ทัวริสต์ต่างชาติโตแกร่งรายได้‘2.1ล้านล้าน’

ทัวริสต์ต่างชาติโตแกร่งรายได้‘2.1ล้านล้าน’

สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย ไตรมาส 4 ปี 60 ยืนยันความแข็งแกร่งตลาดต่างประเทศเติบโตสูง สวนทางตลาดในประเทศซบ เหตุกำลังซื้อไม่ฟื้น ทั้ง “บาทแข็ง” จูงใจเที่ยวนอกพุ่ง

อิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธาน สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวว่า  ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย พบว่า ไตรมาส4/2560 อยู่ที่ 101 ปรับดีขึ้นจากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ปกติ และยังคงดีต่อเนื่องถึงไตรมาส 1/2561 อยู่ที่ 102 ขณะที่ปิดท้ายไตรมาส 4 จำนวนนักท่องเที่ยว อยู่ที่ 9.29 ล้านคน ดังนั้นคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติตลอดปีนี้อยู่ที่ 35.39 ล้านคน ปีหน้าขยับขึ้น 6.1% เป็น 37.55 ล้านคน ส่วนรายได้จากต่างชาติเพิ่มจาก 1.84 ล้านล้านบาท เป็น 2.14 ล้านล้านบาทในปี 2561

ตลาดต่างชาติมีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสแรกมีจำนวนนักท่องเที่ยว 9.65 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ตลาดที่เดินทางเข้ามามากที่สุดยังคงเป็นเอเชียตะวันออกที่มี “จีน” รวมอยู่ด้วย มีจำนวน 3.83 ล้านคน เพิ่มขึ้น 6.18% รองลงมาคือตลาดยุโรปที่ยังอยู่ในช่วงไฮซีซันในการมาไทย 2.35 ล้านคน เติบโต 5.57% และอาเซียน 2.15 ล้านคน เติบโต 3.86%

เฉพาะตลาดจีน ปี 2560 คาดมาเยือนไทย 9.88 ล้านคน เพิ่มขึ้น 12.79% ปี 2561 สทท.คาดปริมาณแตะ 10.45 ล้านคน สร้างรายได้รวม 5.94 แสนล้านบาท มีค่าใช้จ่ายนักท่องเที่ยวต่อหัว 5.53 หมื่นล้านบาท จีนประเทศเดียวสูงกว่าตลาดอื่นทั้งภูมิภาค อย่าง อาเซียน เข้ามา 9.84 ล้านคน สร้างรายได้ 5.6 แสนล้านบาท ยุโรป 7.23 ล้านคน แต่ค่าใช้จ่ายต่อหัวของตลาดตะวันตกยังสูงสุดที่ 7.45 หมื่นล้านบาท

"สายการบินโลว์คอสท์เปิดเส้นทางใหม่นำตลาดเข้ามา โดยเฉพาะเอเชียที่แข็งแกร่งมากด้านเศรษฐกิจ ประเทศที่จีดีพีขยายตัวกว่า 6% อยู่ในกลุ่มนี้ทั้งสิ้น ยังมีตลาดอินเดียที่ภายใน 2 ปี ทำตัวเลข 2 ล้านคน จากปีนี้่ 1.4 ล้านคน หรือเติบโตไม่ต่ำกว่า 20% ต่อปี"

อย่างไรก็ตาม ต้องจับตา “ภาวะเศรษฐกิจในประเทศ” มีผลทำให้คนไม่มั่นใจในการจับจ่ายเต็มที่ เพราะการท่องเที่ยวถือเป็นปัจจัยที่ 5 ยังไม่ใช่ความจำเป็นพื้นฐาน จึงมักตัดสินใจเลือกเดินทางเป็นลำดับรองจากการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน โดยผลสำรวจระบุว่า ไตรมาส 4 นี้ วางแผนเดินทาง 41% เท่ากับไตรมาสแรกปีหน้า ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ถือว่ายังไม่กลับสู่ภาวะปกติ ขณะที่งบประมาณท่องเที่ยววางแผนการใช้จ่ายใกล้เคียงในระดับเดิม 

สำหรับช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ พบว่า แนวโน้มการเดินทางอาจลดลง “ช่วงปีใหม่” ตลาดคนไทยน่าจะคึกคักที่สุด มีสัดส่วนการเดินทาง 19% และดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการสูง 111 แต่เมื่อเข้าสู่ช่วงวาเลนไทน์ มีคนไทยวางแผนการเดินทางเพียง 2% ดัชนีเชื่อมั่นลดลงเหลือ 96 ก่อนปรับสูงเป็น 105 ในช่วงตรุษจีน ด้วยสัดส่วนคนที่วางแผนเดินทาง 8%

นอกจากนั้นเงินบาทแข็งค่าตั้งแต่เดือน ม.ค. ราว 6% จูงใจให้คนไทยไปต่างประเทศมากขึ้น เพราะจับจ่ายด้วยความคุ้มค่ามากขึ้น ผลสำรวจ สทท.ไตรมาส 4 ระบุว่ามีนักท่องเที่ยวไทย 16% เตรียมเดินทางไปต่างประเทศ เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 9% ส่วนไตรมาสแรกปีหน้า 20% เตรียมเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ ส่วนใหญ่เลือกไปช่วงหยุดเทศกาล อีกปัจจัยที่เข้ามาเสริม คือ การปลดธงแดงด้านมาตรฐานความปลอดภัยการบินขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) ทำให้สายการบินแข่งขยายเส้นทางที่เป็นที่นิยมของไทย และหลายประเทศใช้มาตรการด้านวีซ่า เช่น ไต้หวัน ขยายระยะเวลาเดินทางโดยไม่ต้องมีวีซ่าให้กับคนไทยอีก 1 ปี

“ตลาดในประเทศยังอยู่ในภาวะซึม นอกจากภาวะเศรษฐกิจบางพื้นเผชิญปัญหาน้ำท่วม แต่บรรยากาศฤดูหนาวจะช่วยส่งเสริมให้คนเดินทางเพิ่มในภาคเหนือและอีสาน ยิ่งมีมาตรการภาษีกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรองน่าจะส่งเสริมตลาดปีหน้าดีขึ้น”

อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ รองประธาน สทท. และอุปนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (ทีทีเอเอ) กล่าวว่า ปีนี้คาดว่านักท่องเที่ยวไทยไปต่างประเทศเติบโต 5% มีจำนวน 7 ล้านคน จาก 6 ล้านคนในปีก่อน เป็นผลจากแพ็คเกจทัวร์ลดราคาลงราว 10% เนื่องจากสายการบินแข่งราคาอย่างดุเดือดเพื่อชิงตลาด

อย่างไรก็ดี ประเทศที่มีตลาดเอาท์บาวด์เติบโตสูงอย่าง “จีน” มีนักท่องเที่ยวขาออก 120-130 ล้านคน แต่ตลาดในประเทศยังแข็งแกร่งเดินทางกว่า 4,000 ล้านคนครั้ง “ไต้หวัน” มีประชากร 23 ล้านคน แต่เดินทางในประเทศ 200 ล้านคนครั้ง เชื่อว่าตลาดไทยยังมีการเดินทางสูง แต่อาจปรับรูปแบบไปเที่ยวเองมากขึ้นผ่านทัวร์ลดลง ทำให้เห็นตัวเลขต่ำลง

ศิเวก สัจเดว ผู้ช่วยประธาน สทท.และผู้ก่อตั้ง บริษัท ไมนด์ทรี เปิดเผยถึงผลการวิเคราะห์ทัศนคตินักท่องเที่ยวต่างชาติจากแหล่งข้อมูลสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งวิเคราะห์บิ๊กดาต้าด้วยการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI)มาใช้กับการแสดงความคิดเห็นที่เป็นภาษาอังกฤษ พบผลสำรวจที่น่าสนใจจากกลุ่มนักท่องเที่ยวในไตรมาส 4 ว่า ส่วนใหญ่สนใจการท่องเที่ยวไทยเรื่อง “อาหาร” สอดคล้องกับสิ่งที่รัฐบาลกำลังส่งเสริม

จุดหมายที่กล่าวถึงมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพ พัทยา และภูเก็ต โดยการท่องเที่ยวในกรุงเทพ มีความสนใจด้านอาหาร โครงสร้างพื้นฐาน และโรงแรม ติดกลุ่มหัวข้อยอดนิยม ขณะที่ พัทยา และ ภูเก็ต สนใจเรื่องโรงแรม อาหาร และบริการ ตามลำดับ

ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะด้วยว่า พฤติกรรมนักท่องเที่ยวปัจจุบันผูกติดโซเชียลมีเดีย แต่จุดอ่อนในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง คือ ข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวและการปลุกกระแสความสนใจท่องเที่ยวในเมืองรองเหล่านี้ยังไม่เพียงพอ ผู้ประกอบการควรหันมาใช้โซเชียลมีเดียเข้าถึงกลุ่มลูกค้าจะทำให้ธุรกิจได้รับประโยชน์มากขึ้น