรื่อง ทำให้คดียิ่งล่าช้าขึ้นไปอีก 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก กรรมการ ป.ป.ช. ชุดนี้บางคน มีความสัมพันธ์กับผู้ที่กุมอำนาจรัฐ  การที่ได้ต่ออายุออกไป ก็ทำให้มีบางคนมองว่า มีความเป็นได้หรือไม่ ที่อาจเป็นยุทธศาสตร์หนึ่งของผู้มีอำนาจ  

 ร่าง พ.ร.ป. ป.ป.ช. ฉบับใหม่นี้ ยังอุดช่องโหว่ ผู้ถูกกล่าวหาหลบคดี  โดยในมาตรา 38 บัญญัติว่า ในระหว่างการไต่สวน หรือเมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.  ชี้มูลว่าผู้ใดกระทำความผิดนั้นมีโทษทางอาญา หากมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้ถูกกล่าวหาจะหลบหนี ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือผู้ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มอบหมาย ดำเนินการขอให้ศาลที่มีเขตอำนาจออกหมายจับและควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหาไว้ ทั้งนี้ในการจับและควบคุมตัว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวน ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายโดยเร็ว

 ทั้งนี้เนื่องจากตามกฎหมาย  ป.ป.ช. ไม่มีอำนาจควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหา เหมือนกับตำรวจหรือดีเอสไอ จะเห็นได้ว่าคดีที่ขึ้นสู่การไต่สวนจนกระทั่งถึงการชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช. ผู้ถูกกล่าวหาไม่ต้องถูกควบคุมตัวหรือยื่นประกันตัวใดๆทั้งสิ้น ทำให้ผู้ถูกกล่าวหา หากคิดหลบหนีคดีก็ทำได้ง่าย แต่ต่อไปนี้ เมื่อ ป.ป.ช. เห็นว่าผู้ถูกกล่าวหา จะหลบหนีคดี ก็สามารถขอให้ศาลออกหมายจับและควบคุมตัวผู้ถูกกล่าวหาไว้ได้ 

นอกจากนี้ ร่าง พ.ร.ป. ป.ป.ช.ฉบับใหม่นี้ ยังคงเนื้อหาเดิม คือ ถ้าผู้กล่าวหาหรือจำเลยที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดอาญาตาม พ.ร.ป. ป.ป.ช. หลบหนีคดีไปในระหว่างถูกดำเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาของศาลหรือเมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ไม่มีการนับอายคุวามช่วงหลบหนีคดี ดังนั้น ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหนีคดีไปนานเท่าไหร่ ก็ไม่มีการขาดอายุความดำเนินคดี 

ส่วนเรื่องที่ เพิ่มอำนาจให้ ป.ปช. สามารถเข้าถึงข้อมูลการสื่อสารได้ทุกช่องทาง หรือ เป็นการดักฟัง  สุดท้ายกรรมาธิการเสียงข้างมากทนเสียงคัดค้านไม่ไหวต้องยอมถอนออกไป ซึ่งหาก ป.ป.ช ได้อำนาจนี้ไป อาจเป็น“ดาบสองคม” 

แต่ที่“ สุภา ปิยะจิตติ” กรรมการ ป.ป.ช. ได้ชี้แจงต่อ สนช.ว่า การปราบโกง  ป.ป.ช. จำเป็นต้องมีเครื่องมือเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว โดยเปรียบเปรยว่า “ถ้าเสือไม่มีเขี้ยวเล็บ ก็คือแมว ” ก็เป็นเรื่องน่าคิด

เพราะว่า ปัจจุบันมีกฎหมายหลายฉบับที่ให้อำนาจกับองค์กรต่างๆ“ดักฟัง”และเข้าถึงข้อมูลของบุคคลอื่นได้  เช่น ดีเอสไอ, ปปง. ,ปปส.   ซึ่งก็ไม่เห็นว่าเกิดปัญหาขึ้นในทางปฏิบัติมากมาย เพราะมิเช่นนั้นก็ต้องมีการยกเลิกเพิกถอนอำนาจเช่นว่านี้ขององค์กรเหล่านี้ไปแล้ว  

แต่ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นถึง“องค์กรอิสระ” กลับไม่ได้รับความไว้วางใจ..ก็แปลกดีว่าทำไม