'เอ็นบีเอ-เอ็นเอฟแอล'ความนิยมที่เดินสวนทาง

'เอ็นบีเอ-เอ็นเอฟแอล'ความนิยมที่เดินสวนทาง

 แม้อเมริกันฟุตบอลจะเป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมอย่างมากของชาวอเมริกันเกือบจะทุกเพศทุกวัย แต่มีตัวชี้วัดที่ชัดเจนว่ากีฬาชนิดนี้หรือที่พวกเขาเรียกกันติดปากว่า “ฟุตบอล” กำลังได้รับความนิยมลดลง

 แต่อย่าเพิ่งคิดว่าตอนนี้กีฬาอันดับ 1 ในอเมริกาไม่ใช่อเมริกันฟุตบอล เพราะจากผลสำรวจของ “อีเอสพีเอ็น” สื่อกีฬาชั้นนำยังแสดงให้เห็นว่า ศึกคนชนคน ยังคงเป็นที่นิยมมากกว่าทั้ง เบสบอล และ บาสเกตบอล ซีรีส์รอบชิงแชมป์เอ็นบีเอ ปี 2017 มีคนดูเฉลี่ยถึง 20.4 ล้านคนต่อเกม ซึ่งเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 20 ปี แต่นั่นเป็นเพียงตัวเลขที่ใกล้เคียงกับตัวเลขผู้ชมศึกเนชันแนลฟุตบอลลีก หรือ "เอ็นเอฟแอล" ฤดูกาลปกติในคืนวันอาทิตย์ 20.3 ล้านคนต่อเกม และเวลานี้ก็ยังไม่มีสถิติคนดูที่สูงเท่ากับตัวเลขผู้ชม 111ล้านคน ของซูเปอร์โบวล์ 2016 ซึ่งตามตัวเลขเหล่านี้ เอ็นเอฟแอลยังคงทิ้งห่างบาสเกตบอล เบสบอล และฮอกกี้ในเรื่องของยอดผู้ชม 

 อย่างไรก็ตามขึ้นชื่อว่า อเมริกา แล้ว ไม่มีอะไรที่สามารถเอาแน่เอานอนด้วยได้ แม้อเมริกันฟุตบอลยังคงเป็นกีฬายอดนิยม แต่ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีสัญญาณของความเปลี่ยนแปลง ความนิยมของลีกเอ็นเอฟแอล ลดลงจาก 67% เมื่อปี 2012 เหลือ 57% ในปีนี้ ส่วนลีกเบสบอลอาชีพ ลดลง 2% ในช่วงเวลาเดียวกัน สวนทางกับความนิยมในลีกเอ็นบีเอ ที่เพิ่มขึ้น 3%

เอ็นเอฟแอล 'เสี่ยงเจ็บ'

 หนึ่งเหตุผลสำคัญที่คนอเมริกันเริ่มไม่สนใจกีฬาแม่เหล็กของพวกเขา คือ "ความอันตราย" แม้ความเสี่ยงทางกายภาพมักเป็นหนึ่งในเสน่ห์ของกีฬานี้มาตลอด เนื่องจากเป็นการแสดงถึงความเป็นลูกผู้ชาย แต่ผลการศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้แสดงให้เห็นว่ากีฬาชนิดนี้มีความเสี่ยงที่จะทำให้สมองได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง 

 ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์โดยวารสารสมาคมการแพทย์อเมริกัน พบว่า อดีตผู้เล่นอเมริกันฟุตบอล 110 จาก 111 คน เป็นโรคอาการบาดเจ็บทางสมองเรื้อรัง (ซีทีอี) ซึ่งจะพบได้บ่อยในคนที่เล่นกีฬาซึ่งทำให้เกิดอาการบาดเจ็บที่ศีรษะบ่อยครั้ง แม้การบาดเจ็บแขนหักหรือซี่โครงแตก ในมุมของผู้คลั่งไคล้กีฬาคนชนคน ดูจะเป็นแผลเป็นที่ทำให้ตัวเองดูดุดันและผ่านประสบการณ์มาโชกโชน แต่ความเสียหายของสมองอย่างถาวรที่มีผลต่อผู้เล่นตลอดชีวิต คือสิ่งที่เกินจะเรียกว่า "ประสบการณ์" หรือ "ความบันเทิง" และไม่มีอะไรที่เซ็กซี่เกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าและภาวะสมองเสื่อม

 สิ่งที่ทำให้แย่ลงไปกว่านั้นคือผลการศึกษายังพบปัญหาเดียวกันกับผู้เล่นระดับมัธยมและวิทยาลัย โดยพบว่าผู้เล่นระดับมัธยม 3 จาก 14 คนมีอาการบาดเจ็บทางสมอง และ 48 จาก 53 คน หรือคิดเป็น 91% ของนักเรียนระดับวิทยาลัยต่างมีอาการดังกล่าวเช่นเดียวกัน

 ดร.เบนเน็ต โอมาลู แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทพยาธิวิทยา ผู้ค้นพบโรคซีทีอี กล่าวว่า การอนุญาตให้เด็ก ๆ เล่นอเมริกันฟุตบอลไม่ต่างจากการทารุณกรรมพวกเขา “หากคุณเล่นฟุตบอล และหากลูกของคุณเล่นฟุตบอล ก็มีความเสี่ยง 100%” ความจริงที่รุนแรงนี้ยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้นไปอีกเมื่ออดีตผู้เล่นเอ็นเอฟแอลหลายคน อาทิ เบร็ท ฟาฟร์, เทอร์รี แบรดชอว์ และ ทรอย เอ็คแมน ยอมรับว่าพวกเขาไม่ต้องการให้ลูก ๆ เล่นฟุตบอล เช่นเดียวกับ เลบรอน เจมส์ และบารัก โอบามา อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ต่างเห็นด้วยกับเรื่องนี้

 นอกจากนั้น ผลสำรวจของ Washington Post-University of Massachusetts Lowell ระบุว่า 90% ของแฟนกีฬายอมรับว่าการบาดเจ็บที่ศีรษะเป็นปัญหาใหญ่สำหรับวงการกีฬา

เอ็นบีเอตอบโจทย์เด็กรุ่นใหม่

 นอกจากเอ็นเอฟแอลจะมีภาพลักษณ์ที่อันตรายแล้ว อีกสิ่งที่ทำให้อนาคตของเอ็นเอฟแอลดูน่าเป็นห่วงว่าจะได้รับความนิยมลดลงคือ บรรดาเด็กรุ่นใหม่ซึ่งถือเป็นฐานแฟนคลับในอนาคตที่สำคัญ เลือกหันไปให้ความสนใจกับการเล่นบาสเกตบอลมากกว่า

 รายงานของ “อีเอสพีเอ็น” สื่อกีฬาเจ้าดังของสหรัฐ เผยว่า บาสเกตบอล คือ กีฬายอดนิยมในหมู่วัยรุ่นอเมริกันทั้งชายและหญิง ขณะที่อเมริกันฟุตบอลตกไปอยู่อันดับ 3 และพบว่าอเมริกันฟุตบอลทำให้เกิดการบาดเจ็บมากกว่ากีฬาชนิดอื่น ๆ โดยคิดเป็น 28% ของการบาดเจ็บระหว่างนักกีฬา ส่วนบาสเกตบอลมีเพียง 15% เท่านั้น

จุดยืนที่แตกต่าง

 "กีฬา" ในความหมายของอเมริกันชน ต้องเป็นตัวแทนของจิตวิญญาณของประเทศนี้ นักกีฬาหลายคนไม่พอใจกับการรับเงินและวิ่งกลับบ้านเพื่อซ่อนตัวอยู่ในคฤหาสน์ พวกเขาต้องการแสดงออกถึงความรับผิดชอบของตนเองในฐานะที่เป็นแบบอย่างให้กับเด็ก ๆ และตัวแทนของชุมชน ที่จะพูดหรือแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี

 ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา มีเรื่องขัดแย้งในศึกอเมริกันฟุตบอลที่ลุกลามใหญ่โต เมื่อ โคลิน แคเปอร์นิค ควอร์เตอร์แบ็ก ทีมซาน ฟรานซิสโก โฟร์ตีไนน์เนอร์ส แสดงจุดยืนต่อต้านความอยุติธรรมในสังคมที่เลือกปฏิบัติต่อคนผิวสี ด้วยการคุกเข่าระหว่างเพลงชาติสหรัฐบรรเลงในสนาม เป็นเหตุให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ออกมาวิจารณ์การกระทำครั้งนี้ ด้วยการเรียกร้องเจ้าของทีมในลีกเอ็นเอฟแอลไล่ผู้เล่นที่ไม่ยอมยืนเคารพเพลงชาติออกจากทีม แต่การเรียกร้องของผู้นำสหรัฐไม่เป็นผล เวลาต่อมา มีผู้เล่นเอ็นเอฟแอลนับร้อยรายร่วมประท้วงเชิงสัญลักษณ์ด้วยการปฏิเสธยืนเคารพเพลงชาติในสนามแข่งเช่นเดียวกับแคเปอร์นิค

 ความคิดเห็นของทรัมป์ คือ จุดเปลี่ยนที่ทำให้เกิดกระแสต่าง ๆ ในระดับคลื่นมรสุมที่สะเทือนวงการอเมริกันฟุตบอล จากการคุกเข่าของแคเปอร์นิค พัฒนาไปสู่การแสดงออกอื่น ๆ เกือบ 32 ทีมในลีกออกแถลงการณ์แสดงจุดยืน แต่ในแถลงการณ์แทบไม่มีความคิดเห็นจากเจ้าของทีม ซึ่งพอเข้าใจได้ว่าบรรดานักธุรกิจส่วนใหญ่กังวลว่าจะกระทบยอดขายตั๋วและเรตติ้งโทรทัศน์

 ส่วนตัวตั้งตัวตีของเรื่องนี้อย่าง โคลิน แคเปอร์นิค กลับต้องจ่ายราคาค่างวดอันแสนแพงจากการแสดงออกถึงจุดยืนของตนเอง ด้วยการกลายเป็นบุคคลว่างงานตั้งแต่ปี 2016 ทั้งที่ผู้เล่นคนอื่นต่างทำตามเขา แต่เจ้าตัวกลับโดนสังคมลงโทษคนเดียว

 ขณะที่วงการเอ็นบีเอก็แสดงออกเชิงสัญลักษณ์เช่นเดียวกัน นำโดยเลบรอน เจมส์, ไครี เออร์วิง, จาร์เร็ต แจ็ค, อลัน แอนเดอร์สัน, เดรอน วิลเลียมส์, เควิน การ์เน็ต และคนอื่นๆ ต่างออกมาสวมเสื้อยืด “I Can not Breathe” (ผมหายใจไม่ออก) ในช่วงอุ่นเครื่อง ปี 2014 เพื่อประท้วงกรณี เอริก การ์เนอร์ ชายผิวสีถูกตำรวจนครนิวยอร์กทำร้ายเสียชีวิต

 สแตน แวน กันดี เฮดโค้ชทีมดีทรอยต์ พิสตันส์ กล่าวว่า การประท้วงของนักกีฬาคือรูปแบบความรักชาติของอเมริกัน เช่นเดียวกับเกร็ก โปโปวิช เฮดโค้ชทีมซาน อันโตนิโอ สเปอร์ส ที่กล่าวว่า ผู้เล่นของเขามีองค์กรหนุนหลังเต็มที่ในการแสดงความคิดเห็นของตัวเอง แน่นอนว่า การแสดงออกถึงจุดยืนนี้ย่อมส่งผลต่อตัวเลขคนดู

 ผลสำรวจของ นีลเส็น บริษัทวิจัยการตลาดชื่อดัง ระบุว่า ในปีนี้ เอ็นบีเอมียอดผู้ชมทางทีวีเพิ่มขึ้น 32% แม้จะมีการประท้วงคล้ายกับเอ็นเอฟแอล ขณะที่ผู้ชมเอ็นเอฟแอลลดลงจาก 16.5 ล้านคนในปีที่แล้วเหลือ 15 ล้านคนในปีนี้  

 สำหรับอเมริกันชน คำว่า “กีฬา” ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เกมการแข่งขัน แต่ยังหมายรวมไปถึงสิทธิ เสรีภาพ ตามวิถีชีวิตแบบอเมริกันที่ไม่ยอมให้ใครมาเหยียบย่ำค่านิยมของตน เพียงเพื่อราคาตั๋ว ฮอทด็อก และเบียร์ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะเป็นตัวชี้วัดว่า ในอนาคต กีฬากระแสหลักของพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด